วันนี้ (22 ธันวาคม) พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand เกี่ยวกับการทบทวนมาตรการในช่วงปีใหม่หรือไม่ หลังสถานการณ์โควิดสายพันธุ์โอไมครอนในไทยเริ่มรุนแรงขึ้น โดยระบุว่า กิจกรรมงานปีใหม่หรือเคานต์ดาวน์ยังดำเนินต่อไปได้ แต่ต้องจัดภายใต้มาตรการป้องกันโควิดที่สาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด รวมถึงผู้เข้าร่วมงานต้องได้รับการตรวจ ATK ทุกคน
ส่วนกรณีที่เกิดการตั้งคำถามในบางจังหวัดที่เริ่มจัดงานฉลองปีใหม่และมีภาพของจำนวนคนที่เยอะมาก รวมถึงบางส่วนพบว่าไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในงาน ซึ่งขัดต่อหลักมาตรการที่สาธารณสุขวางไว้ พิพัฒน์บอกว่า เรื่องนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดต้องจริงจังและเข้มงวดต่อสถานการณ์นี้ อาจต้องมีการวางกำลังเจ้าหน้าที่คอยควบคุมบริเวณงาน ให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย มีระยะห่าง และไม่ให้เกิดกรณีแบบที่จังหวัดสุรินทร์ โดยส่วนตัวมั่นใจว่าผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดจะคุมสถานการณ์อยู่
สำหรับกรณีการปิดประเทศชั่วคราว หรือยกระบบการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศก่อนเปิดพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 4 มกราคม 2565 มีผลกระทบต่อการเที่ยวอย่างไรนั้น
พิพัฒน์ระบุว่า แม้จะปิดระบบ Thailand Pass ช่วงเที่ยงคืนที่ผ่านมา แต่ในภาพรวมก่อนปิดระบบ มีนักท่องเที่ยวที่ลงทะเบียนไว้ก่อนหน้ามากกว่า 200,000 คน นั่นหมายความว่าชาวต่างชาติที่ลงทะเบียนทันจะยังสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ ส่วนกรณีปิดประเทศชั่วคราวแล้วกระทบหรือไม่ ตนมองว่ากระทบแน่นอน แต่จะมีผลมาก-น้อยเพียงใด ต้องเริ่มประเมินผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
“แต่การเข้าประเทศไทยผ่าน Phuket Sandbox เราไม่ได้ห้าม เรายังให้เข้าผ่านระบบดังกล่าวได้ปกติ และเดิมทีระบบ Sandbox มีอยู่ 28 จังหวัด เราปิดระบบไป 27 จังหวัดเหลือเพียงภูเก็ตจังหวัดเดียวที่ยังเปิดอยู่” พิพัฒน์กล่าว
นอกจากนี้พิพัฒน์ยังได้ชี้แจงถึงกรณีที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากข้อมูลที่ถูกนำเสนอไปก่อนหน้านี้ว่า จากคนที่ลงทะเบียนไว้ 200,000 คน เข้าสู่ประเทศแล้ว 110,000 คน และรอเข้าประเทศอีก 90,000 คน นั้นไม่ใช่ความจริง
ในความเป็นจริงคือ 110,000 คนยังไม่ได้เข้าประเทศ เพียงแต่เป็นกลุ่มคนที่ลงทะเบียนเข้าไทยสำเร็จแล้ว ส่วนอีก 90,000 คนคือกลุ่มที่ลงทะเบียนไว้ในระบบ เหลือเพียงกระทรวงการต่างประเทศตอบอนุมัติกลับเท่านั้น และถ้ามีการตอบรับครบเมื่อไร จำนวนนักท่องเที่ยวลงทะเบียนในภาพรวม 200,000 คนถึงจะทยอยเข้ามาได้ ซึ่งคาดว่านักท่องเที่ยวทั้งหมดจะเดินทางเข้าไทยมาไม่เกินวันที่ 15 มกราคม 2565
“นักท่องเที่ยวทั้ง 200,000 คนยังเดินทางเข้าไทยด้วยระบบ Test & Go ได้ตามปกติ เพราะเราถือว่าเขาได้ใช้สิทธิ์อย่างถูกต้อง และทำการจองห้องพัก ไฟลต์บินเข้าไทยเป็นที่เรียบร้อย ตรงนี้เราคงไประงับไม่ได้ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาและความเสียหายกับนักท่องเที่ยวและประเทศไทย” พิพัฒน์ระบุ
พิพัฒน์กล่าวต่อไปว่า ภาครัฐได้ปรับมาตรการและเงื่อนไขหลังจากอนุมัตินักท่องเที่ยว 200,000 คนเข้าประเทศ โดยนักท่องเที่ยวทั้งหมดต้องตรวจหาเชื้อโควิดด้วยระบบ RT-PCR ทันทีเมื่อเดินทางถึงไทย พร้อมโหลดแอปพลิเคชัน ‘หมอชนะ’ เพื่อติดตามตัวเรียกกลับมา ตรวจ RT-PCR ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ในห้วงวันที่ 6-7 นับตั้งแต่วันแรกที่ถึงไทย และต้องแจ้งผลตรวจในระบบซึ่งจะขึ้นตรงไปสู่ระบบของกระทรวงสาธารณสุข
ส่วนกรณีที่ประชาชนมีความกังวลว่าการตรวจครั้งแรกด้วย RT-PCR ไม่เจอเชื้อ แต่เมื่อออกไปใช้ชีวิตข้างนอก และเจอเชื้อช่วง 2-3 วันหลังจากนั้น พิพัฒน์ย้ำว่า ในกรณีนี้ถ้ามีการควบคุมให้ทุกคนโหลดแอปหมอชนะ เราจะสามารถตามตัวนักท่องเที่ยวกลับมาได้ และตามรอยการเดินทางของนักท่องเที่ยวรายนั้นๆ ว่าในช่วงที่ผ่านมาเดินทางไปไหนบ้าง ใครคือกลุ่มเสี่ยงจากกรณีที่เกิดขึ้นนี้
“ผมคิดว่าเราต้องทำให้ได้ดีที่สุด แต่ถ้าเราเป็นฝ่ายทำผิดเงื่อนไขที่ตกลงไว้ตั้งแต่ต้น เราอาจจะถูกโจมตีจากนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศ ผมคิดว่าดีที่สุดคือนักท่องเที่ยวเข้ามา คนไทยเราที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวก็อย่าไปสัมผัส ปล่อยให้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องทำหน้าที่เขาไป” พิพัฒน์กล่าว
พร้อมยกตัวอย่าง Phuket Sandbox นักท่องเที่ยวและผู้คนในพื้นที่ไม่ค่อยได้สัมผัสกัน สังเกตได้จากยอดคนไทยติดเชื้อในภูเก็ตอยู่ที่หลักร้อยตลอด และนักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับไปไม่ได้รับเชื้อกลับไปจากประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศต้นทางของพวกเขา
พิพัฒน์ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งน่าห่วงที่สุดจากกรณีนี้คือ นักท่องเที่ยวที่มีครอบครัวในประเทศไทย อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อในครอบครัว เพราะอาจนำไปสู่การระบาดเป็นวงกว้างต่อไป แต่ทั้งนี้ข้อดีอย่างหนึ่งคือการมีครอบครัวอยู่ในไทย เราสามารถตีวงจำกัดเพื่อตามรอยและควบคุมได้