เป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีประกาศก่อนหน้านี้คือการจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดส ฉีดให้ประชาชน 50 ล้านคน หรือ 70% ของประชากรภายในปีนี้ ช่วงเริ่มต้นถูกตั้งคำถามว่าจะสามารถหาวัคซีนอีกกว่า 37 ล้านโดสเพิ่มเติมจากเดิมที่มีคือ Sinovac และ AstraZeneca อยู่ 60 กว่าล้านโดสได้ทันในสิ้นปีนี้หรือไม่ แต่ล่าสุดต้องเปลี่ยนคำถามใหม่ว่า วัคซีน 60 กว่าล้านโดสที่เคยมั่นใจว่ามีอยู่ในมือ จะสามารถส่งมอบได้ตามแผนทันเวลาหรือไม่
ยิ่งใกล้วันดีเดย์ที่รัฐบาลประกาศปูพรมฉีดวัคซีนทั่วประเทศ 7 มิถุนายน สัญญาณความไม่พร้อมของวัคซีนกลับเริ่มเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่าวัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตในประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจนว่าจะส่งมอบได้เมื่อไร (26 พฤษภาคม) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ไม่ยืนยันว่าวันดีเดย์ฉีดวัคซีน 7 มิถุนายนนี้ ประชาชนจะได้ฉีดวัคซีน AstraZeneca หรือไม่ แต่ได้ฉีดวัคซีนแน่นอน พร้อมบอกว่าอย่าเน้นยี่ห้อและเลี่ยงการชี้แจงว่าวัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง โดยระบุว่าคู่สัญญาคือบริษัท AstraZeneca ไม่ใช่สยามไบโอไซเอนซ์ สอดรับกับการที่ ศบค. ชะลอลงทะเบียนหมอพร้อม โดยระบุว่าเป็นการปรับแผนจัดสรรใหม่จากการจัดสรรวัคซีนตามโควตาการลงทะเบียนในแต่ละจังหวัด เปลี่ยนเป็นใช้เกณฑ์การติดเชื้อโควิด-19 ในแต่ละพื้นที่ ยิ่งเป็นการสะท้อนว่าในช่วงเวลานี้รัฐบาลมีวัคซีนในมือไม่เพียงพอหรือไม่
หากถามว่าการที่วัคซีนดีเลย์ไม่มาตามนัดจะส่งผลเสียหายแค่ไหน อย่างมากก็แค่ลงทะเบียนไว้แล้วรอไปอีก 1-2 เดือน แต่หากมองในภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจผลของการดีเลย์มีมูลค่าแตกต่างกันอย่างมหาศาล
ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยทำข้อมูลฉากทัศน์ หรือ Scenario การฉีดวัคซีนโควิด-19ในประเทศไทยไว้ 3 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 ตามที่รัฐประกาศไว้ว่าปี 2564 นี้ประชากรไทยมีการฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส จึงคาดการณ์ว่าจะเกิด Herd Immunity (ฉีดวัคซีนราว 70% ของประชากรทั้งหมด) ในไตรมาส 1/65 และสามารถเปิดเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ไตรมาส 3/65 ก็คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว (GDP) ที่ 2% ในปี 2564 และโต 4.7% ในปี 2565
แต่หากไทยไม่สามารถกระจายฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมายของรัฐ สามารถมองได้ 2 กรณีคือ
กรณีที่ 2 หากมีการฉีดวัคซีนในปี 2564 ราว 64.6 ล้านโดส คาดว่า GDP ปี 2564 จะอยู่ที่ 1.5% และปี 2565 จะอยู่ที่ 2.8% ซึ่งคาดว่าจะเกิด Herd Imminity ในช่วงไตรมาส 3/65 และสามารถเปิดเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ไตรมาส 4/65 โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบ 4.6 แสนล้านบาท
และกรณีที่ 3 หากมีการฉีดวัคซีนในปี 2564 ต่ำกว่า 64.6 ล้านโดส คาดว่า GDP ปี 2564 จะอยู่ที่ 1.0% และปี 2565 จะอยู่ที่ 1.1% ซึ่งคาดว่าจะเกิด Herd Imminity ในช่วงไตรมาส 4/65 โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบ 8.9 แสนล้านบาท
ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า