×

เปิดกล่องความทรงจำกับ 5 โอลิมปิกเกมส์ ‘ที่สุด’ ในใจคนไทย

โดย THE STANDARD TEAM
19.07.2021
  • LOADING...
olympic games

กีฬาโอลิมปิกเกมส์สมัยใหม่เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1896 (พ.ศ. 2439) ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ประเทศไทยต้องรอหลังจากนั้นนานถึง 56 ปีจึงจะส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันเป็นครั้งแรก และนี่คือ 5 โอลิมปิกที่สร้างความเป็น ‘ที่สุด’ ที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์วงการกีฬาของชาติ

 

นกพิราบนับพันตัวถูกปล่อยในระหว่างพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 1952 ที่เมืองเฮลซิงกิ ซึ่งเป็นโอลิมปิกครั้งแรกที่ทัพนักกีฬาไทยส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขัน

 

เฮลซิงกิ 1952

คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ ได้รับการรับรองให้เป็นสมาชิกของคณะกรรมการโอลิมปิกระหว่างประเทศ (IOC) ในปี 1950 และได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ครั้งแรกใน 2 ปีต่อมาที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเป็นมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 12 

 

ไทยส่งนักกีฬาร่วมการแข่งขันกรีฑาเพียงชนิดเดียว โดยรายชื่อนักกีฬา 8 คนที่ลงแข่งขันประกอบด้วย อดุลย์ วรรณสถิตย์, บุญเติม พรรคพ่วง, อรุณ แสนโกศิก, พงศ์อำมาตย์ อมาตยกุล, สมภพ สวาทะนันทน์, บุญภักดิ์ ขวัญเจริญ, สถิต เลี้ยงถนอม, กำธร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และมีบันทึกนักกีฬาสำรองอีก 3 คน ได้แก่ ปัจจัย สมาหาร, พยันต์ มหาวัจน์, สอ้าน ชำนิการ

 

แม้ทีมนักกีฬาไทยจะไม่ประสบความสำเร็จคว้าเหรียญรางวัลมาครอง แต่บุคคลเหล่านี้คือผู้ที่เปิดประวัติศาสตร์ให้แก่วงการกีฬาไทย นำธงไทยไปโบกสะบัดในเวทีกีฬาโลกในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งมวลมนุษยชาติ

 

ทีมเจรจาของเยอรมนีพยายามต่อรองกับผู้ก่อการร้าย ‘กลุ่มกันยาทมิฬ’ เพื่อให้ปล่อยนักกีฬาชาวอิสราเอลที่ถูกจับเป็นตัวประกัน

 

มิวนิก 1972

โอลิมปิกที่เยอรมนีตะวันตกต้องเผชิญกับเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์กีฬาโลก ในเช้ามืดวันที่ 5 กันยายน โดยมีกลุ่มผู้ก่อการร้ายชาวปาเลสไตน์ 8 คนที่เรียกว่า ‘กลุ่มกันยาทมิฬ’ พร้อมอาวุธปืนและระเบิดมือ บุกเข้าโจมตีหอพักนักกีฬาชาวอิสราเอลในหมู่บ้านนักกีฬา สังหารนักกีฬาอิสราเอลทันที 2 คน แล้วจับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่รวม 9 คนเป็นตัวประกัน เรียกร้องให้อิสราเอลปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์ 234 คน และอีก 2 คนที่ถูกคุมขังอยู่ที่เยอรมนีตะวันตก แต่การเจรจาล้มเหลว ผู้ก่อการร้ายสังหารตัวประกันทั้ง 9 ราย และผู้ก่อการร้ายก็ถูกยิงเสียชีวิตไป 5 ราย ยอมมอบตัว 3 ราย

 

หลังเหตุการณ์ระทึก การแข่งขันได้หยุดลงเป็นเวลา 36 ชั่วโมง ได้มีการชักธงครึ่งเสาเพื่อเป็นการไว้อาลัย และนักกีฬาอิสราเอลทั้งหมดเดินทางกลับประเทศทันที แต่การแข่งขันก็ยังคงดำเนินต่อไป

 

ข่าวร้ายสร้างความสะเทือนขวัญไปทั่วโลก เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ได้ส่งนักกีฬาไปแข่งขันโอลิมปิกครั้งนั้น 33 คน จากการให้สัมภาษณ์ของ พล.ต. จารึก อารีราชการัณย์ รองประธานโอลิมปิกไทย ซึ่งติดยศพันตรีในขณะนั้น และเป็นเลขาธิการสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทยฯ ร่วมเดินทางไปแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งแรกของตนเอง แม้ไม่มีนักกีฬาไทยในหมู่บ้านนักกีฬาเป็นอะไร แต่ ‘บิ๊กจา’ ก็ตระหนักได้ว่า ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด ถ้านักกีฬาไปแข่ง 100 คน ต้องได้กลับบ้านทั้ง 100 คน   

 

“นั่นคือโอลิมปิกเกมส์ที่เศร้าที่สุด พิธีปิดการแข่งขันเงียบงัน ไม่มีการเฉลิมฉลองใดๆ นับเป็นความหายนะของเกมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ซึ่งมีผลมาจากความขัดแย้งทางการเมือง” พล.ต. จารึก กล่าว

 

พเยาว์ พูนธรัตน์ ฮีโร่โอลิมปิกคนแรกของประเทศไทย

 

มอนทรีออล 1976

นักกีฬาไทยได้เหรียญรางวัลโอลิมปิกครั้งแรก จากการส่งไปแข่งขัน 42 คน (ชาย 39 คน หญิง 3 คน) โดย พเยาว์ พูนธรัตน์ คว้าเหรียญทองแดงในกีฬามวยสากลสมัครเล่น รุ่นไลต์ฟลายเวต

 

ยอดนักชกจากบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วัย 19 ปี แพ้ รีบยองอุค จากเกาหลีเหนือในรอบรองชนะเลิศ ได้เหรียญทองแดงในรุ่นไลต์ฟลายเวต (48.9 กก.) ด้วยความมุมานะต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อ ตั้งแต่การลดน้ำหนัก ชนิดที่ทีมงานหุงข้าวเสร็จแล้ว เจ้าตัวก็ไม่ยอมกิน จนทีมงานทุกคนต้องอดตามไปด้วย

 

เหรียญโอลิมปิกในยุคนั้นไม่มีเงินรางวัลอัดฉีดเป็นสิบๆ ล้านเหมือนในยุคต่อมา แต่ถึงแม้ว่าผลตอบแทนจะไม่มาก แต่นั่นคือการสร้างประวัติศาสตร์ของชาติที่สร้างภาคภูมิใจให้กับทุกคนร่วมไปกับพเยาว์ พอกลับจากแคนาดา ได้มีประเพณีการแห่เฉลิมฉลอง ‘ฮีโร่โอลิมปิก’ อย่างยิ่งใหญ่ จุดประกายความสำเร็จให้นักกีฬารุ่นหลัง 

 

จากนั้นพเยาว์ก้าวไปสู่การเป็นแชมป์โลกมวยอาชีพรุ่นซูเปอร์ฟลายเวต (115 ปอนด์) ของสภามวยโลก และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ ก่อนจะเสียชีวิตด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ และ ALS (กล้ามเนื้ออ่อนแรง) ในวันที่ 13 สิงหาคม 2549 อายุ 49 ปี

 

สมรักษ์ คำสิงห์ ตะบันหมัดใส่ เซราฟิม โตโดรอฟ ในการชก 3 ยกที่บีบหัวใจชาวไทยมากที่สุด ก่อนที่เราจะได้เฮสนั่นลั่นทุ่งกันทั้งประเทศ

 

แอตแลนตา 1996

กีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ ครบรอบ 100 ปี จัดที่สหรัฐอเมริกา และเหรียญทองโอลิมปิกเหรียญแรกของประเทศไทยก็มาถึง จากที่รอคอยมายาวนาน 44 ปี ด้วยฝีมือของ พิมพ์อรัญเล็ก ศิษย์อรัญ หรือ สมรักษ์ คำสิงห์ นักมวยสากลสมัครเล่น รุ่นเฟเธอร์เวต 

 

เจ้าของฉายา ‘โม้อมตะ’ เอาชนะ เซราฟิม โตโดรอฟ นักชกบัลแกเรีย 8-5 ในรอบชิงชนะเลิศ คว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์ ทำให้เสียงเพลงชาติไทยดังกระหึ่มในเวทีโอลิมปิกเกมส์ พร้อมกันนี้ วิชัย ราชานนท์ นักมวยสากลสมัครเล่น รุ่นแบนตัมเวต ก็คว้าเหรียญทองแดงได้อีกคน ทำให้ประเทศไทยคว้า 2 เหรียญโอลิมปิกได้เป็นครั้งแรก ชาวไทยดีใจทั้งประเทศจนลืมเหตุการณ์เขย่าขวัญที่โอลิมปิกพาร์ก ซึ่งอยู่ติดกับศูนย์รวมสื่อมวลชน ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม มีผู้เสียชีวิต 1 คนและบาดเจ็บกว่า 110 คน 

 

ฮีโร่โอลิมปิกไทยเดินทางกลับบ้านท่ามกลางการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ มีการมอบรางวัลและเกียรติยศที่ไม่สิ้นสุด สมรักษ์ คำสิงห์ ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เทิดพระเกียรติในวาระสำคัญที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติเป็นปีที่ 50

 

 ‘สู้เว้ย!’ อุดมพร พลศักดิ์ หรือ ‘น้องอรสู้โว้ย’ จอมพลังสาวคนแรกของไทยที่ได้เหรียญทองโอลิมปิก ที่กรุงเอเธนส์

 

เอเธนส์ 2004

ทัพนักกีฬาไทย 42 คนสร้างความสำเร็จสูงสุดในประวัติศาสตร์วงการกีฬาของชาติ ด้วยการคว้า 3 เหรียญทองจาก มนัส บุญจำนงค์ มวยสากลชาย รุ่นไลต์เวลเตอร์เวต, อุดมพร พลศักดิ์ ยกน้ำหนักหญิง รุ่น 53 กิโลกรัม, ปวีณา ทองสุก ยกน้ำหนักหญิง รุ่น 75 กิโลกรัม 1 เหรียญเงิน จาก วรพจน์ เพชรขุ้ม มวยสากลชาย รุ่นแบนตัมเวต, 4 เหรียญทองแดง จาก อารีย์ วิรัฐถาวร ยกน้ำหนักหญิง รุ่น 48 กิโลกรัม, วันดี คำเอี่ยม ยกน้ำหนักหญิง รุ่น 58 กิโลกรัม, สุริยา ปราสาทหินพิมาย มวยสากลชาย รุ่นมิดเดิลเวต และ เยาวภา บุรพลชัย เทควันโดหญิง รุ่น 49 กิโลกรัม รวมทั้งสิ้น 8 เหรียญ 

 

คนไทยไม่คุ้นกับการได้เหรียญโอลิมปิกตั้งแต่หัววัน 4 จอมพลังสาวได้เหรียญจากกีฬายกน้ำหนักครบทุกคน, ไม่มีใครลืม ‘น้องอรสู้โว้ย’ อุดมพร พลศักดิ์ นักกีฬาหญิงคนแรกที่ได้เหรียญทองโอลิมปิก, มวยสากล เข้าชิง 2 รุ่นเป็นครั้งแรก ได้เหรียญครบ 3 สี ทอง เงิน ทองแดง, ‘น้องวิว’ เยาวภา ได้เหรียญจากเทควันโดเป็นคนแรก ส่งให้ ประเทศไทยได้อันดับที่ 25 ดีที่สุดเท่าที่เคยแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ และเป็นจุดที่สูงที่สุดจุดหนึ่งของไทยในวงการกีฬาโลก 

 

เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ หนึ่งในความหวังสูงสุดของคนไทยที่เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว

 

สำหรับโอลิมปิก ‘โตเกียว 2020’ ครั้งนี้แม้จะเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถามถึงความเหมาะสมของการจัดการแข่งขัน มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด และการที่ไม่มีคนดูในสนามเลย แต่ทัพนักกีฬาไทยได้มีการเตรียมตัวอย่างดีที่สุดทั้งร่างกายและจิตใจ

 

ที่เหลือก็คือ ‘กำลังใจ’ จากคนไทยด้วยกันที่จะส่งถึงตัวแทนที่จะสู้แทนพวกเราในสนามแข่งขัน

 

หากไม่ดูเป็นการรบกวน ก็อยากชวนมาช่วยเชียร์ไปด้วยกันนะ! 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising