วันนี้ (1 พฤษภาคม) อนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีประชากรมีความสุขมากที่สุดเป็นอันดับ 7 ของโลก จากรายงานดัชนีความสุขโลกประจำปี 2025 (Global Happiness Index 2025) ซึ่งจัดทำโดยอิปซอสส์ (Ipsos) บริษัทวิจัยตลาดระดับโลก ผลการสำรวจนี้มาจากการเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม 2567 ถึง 3 มกราคม 2568 จากกลุ่มตัวอย่างประชากรอายุต่ำกว่า 75 ปี จำนวน 23,765 คน ใน 30 ประเทศทั่วโลก
ผลสำรวจระบุว่า ประชากรไทยส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 61 รู้สึก ‘ค่อนข้างมีความสุข’ ตามมาด้วยร้อยละ 18 ที่ระบุว่า ‘มีความสุขมาก’ ขณะที่มีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่ตอบว่า ‘ไม่มีความสุขเลย’ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตและสภาพจิตใจของคนไทยโดยรวมที่ยังคงอยู่ในระดับที่ดี เมื่อพิจารณาเฉพาะในกลุ่ม 7 ประเทศของเอเชียที่ทำการสำรวจ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 3 เป็นรองเพียงอินเดียและอินโดนีเซีย และมีระดับความสุขใกล้เคียงกับมาเลเซียซึ่งอยู่ในอันดับเดียวกัน ตามมาด้วยสิงคโปร์และญี่ปุ่นในอันดับที่ 4 และเกาหลีใต้ในอันดับที่ 5
การสำรวจยังพบว่า ปัจจัยสำคัญ 3 ประการที่ส่งเสริมความสุขของประชาชน ได้แก่ การได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวและลูกๆ การได้รับการยอมรับและความรักจากผู้อื่น และความสามารถในการควบคุมชีวิตของตนเองได้ ในทางกลับกัน ปัจจัยที่ส่งผลให้ระดับความสุขลดลงคือ ปัญหาด้านการเงิน ปัญหาสุขภาพจิต และปัญหาด้านสุขภาพโดยรวม นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มผู้มีอายุ 70 ปีขึ้นไปเป็นกลุ่มที่มีระดับความสุขมากที่สุด และในกลุ่ม Gen Z เพศชายมีระดับความสุขสูงกว่าเพศหญิง
อนุกูลกล่าวเน้นย้ำว่า รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพชีวิตประชาชนในทุกมิติ และมุ่งมั่นเดินหน้ายกระดับบริการด้านสาธารณสุข การสร้างความมั่นคงทางรายได้ และการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว เพื่อให้คนไทยมีความสุขในการดำรงชีวิต พร้อมทั้งผลักดันนโยบายต่างๆ เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประชากรวัยทำงานและผู้สูงอายุต่อไป