ข้อมูลจากการสำรวจและรวบรวมโดย Institute of Criminal Policy Research แห่งสหราชอาณาจักร (ICPR) ในปี 2016 ระบุว่า ประเทศไทยมีจำนวนนักโทษมากเป็นอันดับที่ 3 ของเอเชีย โดย จีน ถือเป็นประเทศที่ครองแชมป์อันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียที่มีจำนวนนักโทษมากที่สุด มากกว่าอินเดียซึ่งอยู่ในลำดับที่ 2 ถึง 4 เท่า โดยมีนักโทษประมาณ 1.6 ล้านคน และอาจสูงกว่านี้เนื่องจากยังมีรายละเอียดอื่นของผู้กระทำความผิดที่ไม่ถูกเปิดเผย
ขณะที่ อินเดีย มีจำนวนนักโทษมากเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย ซึ่งเรือนจำอินเดียมีสภาพที่แออัด และนักโทษประมาณ 70% ยังไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี หรืออาจอยู่ระหว่างรอคำพิพากษา
ไทยมีจำนวนนักโทษเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย สัดส่วนอยู่ที่ 461 คน ต่อประชากร 1 แสนคน และถือว่าสูงสุดเป็นอันดับ 10 ของโลก ถือเป็นอันดับที่ 1 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ขณะที่อินโดนีเซีย มีจำนวนนักโทษเป็นอันดับที่ 4 สัดส่วนอยู่ที่ 64 คน ต่อประชากร 1 แสนคน เวียดนามและฟิลิปปินส์ อยู่ในลำดับที่ 5 และ 6
จากรายงานพบว่า 3 ประเทศ คือ ลาว ภูฏาน และบรูไน มีจำนวนนักโทษน้อยที่สุดในเอเชีย แต่ละประเทศมีไม่ถึง 5,000 คน
ข้อมูลจากการสำรวจยังพบอีกว่า มีประชากรกว่า 10.35 ล้านคนทั่วโลก อยู่ระหว่างการรับโทษจำคุก ทั้งก่อนพิจารณาดคี ระหว่างพิจารณาคดี รวมทั้งที่ถูกศาลพิพากษาให้รับโทษแล้ว โดยสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีจำนวนนักโทษมากที่สุดในโลก ประมาณ 2.2 ล้านคน
ขณะที่ภาพรวมของจำนวนนักโทษทั่วโลกเพิ่มขึ้นราว 20% ซึ่งสูงกว่าสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกในช่วงเดียวกัน จากที่คาดการณ์ไว้ที่ 18% เพียงเล็กน้อย