×

Arincare เผยคนเข้าร้านยาบ่อยขึ้นแต่จ่ายน้อยลง ตลาดนักท่องเที่ยวโต สมุนไพร-ยาแผนโบราณขายดี แนะปรับปรุงบริการช่วยเพิ่มยอดขายได้

15.07.2018
  • LOADING...

 

 

ที่งาน Thailand Pharmacy Summit 2018 กรณ์ จาติกวณิช ประธานสมาคมฟินเทคประเทศไทยกล่าวว่า ธุรกิจร้านขายยาในประเทศไทยถือว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพด้วยจำนวนกว่า 2 หมื่นร้าน ซึ่ง 90% ของร้านทั้งหมดดำเนินการโดยผู้ประกอบการอิสระ บริหารจัดการเอง แต่ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป รวมถึงการรุกคืบเข้ามาของเชนร้านขายยา ทำให้ร้านขายยารูปแบบเดิมอาจจะได้รับผลกระทบได้

 

ซึ่งบริการด้านสาธารณสุขของประชากรไทยยังถือว่ามีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก ในกรุงเทพมหานคร จำนวนประชากรต่อแพทย์ 1 คนเท่ากับ 800 คน ขณะที่บางจังหวัด เช่น ศรีสะเกษ จำนวนประชากรต่อแพทย์ 1 คนกลับสูงถึง 6 พันคน คนไทยจึงยังพึ่งพาบริการด้านสุขภาพจากร้านขายยาที่อยู่ในชุมชนกันอยู่

 

 

ส่วน ชนิกา อรัณยกานนท์ ตัวแทนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ให้ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกโดยพบว่า คนไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงถึง 360 เหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 1.2 หมื่นบาทต่อหัว ขณะที่งบประมาณภาครัฐที่ใช้ด้านสาธารณสุขคิดเป็น 6.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ซึ่งสูงติดอันดับ 15 ของโลก

 

ปัญหาสำคัญของวงการสาธารณสุขไทยคือการจัดเก็บฐานข้อมูลด้านสุขภาพกระจัดกระจาย ไม่ได้รวมไว้ด้วยกันและไม่สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะนี้ทาง DEPA ร่วมกับโรงพยาบาลในเครือข่าย 6 แห่ง จัดทำ ‘e-Health Open Data Platform’ เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบที่รวบรวมข้อมูล ประวัติการรักษาของคนไข้ และแบ่งปันระหว่างกัน คาดว่าพร้อมใช้งานได้สิงหาคมปีนี้

 

ธีระ กนกกาญจนรัตน์ กรรมการผู้จัดการของ Arincare แพลตฟอร์มให้บริการการจัดการสำหรับร้านขายยา โดยเปิดตัว Arincare 2.0 ซึ่งพัฒนาระบบหลังร้านให้ดีขึ้น มีฟังก์ชันใหม่คือ ArinWiki ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลของยาเพื่อทำความเข้าใจกับลูกค้าได้ดีขึ้น ปรับเพิ่มบริการด้านบัญชีและการจัดการภาษีของร้านขายยา ซึ่งร่วมมือกับ AccRevo ในการจัดการ เวอร์ชันใหม่จะรองรับ QR Payment การชำระเงินผ่าน Alipay นอกจากนี้ยังเพิ่มฟังก์ชัน Arin Share เครือข่ายระหว่างร้านยาเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันและ Arin Help ที่ช่วยเชื่อมโยงกับร้านค้าส่งยาขนาดใหญ่เพื่อช่วยเปรียบเทียบต้นทุน

 

 

นอกจากนี้ยังเปิดตัว Aricare Research ที่สำรวจข้อมูลของตลาดร้านยาในประเทศไทยที่อยู่ในเครือข่ายของ Arincare ซึ่งจัดทำ ‘Pharmacy Industry Survey 2018’ โดยพบว่าเกือบ 92% เป็นร้านขายยาเดี่ยวที่เจ้าของดูแลเอง ซึ่ง 38% ของกลุ่มตัวอย่างบอกว่ายอดขายปี 2561 นี้ดีกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่ 41% กลับบอกว่าตลาดร้านยาหดตัวลง เมื่อพิจารณารายละเอียดจากการสำรวจ ตลาดร้านยาในต่างจังหวัดยอดขายลดลง โดยเฉพาะภาคอีสาน ภาคใต้ และภาคกลางขณะที่มุมมองของร้านขายยาในกรุงเทพฯ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกกลับดีกว่าเดิม ซึ่งสะท้อนว่าจังหวัดที่มีอัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวสูง ยอดขายก็ดีขึ้นด้วย ซึ่งกลุ่มที่บอกว่าขายดีขึ้นเห็นตรงกันว่า ยอดขายยาในกลุ่มนักท่องเที่ยวเพิ่มถึง 30% และสินค้าประเภทสมุนไพรและยาแผนโบราณเป็นกลุ่มที่เติบโตสูงสุด

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ ครึ่งปีแรกของปีนี้พบว่า มีผู้ที่เดินเข้าร้านขายยาบ่อยขึ้นที่ 1,328 บิลต่อเดือน สูงกว่าปีที่ผ่านมาที่ 1,286 บิลต่อเดือน แต่ยอดขายต่อบิลกลับลดลงชัดเจนที่ 186.5 บาทต่อบิล เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่ 202.5 บาทต่อบิล สะท้อนกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลง เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มไม่ซื้อยาเก็บตุนหรือซื้อเผื่อ เป็นลักษณะซื้อใช้เมื่อจำเป็นแทน

 

ปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจของร้านยามากที่สุดคือ ทำเลที่ตั้งของร้าน รองลงมาคือ ราคาสินค้าและคุณภาพการบริการ แต่สำหรับกลุ่มร้านที่บอกว่าขายดีขึ้นพบว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดยังเป็นเรื่องทำเล แต่ปัจจัยรองลงมากลับเป็นคุณภาพการบริการและเภสัชกรที่น่าเชื่อถือ ซึ่งสะท้อนว่าการบริการโดยรวมมีผลอย่างมากต่อการสร้างความเกี่ยวพัน (Engagement) กับลูกค้า ซึ่งใช้เวลาเฉลี่ย 5-10 นาทีสำหรับการใช้บริการร้านขายยาแต่ละครั้ง จึงแนะนำผู้ประกอบการใส่ใจลูกค้ามากยิ่งขึ้นผ่านการบริการที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นจุดแข็งสำคัญที่เชนร้านยาใหญ่ๆ ยังไม่สามารถทำตรงนี้ได้

 

อ้างอิง:

  • Arincare
  • Thailand Pharmacy Summit 2018
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X