×

ภาคธุรกิจระบุ หลักนิติธรรมที่ดีและตรงโจทย์ประเทศ หากทำได้จะช่วยปลดล็อกศักยภาพเศรษฐกิจ ลดต้นทุนประเทศ 1.3 แสนล้านบาท

07.02.2025
  • LOADING...
งานสัมมนา Thailand Rule of Law Fair แสดงวิสัยทัศน์ผู้นำด้านหลักนิติธรรมไทย

จากงานสัมมนา Thailand Rule of Law Fair บนเวที ‘เปิดวิสัยทัศน์ผู้นำ ‘ลงทุน’ กับนิติธรรม หลักประกันอนาคตที่ยั่งยืน’ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย มีตัวแทนจากทั้งหน่วยงานกำกับภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐบาล ร่วมแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับความสำคัญของหลักนิติธรรมที่สำคัญต่อเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศไทย 

 

ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ประธานกรรมการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สัญญาณที่ดีวันนี้คือ การที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะนำประเทศสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว หลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การเป็นสมาชิก OECD โดยมีการฟื้นฟูหลักนิติธรรมเป็นรากฐาน 

 

วันนี้สามารถเห็นปัญหาได้อย่างชัดเจน และถึงเวลาแล้วที่จะต้องเร่งแก้ปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจและสังคมขึ้นมาสนับสนุน ระบบนิเวศนี้จำเป็นต้องประกอบด้วยหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล และการติดตามตรวจสอบความรับผิดชอบ หรือที่เรียกว่า Accountability จึงจะนำไปสู่ผลสำเร็จในการแก้ปัญหา

 

นอกจากนี้ ยังสามารถกล่าวได้ว่ารัฐที่ล้มเหลวเกิดจากการขาดหลักนิติธรรม ดังนั้น ในการบูรณะประเทศให้กลับมาก็สามารถเริ่มต้นจากการปรับโครงสร้างหลักนิติธรรมก่อน ยิ่งไปกว่านั้น สัญญาณดีที่เกิดขึ้นคือ ปัจจุบันเกิด SDG ขึ้นและทั่วโลกยึดเป็นหมุดหมาย ทำให้เรื่องหลักนิติธรรมในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าวัดได้ สามารถตรวจสอบหรือคิดบัญชีได้ 

 

“และถ้าทำได้ ก็จะทำให้สังคมและเศรษฐกิจไทยเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ลดกฎหมายซ้ำซ้อน กดต้นทุนประเทศลง 1.3 แสนล้านบาท

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษบนเวทีเดียวกันว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นเร่งด่วนในการปฏิรูปฟื้นฟูหลักนิติธรรมด้วยการลดกฎหมายที่ล้าสมัยโดยเร่งด่วน หากต้องการจะไปแข่งขันได้บนเวทีโลก เพราะไทยมีกฎหมายที่ซ้ำซ้อนเป็นจำนวนมาก โดยมีกฎหมายหลัก 971 ฉบับ และกฎหมายรองกว่า 1 แสนฉบับ 

 

 

จากจำนวนกฎหมายดังกล่าวทำให้เกิดต้นทุนแฝงจำนวนมากในการทำธุรกิจที่ต้องขออนุมัติหรือขออนุญาตตรายาง จนเป็นช่องทางให้เกิดการคอร์รัปชันเรื้อรัง 

 

ทั้งนี้ จากการศึกษาของ TDRI พบว่า หากไทยปรับลดกฎหมายที่ไม่จำเป็น จะทำให้ไทยลดต้นทุนได้ 1.3 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 0.8% ของ GDP 

 

เกรียงไกรกล่าวทิ้งท้ายว่า ในบรรดาความท้าทายที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน สิ่งที่ทำได้ง่าย เร็ว ต้นทุนต่ำ และมีโอกาสสำเร็จได้โดยง่าย คือการทำ Regulatory Guillotine และปรับปรุงกฎหมายควบคู่กันไป 

 

