×

ไทย-ซาอุ ฟื้นสัมพันธ์สองชาติครั้งประวัติศาสตร์ เตรียมตั้งเอกอัครราชทูตประจำเมืองหลวง ผลักดันจ้างแรงงานไทย

โดย THE STANDARD TEAM
26.01.2022
  • LOADING...
Saudi Arabia

วานนี้ (25 มกราคม) เวลา 07.00 น. (ตามเวลาประเทศไทย) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ ซึ่งประกอบด้วย ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกเดินทางไปยังกรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ในโอกาสเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ

 

หลังจากนั้น เวลา 11.20 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงริยาด (เท่ากับเวลา 15.20 น. ตามเวลาประเทศไทย) นายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางถึงกรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และต่อมาในเวลา 13.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงริยาด (เท่ากับเวลา 17.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ พร้อมเข้าเฝ้าฯ เจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งซาอุดีอาระเบีย เพื่อหารือข้อราชการ ณ สำนักพระราชวังซาอุดีอาระเบีย (Royal Court) พระราชวังอัล ยามามะฮ์ (Al Yamamah Palace)

 

ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการหารือ สรุปสาระสำคัญดังนี้

 

นายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 25 มกราคม 2565 ตามคำเชิญของเจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี ซึ่งมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียทรงให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีอย่างสมเกียรติ โดยทั้งสองฝ่ายได้ยืนยันความตั้งใจร่วมกันในการสะสางประเด็นที่คั่งค้างทั้งหมดระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย และปรับความสัมพันธ์ระหว่างสองราชอาณาจักรให้เป็นปกติ รวมทั้งยังได้ย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันมิตรของสองราชอาณาจักร และการเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย

 

พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า ไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับความสัมพันธ์ฉันมิตรกับซาอุดีอาระเบีย และแสดงความเสียใจยิ่งต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2532-2533 ยืนยันว่า ไทยได้พยายามอย่างที่สุดแล้วในการสะสางกรณีต่างๆ และหากมีหลักฐานใหม่ก็พร้อมที่จะนำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยพิจารณา นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ยืนยันความมุ่งมั่นในการดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อดูแลความปลอดภัยคนในชาติของกันและกันในแต่ละประเทศ

 

ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาคและระหว่างประเทศต่างๆ และได้หารือถึงแนวทางในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีในทุกสาขา และยังเห็นพ้องที่จะเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์ และการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของแต่ละฝ่าย เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคี เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองราชอาณาจักร

 

ไทยและซาอุดีอาระเบียคำนึงถึงจิตวิญญาณของความร่วมมือและความตั้งใจร่วมกัน เพื่อฟื้นฟูมิตรภาพและความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างสองราชอาณาจักรและประชาชน ภายใต้การนำและพระราชวิสัยทัศน์อันเข้มแข็งของ สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด และมกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันให้ปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันให้เป็นปกติอย่างสมบูรณ์ ความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์นี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากความพยายามในหลายระดับของทั้งสองฝ่ายที่มีมาอย่างยาวนาน เพื่อฟื้นฟูความไว้เนื้อเชื่อใจและความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างกัน

 

นอกจากนี้ยังเห็นพ้องกับขั้นตอนสำคัญต่างๆ ที่จะดำเนินการเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคี ซึ่งรวมถึงการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำเมืองหลวงของทั้งสองประเทศในอนาคตอันใกล้ และการจัดตั้งกลไกการปรึกษาหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคี การติดต่อประสานงานอย่างเต็มที่ที่จะเริ่มต้นขึ้นในช่วงหลายเดือนหน้า เพื่อหารือความร่วมมือทวิภาคีในสาขายุทธศาสตร์ที่สำคัญ

 

ทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางในการส่งเสริมและเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองราชอาณาจักร โดยการแสวงหาโอกาสในด้านการลงทุนและอื่นๆ ในบริบทของวิสัยทัศน์ ค.ศ. 2030 ของซาอุดีอาระเบีย และวาระการพัฒนาแห่งชาติของไทย อย่างนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular – Green Economy) และเห็นพ้องที่จะแสวงหาความร่วมมือในสาขาใหม่ๆ อาทิ พลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อม การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนา และความมั่นคงทางไซเบอร์ นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชน ซึ่งจะเป็นรากฐานสำหรับความสัมพันธ์ที่กำลังเติบโตระหว่างทั้งสองราชอาณาจักร รวมทั้งการส่งเสริมการสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างศาสนาและพหุวัฒนธรรม

 

ไทยและซาอุดีอาระเบียเห็นพ้องที่จะสนับสนุนซึ่งกันและกันในองค์การและเวทีระหว่างประเทศ และเน้นย้ำความสำคัญของการยึดมั่นของทุกประเทศต่อกฎบัตรสหประชาชาติ บรรทัดฐานระหว่างประเทศ รวมถึงหลักการการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี การเคารพในบูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตย การไม่แทรกแซงกิจการภายใน และการระงับข้อขัดแย้งโดยสันติวิธี พร้อมยังยินดีกับบทบาทที่สร้างสรรค์ของกันและกันในแต่ละภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทที่สำคัญของไทยในอาเซียน และบทบาทนำของซาอุดีอาระเบียในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ความมั่นคง และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

 

พล.อ. ประยุทธ์ได้แสดงความยินดีกับซาอุดีอาระเบียสำหรับความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพและการจัดการประชุมผู้นำกลุ่ม G20 ซึ่งได้ส่งผลเชิงบวกในหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจ การพัฒนาสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข พลังงาน เป็นต้น ซึ่งมกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียทรงแสดงความมั่นใจว่าการเป็นเจ้าภาพกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) และการประชุมกรอบความร่วมมือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) ในปี 2565 ของไทยจะประสบความเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเติบโตที่ยั่งยืน สมดุล และมีส่วนร่วมของเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลกในยุคหลังโรคโควิด

 

ไทยยินดีกับข้อริเริ่มซาอุดีอาระเบียสีเขียว (Green Saudi Initiative) และตะวันออกกลางสีเขียว (Middle East Green Initiative) ที่ริเริ่มโดยมกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย รวมถึงชื่นชมบทบาทนำของซาอุดีอาระเบียในประเด็นระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบเชิงบวกต่อภูมิภาคและประชาชน มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียทรงชื่นชมนโยบาย BCG ของไทย ซึ่งมุ่งส่งเสริมการใช้ทรัพยากรประสิทธิภาพ แปลงขยะให้กลายเป็นความมั่งคั่ง ฟื้นคืนความหลากหลายทางชีวภาพ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

ในช่วงท้าย พล.อ. ประยุทธ์ แสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด และมกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และได้ถวายพระพรชัยมงคลแด่ทั้งสองพระองค์ให้ทรงมีพระพลานามัยที่สมบูรณ์ และขออวยพรให้ประชาชนชาวซาอุดีอาระเบียมีความมั่งคั่งและความเจริญรุ่งเรือง ด้านมกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียได้ถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงมีพระพลานามัยที่สมบูรณ์และทรงพระเจริญ และทรงอำนวยพรให้นายกรัฐมนตรีมีสุขภาพดี ประสบความสุขสวัสดี และทรงอำนวยพรให้ประชาชนชาวไทยมีความมั่งคั่งและความเจริญรุ่งเรือง

 

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือข้อราชการ เจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งซาอุดีอาระเบีย พระราชทานเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี ณ พระราชวังอัล ยามามะฮ์

 

ขณะเดียวกัน สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้พบหารือทวิภาคีกับ อัลเหม็ด สุลัยมาน อัลราจีฮ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาทางสังคมซาอุดีอาระเบีย ในช่วงการเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ณ เรือนรับรองแขกต่างประเทศ พระราชวังคิงซะอูด 

 

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสรุปสาระสำคัญการหารือดังนี้

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ซาอุดีอาระเบียกล่าวต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานสู่ซาอุดีอาระเบีย และยินดีที่ได้มีโอกาสหารือกระชับความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างกัน ทั้งนี้ ฝ่ายซาอุดีอาระเบียกล่าวว่า มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียได้ทรงมีบัญชาให้กระทรวงฯ ดำเนินการจัดหาแรงงานดีมีฝีมือ โดยตั้งเป้าให้ได้ 8 ล้านคน ซึ่งไทยสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ และซาอุดีอาระเบียประสงค์ผลักดันความร่วมมือด้านแรงงานให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยเฉพาะแรงงานภาคบริการ โรงแรม สุขภาพ และอุตสาหกรรมก่อสร้างในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ 

 

สุชาติกล่าวขอบคุณสำหรับการเข้าพบหารือในวันนี้ โดยการเยือนฯ ครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้พี่น้องชาวไทยที่ประสงค์กลับเข้ามาทำงานในซาอุดีอาระเบียอีกครั้ง ทั้งนี้ ไทยมีแรงงานศักยภาพที่มีฝีมือสอดคล้องกับความต้องการของซาอุดีอาระเบีย และกระทรวงแรงงานยังมีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่สามารถฝึกอาชีพและประสบการณ์ให้ตรงกับแรงงานในสาขาที่ซาอุดีอาระเบียต้องการ รวมทั้งมีบริษัทจัดหางานที่มีความน่าเชื่อถือ จดทะเบียนกับกระทรวงแรงงานภายใต้การควบคุมของกระทรวงแรงงาน 

 

ฝ่ายซาอุดีอาระเบียยังกล่าวถึงมาตรการดูแลคุณภาพชีวิตและสวัสดิการของแรงงานต่างชาติในซาอุดีอาระเบีย โดยซาอุดีอาระเบียมี E-Contract Program ซึ่งเป็นการทำสัญญาจ้างอิเล็กทรอนิกส์ มุ่งรักษาสิทธิของลูกจ้าง และลดความขัดแย้งระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง รวมถึงมีข้อริเริ่ม Labor Mobility Initiative ให้แรงงานเคลื่อนย้ายได้อิสระ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น สร้างประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข็งขันในตลาดแรงงาน

 

ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องให้เร่งรัดความร่วมมือในอนาคต หากเร่งรัดความร่วมมือได้โดยเร็วจะสร้างผลประโยชน์อย่างมากต่อทั้งสองประเทศ ซึ่งโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาของซาอุดีอาระเบียยังคงต้องการการสนับสนุนจากต่างชาติ ทั้งในด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวและด้านแรงงานจำนวนมาก เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการและแรงงานฝีมือและกึ่งฝีมือของไทยได้เข้ามามีส่วนร่วม

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X