วันนี้ (30 ตุลาคม) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 36 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) ที่มี ภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เป็นประธานการประชุม และร่วมกันลงมติร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. ทั้ง 3 ฉบับ ประกอบด้วย
- ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
- ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. ที่ มนพร เจริญศรี สส. นครพนม พรรคเพื่อไทย กับคณะ เป็นผู้เสนอ
- ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. ที่ สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส. พรรคประชาชน กับคณะ เป็นผู้เสนอ หลังจากได้ร่วมกันอภิปรายตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว
ทั้งนี้ ที่ประชุมจำนวน 405 ต่อ 0 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง วาระ 1 ทั้ง 3 ฉบับ พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญทั้งสิ้น 31 คน และที่ประชุมยังลงมติให้ใช้ร่างของคณะรัฐมนตรีเป็นร่างหลักในการพิจารณา โดยนัดประชุมครั้งแรกในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้
คณะรัฐมนตรีจำนวน 7 คน
– สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์
– พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์
– อธิภู จิตรานุเคราะห์
– วิลลี่ อมราภรณ์
– วีริศ อัมระปาล
– สรวุฒิ เนื่องจำนงค์
– สมบูรณ์ ม่วงกล่ำ
พรรคประชาชนจำนวน 7 คน
– สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ
– ชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง
– ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์
– สกล สุนทรวาณิชย์กิจ
– สุเมธ องกิตติกุล
– เกษราภรณ์ กังสมุทร
– วีระ ธีระภัทรานนท์
พรรคเพื่อไทยจำนวน 7 คน
– โกศล ปัทมะ
– พชร จันทรรวงทอง
– พนม โพธิ์แก้ว
– เชิงชาย ชาลีรินทร์
– ธนันท์วรุตม์ ลิ้มทรงพรต
– วสวรรธน์ พวงพรศรี
– ดำรง ประทีป ณ ถลาง
พรรคภูมิใจไทยจำนวน 3 คน
– นันทนา สงฆ์ประชา
– ยศวัฒน์ มาไพศาลสิน
– คารม พลพรกลาง
พรรคพลังประชารัฐจำนวน 2 คน
– พัฒนา พร้อมพัฒน์
– สิริพร อินทรธรรม
พรรครวมไทยสร้างชาติจำนวน 2 คน
– อนุชา บูรพชัยศรี
– เจือ ราชสีห์
พรรคประชาธิปัตย์จำนวน 1 คน
– อลงกรณ์ พลบุตร
พรรคชาติไทยพัฒนาจำนวน 1 คน
– อนุรักษ์ จุรีมาศ
พรรคประชาชาติจำนวน 1 คน
– สุไลมาน บือแนปีแน
สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.บ.การขนส่งทางราง นั้น จะกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ซึ่งมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการขนส่งทางราง โครงการของหน่วยงานของรัฐในการประกอบกิจการขนส่งทางราง และแนวทางในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นที่ได้รับประโยชน์จากการประกอบกิจการขนส่งทางราง รวมถึงการกำหนดให้มีการจัดทำโครงการขนส่งทางราง
นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของการขนส่งทางราง ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์การสอบสวนอุบัติเหตุ อุบัติเหตุร้ายแรง และอุบัติการณ์
กำหนดให้มีให้ผู้ตรวจการขนส่งทางราง ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบการประกอบกิจการขนส่งทางราง กำหนดให้รถขนส่งทางรางที่จะใช้ในการประกอบกิจการขนส่งทางรางต้องจดทะเบียนต่อนายทะเบียน และกำหนดประเภทรถขนส่งทางรางที่ไม่ต้องจดทะเบียน ได้แก่ พระราชพาหนะและรถขนส่งทางทหาร กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะผู้ทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และเด็ก