“ที่เราจะทำคือใช้ Omnibus Law จะเป็นการแก้ไขที่เร็ว เป็นทางลัดที่คุ้มค่า” 

 

เป็นสมาชิก OECD ดัน GDP ไทยเพิ่ม 1.6% 

 

ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวถึงความพร้อมของประเทศไทยที่ต้องก้าวตามเทรนด์โลกในด้านต่างๆ ซึ่งสัมพันธ์กับหลักนิติธรรม และยังเป็นวิกฤตของประเทศ ทั้งเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจนอกระบบเทคโนโลยีสีเขียว รวมทั้งแนวทางพัฒนากรอบกฎหมายให้แข็งแกร่งและน่าเชื่อถือ เพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นสากลอย่าง OECD 

 

เศรษฐกิจนอกระบบของไทยมีขนาดใหญ่ คิดเป็น 48% ของ GDP เชื่อมโยงไปสู่การพึ่งพิงแรงงานนอกระบบที่สูงถึง 51% นำไปสู่การจัดเก็บภาษีลดลง, มีต้นทุนจ่ายสวัสดิการเพิ่มขึ้น และในส่วนภาคครัวเรือนพบว่า 34% ของครัวเรือนไทยมีหนี้นอกระบบ และหนี้นอกระบบทั้งหมดของไทยคิดเป็น 104% ของ GDP 

 

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงศักยภาพการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำ และทำให้ไม่สามารถรับมือกับความท้าทายระดับโลกได้ เช่น ปัญหา Climate Change

 

 

อีกหนึ่งความท้าทายของไทยคือการลงทุนเพื่อโลกสีเขียว โดยผยงชวนตั้งคำถามว่า ประเทศไทยจะดึงเงินลงทุนเพื่อโลกสีเขียวได้หรือไม่ อย่างไร 

 

เพราะจากการศึกษาของ World Bank, IMF และการวิเคราะห์โดย Krungthai COMPASS พบว่า ประเทศที่มีเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่มีแนวโน้มเผชิญ Climate Risk สูงกว่า 

 

และขณะนี้ทั่วโลกกำลังดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ภายในปี 2025 ซึ่งจะต้องมีการลงทุน 9.2 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี 2030 จะต้องลงทุนสีเขียวรวมราว 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ 

 

ส่วนประเทศไทย ภายในปี 2030 จะต้องลงทุนสีเขียวรวมราว 1.84 แสนล้านดอลลาร์ โดยในปี 2023 ไทยมีการลงทุนจากภาคเอกชนไปแล้ว 400 ล้านดอลลาร์ 

 

ผยงกล่าวว่า การที่ประเทศไทย มี Rule of Law ที่ตอบโจทย์ จะนำไปสู่ประชากรมีทักษะ อายุแรงงานยาวขึ้น และนำไปสู่ความสงบสุขของสังคม และการลงทุน Rule of Law ไม่ใช่เรื่องบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น แต่ทุกฝ่ายต้องหาทางออกร่วมกัน และตอบโจทย์ประเทศที่แท้จริง

 

และหากประเทศไทยสามารถเข้าไปเป็นสมาชิก OECD จะทำให้ GDP ไทยเพิ่มขึ้น 1.6% หรือ 2.7 แสนล้านบาท

 

ตลาดทุนไทย 10 ปี ค่าปรับ 3.5 หมื่นล้านบาท ต้นทุนแฝงของประเทศ

 

ในมุมของตลาดทุน ศ.พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลงทุนกับหลักนิติธรรมเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกัน สำหรับตลาดทุนไทย สิ่งที่ต้องเร่งทำคือการให้ความรู้และถอดบทเรียนจากการทุจริตที่เคยเกิดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีก 

 

ผลกระทบอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการทุจริตคือต้นทุนของประเทศที่เพิ่มขึ้น อย่างกรณีการกระทำผิดในตลาดทุนไทยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2557-2567 จะเห็นว่ามีการกระทำความผิด 105 กรณี คิดเป็นค่าปรับรวม 35,000 ล้านบาท 

