×

‘อะไรที่ไม่คิดว่าจะได้เห็น ก็ได้เห็น’ บทสรุปการเมืองไทยปี 2566

08.12.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 MIN READ
  • 14 พฤษภาคม 2566 ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศไทยเริ่มต้นขึ้น หลังพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งทั่วไป
  • ขณะที่ในการเลือกตั้งครั้งเดียวกันนี้ พรรคเพื่อไทยก็เสียแชมป์การเป็นพรรคการเมืองที่ไม่เคยแพ้เลือกตั้งมาก่อน
  • ปี 2566 ประเทศไทยเปลี่ยนผู้นำประเทศครั้งแรกในรอบ 9 ปี จาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สู่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มาจากพลเรือนชื่อ เศรษฐา ทวีสิน และเป็นการปิดฉากการสืบต่ออำนาจของ คสช. ด้วย

ปี 2566 ถือเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงของประเทศในหลายด้าน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองหลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งถือเป็นการก้าวเข้าสู่หน้าใหม่ของหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ปิดฉากคู่ขัดแย้งเดิม เปิดหน้าคู่ต่อสู้หรือพันธมิตรใหม่

 

THE STANDARD ชวนย้อนอ่านเหตุการณ์การเมืองประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในปี 2566 และเตรียมความพร้อมภูมิทัศน์การเมืองใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม

 

วันปราศรัยใหญ่ครั้งสุดท้ายของ พรรคก้าวไกล

วันปราศรัยใหญ่ครั้งสุดท้ายของพรรคก้าวไกลที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566

ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 


 

1. ก้าวไกลชนะเลือกตั้ง…แต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้

 

14 พฤษภาคม 2566 ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศไทยเริ่มต้นขึ้น หลังพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งทั่วไป กวาดคะแนนบัญชีรายชื่อกว่า 14 ล้านเสียง ขึ้นเป็นพรรคอันดับ 1 รวมเก้าอี้ สส. 151 ที่นั่ง

 

พรรคก้าวไกลภายใต้การนำของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในวัย 43 ปี ถือเป็นโจทย์ยากของการคาดเดาผล ก่อนการเลือกตั้งแทบไม่มีนักวิเคราะห์จากสำนักใดคิดว่าพรรคก้าวไกลจะกลายเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด เพราะในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา พรรคที่ชนะเลือกตั้งมาตลอดคือพรรคเพื่อไทย

 

พรรคก้าวไกลคือร่างที่ 2 ของอุดมการณ์อนาคตใหม่ หรือพรรคอนาคตใหม่ที่เคยสร้างปรากฏการณ์ให้การเมืองไทยมาแล้ว จากการเป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งภายหลังการรัฐประหารปี 2557 แต่สามารถกวาด สส. มาได้ถึง 80 ที่นั่ง ขึ้นแท่นเป็นพรรคอันดับ 3 ในการเลือกตั้งปี 2562 มีแกนนำหลักคือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตนักธุรกิจหมื่นล้าน เป็นหัวหน้าพรรค ผสานด้วยปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเลขาธิพรรค

 

หลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบในปี 2563 ได้ก่อกำเนิด ‘พรรคก้าวไกล’ ที่ประกาศสานต่ออุดมการณ์เดิม พรรคก้าวไกลต้องเผชิญความระส่ำระสาย เพราะจำนวน สส. ที่ลดลง จากการที่กรรมการบริหารพรรคเดิมถูกยุบพรรค ขณะที่บางส่วนย้ายไปอยู่พรรคอื่นๆ หรือที่รู้จักกันในนาม ‘งูเห่า’ และคำถามต่อการนำของพิธาว่าจะสามารถพาพรรคก้าวไกลเดินได้ไกลมากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับแกนนำรุ่นแรก

 

ตลอดช่วงการหาเสียง ‘กระแส’ ของพรรคก้าวไกลเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะบนโลกออนไลน์ และแพลตฟอร์ม TikTok ที่หากใครลงคลิปที่เกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกลจะได้ยอดการกดถูกใจหรือจำนวนการเข้าชม แต่สิ่งที่ทุกคนวิเคราะห์คล้ายกันคือ แล้วความนิยมเหล่านั้นจะแปรเปลี่ยนเป็นคะแนนในคูหาเลือกตั้งได้มากน้อยแค่ไหน จะเป็นที่นิยมเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาวหรือไม่ คนต่างจังหวัดจะรู้จักก้าวไกลหรือเปล่า

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ขณะนั้น) แถลงข่าวท่ามกลางสื่อมวลชนไทยและต่างชาติ ภายหลังทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

และคำตอบของคำถามที่ว่านั้นได้หมดไป หลังการปิดคูหาการเลือกตั้งที่มีคนมาใช้สิทธิมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าพรรคก้าวไกลกวาดคะแนนเป็นพรรคอันดับ 1 ได้ สส. ทั้งหมด 151 ที่นั่ง แบ่งเป็น สส. เขต 112 ที่นั่ง และ สส. บัญชีรายชื่อ 39 ที่นั่ง จากคะแนนกว่า 14,438,851 คะแนน

 

โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีเก้าอี้ สส. ทั้งหมด 33 ที่นั่ง พรรคก้าวไกลกวาดไป 32 ที่นั่ง และยังกวาด สส.​ แบบยกจังหวัดอีกหลายจังหวัด ส่วนคะแนนบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลยังชนะในหลายจังหวัดแม้จะไม่มี สส. เขตก็ตาม 

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะชนะเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับ 1 แต่พรรคก้าวไกลก็ไม่สามารถที่จะรวมเสียง และได้รับการโหวตจาก สว. เพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แม้ว่าในสภาล่างจะได้เสียง สส. เกินครึ่งสภา แต่ สว. ก็ไม่ได้โหวตให้พิธาผ่านด่านไปนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ ก่อนที่จะโหวตในรอบถัดมา พิธายังต้องเผชิญข้อหาถือหุ้น ITV ก่อนจะถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. จนถึงทุกวันนี้ ขณะที่ยังต้องรอการวินิจฉัยจากศาล

 

พรรคเพื่อไทย เปิดแคมเปญ ‘แลนด์สไลด์’

28 ตุลาคม 2564 พรรคเพื่อไทยเปิดแคมเปญ ‘แลนด์สไลด์’ ประกาศจะชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลายในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

 


 

2. แลนด์สไลด์ไม่มีจริง เพื่อไทยเสียแชมป์แพ้เลือกตั้งครั้งแรก

 

หากจะนิยาม ‘พรรคทักษิณ’ ที่ไม่ได้แปลว่าต้องมีทักษิณ ชินวัตร อยู่ในพรรคหรือเป็นแกนนำพรรค แต่คือพรรคที่ยึดเอาทักษิณเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ มีอิทธิพลทางแนวคิด นโยบาย เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนพรรค ซึ่งประกอบด้วยพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย

 

ทักษิณ อดีตนักธุรกิจที่เดินเข้าสู่สนามการเมืองครั้งแรกในสังกัดพรรคพลังธรรม ต่อมาเขาได้ประกาศก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ก่อนจะชนะเลือกตั้งทั่วไปในปี 2544 กวาดที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรกว่า 248 ที่นั่ง ส่งให้ทักษิณเป็นนายกฯ คนที่ 23 ของประเทศไทย ก่อนสร้างประวัติศาสตร์เป็นรัฐบาลที่อยู่ครบวาระเป็นครั้งแรก และสร้างประวัติศาสตร์ชนะเลือกตั้งทั่วไปปี 2548 กวาดเก้าอี้ สส. 377 ที่นั่ง ตั้งรัฐบาลพรรคเดียวครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย 

 

อายุรัฐบาลทักษิณในสมัยที่ 2 ไม่ยืนยาวนัก เมื่อต้องยุบสภาเลือกตั้งปี 2549 จากการออกมาประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก่อนที่ในเวลาต่อมาการเลือกตั้งจะถูกศาลตัดสินให้เป็นโมฆะ อยู่ในสภาวะรัฐบาลรักษาการจนกระทั่งเกิดการรัฐประหารปี 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คมช. และทักษิณต้องใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศนับแต่นั้นมา

 

หลังการรัฐประหาร พรรคไทยรักไทยถูกตัดสินให้ยุบพรรค กรรมการบริหารพรรค 111 คน (บ้านเลขที่ 111) ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ก่อนจะกำเนิดใหม่ไหลรวมเป็น ‘พรรคพลังประชาชน’ ภายใต้การนำของสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ ที่สืบทอดอุดมการณ์ และเต็มไปด้วยบุคลากรของพรรคไทยรักไทยเดิมที่ย้ายมาสังกัด

 

พรรคพลังประชาชนสามารถเอาชนะการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2550 ได้เก้าอี้ สส. 233 ที่นั่ง ส่งให้สมัครเป็นนายกฯ ขณะที่หลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2550 ทักษิณได้เดินทางกลับประเทศไทยเพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่จากนั้นต้องอยู่ในต่างประเทศตลอดมา

 

รัฐบาลสมัครอายุไม่ยืนยาว ก่อนจะตกจากเก้าอี้นายกฯ จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ปมจัดรายการชิมไปบ่นไป ก่อนที่จะส่งไม้ผลัดมาเป็น สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นนั่งเก้าอี้นายกฯ ซึ่งไม่เคยได้ทำงานในทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากเกิดการประท้วงอีกครั้งโดยกลุ่มพันธมิตรฯ สมชายเป็นนายกฯ ได้เพียง 2 เดือนเศษก็ตกเก้าอี้จากการยุบพรรคพลังประชาชน ก่อกำเนิดพรรคเพื่อไทยที่สลับบทบาทมาเป็นฝ่ายค้านครั้งแรกในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

 

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สร้างประวัติศาสตร์เป็นนายกฯ หญิงคนแรกของไทย

 

พรรคเพื่อไทยลงสนามเลือกตั้งทั่วไปปี 2554 ภายใต้สโลแกน ‘ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ’ ชนะเลือกตั้งได้ สส. 265 ที่นั่ง ส่งยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้เป็นน้องสาวทักษิณ ขึ้นสู่ตำแหน่ง ‘นายกฯ หญิงคนแรก’ ของไทย และจบลงด้วยการประท้วงของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ก่อนที่ในเวลาต่อมา คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช. ที่นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ผบ.ทบ. ในขณะนั้น) จะรัฐประหารและขึ้นนั่งเป็นนายกฯ คนที่ 29 ด้วยตัวเอง

 

หลังการรัฐประหารปี 2557 พรรคเพื่อไทยอยู่ในสถานะประคับประคองตัว ก่อนลงสู้ในสนามเลือกตั้งปี 2562 ภายใต้กติกาในระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งได้มีความพยามแฮ็กสูตรเลือกตั้งเพื่อให้ได้ที่นั่งมากที่สุดจากการตั้งพรรคการเมืองย่อย หรือที่รู้จักกันในชื่อ ยุทธการแตกแบงก์พัน เกิดเป็นพรรคไทยรักษาชาติขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้สู้ในสนามเลือกตั้ง เพราะถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค

 

ทว่าผลสุดท้ายได้ สส. มา 136 ที่นั่ง ถึงแม้เป็นพรรคที่ชนะเลือกตั้งได้ สส. มากที่สุดอันดับ 1 แต่ก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ขณะเดียวกันพรรคยังต้องเผชิญความระส่ำหนักจากภายใน เมื่อเกิดสภาวะ ‘เลือดไหล’ บุคลากรสำคัญหลายคนตบเท้าออกจากพรรค กลายสภาพเป็นพรรคที่ไร้หัว ไร้ศูนย์กลางในการตัดสินใจ และเป็นอีกครั้งที่ต้องอยู่ในสถานะ ‘ฝ่ายค้าน’ 

 

หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่หวังสกัดภาะวะ ‘เลือดไหล’ ของเพื่อไทยคือการเปิดตัว ‘แพทองธาร ชินวัตร’ หรือ อุ๊งอิ๊ง สายเลือดตัวจริง ลูกสาวคนสุดท้องของทักษิณ ซึ่งมาพร้อมกับสโลแกน ‘แลนด์สไลด์’ ปูทางแคมเปญสู่การเลือกตั้งใหม่ ที่มาก่อนเวลาเข้าคูหากว่า 2 ปีเศษ

 

การเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลายฝ่ายจับตาว่าพรรคเพื่อไทยจะสามารถแลนด์สไลด์ได้จริงหรือไม่ ตามที่ประกาศกว่าจะกวาด สส. 310 ที่นั่ง เพื่อให้สามารถมีอำนาจต่อรองเพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาลใต้บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่มี สว. จากการแต่งตั้งร่วมเลือกนายกฯ ขณะที่หน้ากระดานการเมือง กูรูทุกค่ายแทบจะฟันธงไปในทิศทางเดียวกันว่า พรรคเพื่อไทยน่าจะยึดคูหาเป็นพรรคที่คว้าชัยในการเลือกตั้งด้วยจำนวน สส. มากที่สุด เพราะในประวัติศาสตร์การเมืองไทยในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยได้เก้าอี้ สส. จำนวนมากที่สุด

 

แพทองธาร ชินวัตร และ เศรษฐา ทวีสิน ปราศรัยใหญ่โค้งสุดท้ายที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองธานี เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566

 

14 พฤษภาคม 2566 ผลการเลือกตั้งทั่วไปปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยคว้าที่นั่ง สส. มาได้เพียง 141 ที่นั่ง จาก 500 ที่นั่ง ขณะที่พรรคก้าวไกลคว้าที่นั่ง สส. มาได้ 151 ที่นั่ง นับเป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไปที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นพรรคอันดับ 1 ที่ชนะการเลือกตั้ง 

 

ตลอดระยะเวลานับแต่การก่อตั้งพรรคไทยรักไทย 22 ปี พรรคที่มีภาพของ ‘ทักษิณ’ เป็นภาพชัดเจนในองค์ประกอบ ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย ไม่เคยแพ้การเลือกตั้งเลยแม้แต่หนเดียว และถึงแม้ว่าจะมีความพยายามเปลี่ยนกติกาเพื่อสกัดพรรคเหล่านี้มาโดยตลอด 

 

นี่จึงนับเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ทศวรรษ ที่จักรวาลของความเป็นเพื่อไทยได้สูญเสียแชมป์การเป็นพรรคที่ได้ สส. มากที่สุดในสภา

 

พรรคเพื่อไทย เชิญ พรรครวมไทยสร้างชาติ

พรรคเพื่อไทยเชิญพรรครวมไทยสร้างชาติร่วมหารือรวบรวมเสียงโหวตเลือกตั้งนายกฯ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2566

 


 

3. บทสุดท้าย 2 ทศวรรษเหลือง-แดง จบที่รัฐบาลผสมข้ามขั้ว

 

หลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 นักวิเคราะห์จำนวนมากวิเคราะห์ตรงกันว่า นี่คือภูมิทัศน์ใหม่ของการเมืองไทย และชัดเจนมากยิ่งขึ้นภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้วที่เป็นคู่ขัดแย้งกันมาตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

 

2 ทศวรรษที่ผ่านมา เราจำแนกพรรคเพื่อไทย (หมายรวมถึงพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน) เป็นพรรคอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย มีคู่ปรับคือพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคอุดมการณ์ฝ่ายขวา

 

แต่หลัง 14 พฤษภาคม 2566 ภูมิทัศน์การเมืองไทยเปลี่ยนไปแล้ว

 

ผลการเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลได้ สส. มาเป็นอันดับ 1 และตามมาด้วยพรรคเพื่อไทยอันดับ 2 ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกใหม่สำหรับสังคมไทย เมื่อพรรคที่เคยอยู่ขั้วเดียวกันกลายเป็นพรรคที่ได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 และ 2 อีกทั้งยังต้องจับมือกันเพื่อตั้งรัฐบาล

 

ในที่สุดพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยและอีก 6 พรรคการเมืองจับมือกันในนาม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ลงนามใน MOU ร่วมกัน เตรียมส่งพิธา แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกลสู่ทำเนียบรัฐบาล

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ชูกำปั้นขณะเดินออกจากห้องประชุมรัฐสภา

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ชูกำปั้นขณะเดินออกจากห้องประชุมรัฐสภา หลังรับทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

แต่ฝันค้างฟ้า เมื่อการลงมติเลือกนายกฯ ครั้งแรกในรัฐสภาที่มี สว. ร่วมโหวตด้วย พิธาได้คะแนนเสียงจากสมาชิกรัฐสภาไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ตามมาด้วยการถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่ สส. ในคดีการถือหุ้นสื่อ ITV ปิดท้ายด้วยการส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนนำในการรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลในฐานะพรรคอันดับ 2 

 

พรรคเพื่อไทยเดินหน้ารวบรวมเสียง และตัดสินใจเปลี่ยน หรือฉีก MOU ซึ่งเป็นการผลักก้าวไกลออกจากการจัดตั้งรัฐบาล หนึ่งในประเด็นสำคัญคือการที่ก้าวไกลมีวาระเกี่ยวกับการเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

 

พร้อมกับประกาศจับมือกับอดีตพรรคร่วมรัฐบาลเดิม เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคชาติพัฒนากล้า และพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม เช่น พรรคประชาชาติ และพรรคเสรีรวมไทย 

 

อย่างไรก็ตาม ในทางการเมืองเป็นที่คาดการณ์อยู่แล้วว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะสามารถจับมือกับพรรคพลังประชารัฐได้ แต่ที่เกินความคาดหมายคือการจับมือกับพรรครวมไทยสร้างชาติ เพราะหลายคนที่เป็นระดับนำในพรรครวมไทยสร้างชาติคืออดีตคู่ขัดแย้งหลักของพรรคเพื่อไทยในนาม กปปส. ขณะที่ตัวแคนดิเดตนายกฯ อย่าง พล.อ. ประยุทธ์ คือผู้ทำรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มี นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาราชการแทนนายกฯ ในเวลานั้นด้วย

 

เศรษฐา ทวีสิน ในพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ

เศรษฐา ทวีสิน ในพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566

ภาพ: สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

 

22 สิงหาคม 2566 รัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ หนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย เป็นนายกฯ คนที่ 30 โดย สว. ส่วนใหญ่ไฟเขียวโหวตเห็นชอบ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในวันเดียวกับการเดินทางกลับมาประเทศไทยในรอบ 15 ปีของอดีตนายกฯ ที่ชื่อ ‘ทักษิณ’

 

รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยซึ่งมีส่วนผสมของกลุ่มที่เคยเป็นคู่ขัดแย้งยาวนานถูกขนานนามว่า รัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว โดยมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์การเมืองที่ว่ากำลังขยับตัวเองสู่การเป็นพรรคขวาใหม่หรือไม่ ขณะที่คู่ปรับคู่ชิงในอนาคตก็คือพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย 

 

ทักษิณ ชินวัตร กลับไทย

ทักษิณ ชินวัตร เดินออกมาพบปะคนที่มาต้อนรับการกลับมาที่สนามบินดอนเมือง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 


 

4. ทักษิณ-ท่านอ้น หวนคืนมาตุภูมิ

 

22 สิงหาคม 2566 วันเดียวกับการลงมติให้ความเห็นชอบเศรษฐาเป็นนายกฯ ในรัฐสภา เวลาสายของวันนั้นเครื่องบินส่วนตัวลำหนึ่งซึ่งมีต้นทางจากสิงคโปร์ลงจอดที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ก่อนที่จะปรากฏตัวอดีตนายกฯ คนที่ 23 ของประเทศไทยกลับมาเหยียบแผ่นดินไทยอีกครั้งในรอบกว่า 15 ปี

 

ก่อนหน้านี้ทักษิณเคยมีกำหนดกลับประเทศมาหลายต่อหลายครั้ง แต่ไม่เคยมีครั้งใดที่จะจริงเท่าครั้งนี้อีกแล้ว 

 

เมื่อเขาปรากฏตัวต่อหน้าญาติพี่น้อง ผู้ที่เคารพรัก สื่อมวลชน และผู้สนับสนุนที่มารอต้อนรับ โดยทันทีที่มาถึงทักษิณได้นั่งลงกราบถวายสักการะพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และหันออกมายังสื่อมวลชนด้วยการยกมือไหว้ และโบกมือทักทายผู้สนับสนุน ก่อนเดินกลับเข้าด้านใน

 

ทักษิณ กราบถวายสักการะพระบรมฉายาลักษณ์

ทักษิณกราบถวายสักการะพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

ยังไม่ทันพ้นคืนแรกที่เขาต้องนอนภายในเรือนจำ เที่ยงคืนวันเดียวกัน กรมราชทัณฑ์นำตัวทักษิณส่งโรงพยาบาลตำรวจ หลังมีอาการนอนไม่หลับ แน่นหน้าอก วัดความดันโลหิตสูง ระดับออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ ก่อนพักรักษาตัวยาวถึงปัจจุบัน

 

ในเวลาต่อมามีรายงานว่าทักษิณได้ยื่นขอพระราชอภัยโทษ โดยในวันที่ 1 กันยายน 2566 ได้มีประกาศพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แม้ทักษิณจะไม่ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ชื่อและความเคลื่อนไหวของเขายังคงมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการเมืองไทย บางครั้งนักการเมืองหลายคนก็ต้องบินไปมาหาสู่กับเขาอยู่เป็นประจำ ขณะที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงในยุคหนึ่ง ทักษิณคือคนที่โฟนอินหรือวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เข้ามาปราศรัยอยู่เป็นระยะ

 

วัชเรศร และ นพ.จักรีวัชร วิวัชรวงศ์

วัชเรศร (ซ้าย) และ นพ.จักรีวัชร วิวัชรวงศ์ (ขวา) พระราชโอรสในรัชกาลที่ 10

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

ขณะที่ในปีเดียวกัน วัชเรศร วิวัชรวงศ์ หรือที่คนไทยคุ้นเคยในชื่อ ‘ท่านอ้น’ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 10 เดินทางกลับประเทศไทยครั้งแรกในรอบกว่า 27 ปี เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2566 ซึ่งท่านอ้นให้สัมภาษณ์สำนักข่าวต่างประเทศตอนหนึ่งว่า “เหมือนฝันที่เป็นจริงที่ได้กลับมา” ก่อนเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทย และเดินทางกลับสหรัฐอเมริกาในวันที่ 14 สิงหาคม 2566

 

เศรษฐา ทวีสิน และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เศรษฐา ทวีสิน และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบกันที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566

ภาพ: สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

 


 

5. ปิดฉาก 9 ปี ประยุทธ์บนเก้าอี้นายกฯ

 

หลังการรัฐประหาร 2557 พล.อ. ประยุทธ์ นั่งเก้าอี้นายกฯ บริหารประเทศมาต่อเนื่องยาวนานเกือบ 9 ปี ถือเป็นนายกฯ ไม่กี่คนที่อยู่บนเก้าอี้นายกฯ​ มาต่อเนื่องยาวนานขนาดนี้ โดยเฉพาะใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

 

ปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ขณะเป็น ผบ.ทบ. ก่อรัฐประหารรัฐบาลรักษาการโดยนิวัฒน์ธำรง ในช่วงที่การเมืองมีการประท้วงของกลุ่ม กปปส.​ และกลุ่มคนเสื้อแดง ชูสโลแกนคืนความสุขให้คนในชาติ และคำว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน”

 

ทว่า พล.อ. ประยุทธ์ อยู่บนเก้าอี้นายกฯ ที่มาจากการรัฐประหารกว่า 5 ปี ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และสร้างกลไกที่นักวิชาการฝ่ายซ้ายนิยามว่า ‘กลไกสืบทอดอำนาจ’ ที่ให้ สว.​ ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารร่วมเลือกนายกฯ ด้วย

 

ก่อนที่จะเริ่มคลายอำนาจ จัดให้มีการเลือกตั้งในปี 2562 โดยมีพรรคที่ก่อร่างสร้างตัวเพื่อรองรับเขาในฐานะแคนดิเดตนายกฯ คือพรรคพลังประชารัฐ และกลับมาจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จอีกครั้ง ต่ออายุการเป็นนายกฯ สมัยที่ 2 อีก 4 ปี

 

แม้ในช่วงการเป็นนายกฯ สมัยที่ 2 ของ พล.อ. ประยุทธ์ เผชิญ 2 วิกฤตใหญ่คือการระบาดของโรคโควิด และการประท้วงของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลง แต่ พล.อ. ประยุทธ์ ก็สามารถประคับประคองเก้าอี้นายกฯ จนหมดสมัย

 

พล.อ. ประยุทธ์ ยังเผชิญปัญหาข้อกฎหมายสำคัญที่ทำให้เขาต้องพักจากเก้าอี้นายกฯ ชั่วคราวราวเดือนเศษ คือการตีความเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปีตามรัฐธรรมนูญแล้วหรือไม่ ซึ่งในท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยว่าเขายังดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่ครบ 8 ปีตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนด เพราะต้องเริ่มนับจากวันที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้

 

พล.อ. ประยุทธ์ เปิดตัวเข้าเป็นสมาชิก พรรครวมไทยสร้างชาติ

พล.อ. ประยุทธ์ เปิดตัวเข้าเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 

 

ถึงคราวเลือกตั้งปี 2566 เขาตัดสินใจลงสนามการเมืองแบบเต็มตัวเพื่อชิงเก้าอี้นายกฯ สมัยที่ 3 สมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมเป็นแคนดิเดตนายกฯ ลงพื้นที่หาเสียงด้วยตัวเอง แต่ผลการเลือกตั้งคณิตศาสตร์ทางการเมืองไม่เพียงพอที่จะทำให้เขาไปต่อได้ 

 

ประเทศไทยจึงเปลี่ยนผ่านอำนาจการบริหารประเทศจาก พล.อ. ประยุทธ์ ถึงนายกฯ คนใหม่คือ เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนผู้นำประเทศครั้งแรกของไทยในรอบกว่า 9 ปี

 

พล.อ. ประยุทธ์ อำลาข้าราชการทำเนียบรัฐบาล

พล.อ. ประยุทธ์ อำลาข้าราชการทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X