 

โดยความผิดที่มีค่าปรับมากที่สุดคือการตกแต่งบัญชี 9 กรณี ค่าปรับรวม 30,000 ล้านบาท, การฉ้อโกง 28 กรณี ค่าปรับรวม 2,000 ล้านบาท, การปั่นหุ้น 46 กรณี ค่าปรับรวม 2,000 ล้านบาท และใช้ข้อมูลภายในซื้อขาย 22 กรณี ค่าปรับรวม 250 ล้านบาท 

 

“จริงๆ แล้วค่าปรับเหล่านี้ดูเหมือนว่าจะน้อยเกินไปด้วย สำหรับช่วงเวลา 10 ปี” ศ.พิเศษ กิติพงศ์ กล่าว

 

ด้าน ศ.พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ประธานกรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า หลักนิติธรรมสำคัญมากในการสร้างเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของตลาดทุน รวมทั้งการเอื้อต่อการส่งเสริมการพัฒนาสินทรัพย์และตลาดใหม่ๆ 

 

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือการมีกฎหมายที่ชัดเจน และบังคับใช้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล 

 

คอร์รัปชันบดบังการเติบโตเศรษฐกิจไทย

 

ขณะที่ มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ไทยเผชิญกับปัญหาคอร์รัปชันมาต่อเนื่อง แต่ไม่เคยมีการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนเพียงพอ ที่ผ่านมารัฐบาลมักมองแค่ปัญหาเฉพาะหน้า 

 

เพื่อหยุดปัญหาคอร์รัปชัน สิ่งสำคัญคือการสร้างกระแสสังคมด้วยข้อมูลและความรู้ และการสร้างความโปร่งใสในทุกระดับ 

 

หนึ่งในปัญหาที่เห็นได้ชัดในอดีตที่ผ่านมาคือ ความไม่โปร่งใสตั้งแต่ระดับการใช้งบประมาณขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โดยเฉพาะเรื่องการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ หรือแม้แต่การส่งข้อมูลเข้าระบบของภาครัฐ ซึ่ง อบต. ไม่ต้องบันทึกข้อมูลในระบบของกรมบัญชีกลาง แต่สามารถบันทึกข้อมูลในระบบของกระทรวงมหาดไทยแทน 

 

นอกจากนี้คือการใช้งบประมาณที่อาจจะไม่ถูกจุด ที่ผ่านมาจะเห็นว่าการใช้งบประมาณเพื่อการศึกษาเฉลี่ยที่เพียงปีละ 1.7 ล้านบาท ขณะที่งบประมาณหลายส่วนไม่ได้ส่งเสริมเศรษฐกิจมากนัก เช่น การซ่อมแซมถนนในแต่ละปี

 

ทางด้าน วิเชียร พงศธร นักลงทุนเพื่อสังคม และประธานกรรมการกลุ่มบริษัทพรีเมียร์ กล่าวถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เป็นรากฐานปัญหาหลักนิติธรรมของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีแนวทางแก้ปัญหาแบบใหม่อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการอาศัยความร่วมมือของภาคประชาชน และสร้างกลไกที่ช่วยเสริมพลังของภาคประชาชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป 

 

อนาคตที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ หากหลักนิติธรรมไม่เข้มแข็ง 

 

วิเชียรกล่าวว่า หลักนิติธรรมเป็นหน้าที่ของเราทุกคน และจากประสบการณ์ของเขา ความร่วมมือเป็นสิ่งที่เลือกใช้มาโดยตลอด 30 ปี การลงทุนเพื่อสังคมให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าลงทุนเพื่อธุรกิจ 

 

โดยหลักการสำคัญก็คือ เราจะชวนและสร้างโอกาสให้คนที่หลากหลายมาช่วยกันได้อย่างไร ซึ่งเมื่อทำได้จริง ผลที่ตามมาจะคุ้มค่ามาก และเป็นปัจจัยที่นำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising