×

เพื่อไทยเผย ไม่มีความขัดแย้งกับอดีตอนาคตใหม่ ปฏิเสธมีรายการคุณขอมา

โดย THE STANDARD TEAM
28.02.2020
  • LOADING...

วันนี้ (28 กุมภาพันธ์) สุทิน คลังแสง ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือวิปฝ่ายค้าน เปิดเผยถึงผลการทำงานของพรรคเพื่อไทยในญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า 

 

พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ประเมินสถานการณ์และสรุปผลการทำงานในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งพอใจกับผลการอภิปราย และคาดว่า จะได้มีโอกาสในการสรุปอภิปรายที่จะมีทีเด็ด แต่เสียดายว่าไปไม่ถึงตรงนั้น ขอโทษว่าเราประเมินฝ่ายรัฐบาลผิดพลาด แม้จะได้มีการตกลงกันทั้ง 3 ฝ่าย ว่าจะให้จบในเวลา 19.00 น. แต่ก็ยังคุยไว้ว่า หากไม่จบจะขยายไปจนเวลา 24.00 น. ซึ่งก็ได้พยายามทำอย่างเต็มที่ แต่ก็ถือว่าเป็นธรรมชาติของการอภิปรายที่ไม่มีใครทำได้ตรง 100% จึงขอโทษเพื่อนร่วมงานสำหรับเวลาที่เกินมาจากความคลาดเคลื่อน เพราะว่าเวลาสภาฯ ยังเหลือจนถึง 24.00 น. จึงมองว่า น่าจะสามารถขอเวลาได้ และทำให้ทุกคนได้อภิปราย

 

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้ถูกอภิปราย ขณะที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีผู้อภิปรายได้แค่คนเดียวจากที่กำหนดไว้ 2 คน โดยเรามองว่า แม้จะทำข้อตกลงกันไว้แล้ว ซึ่งข้อตกลงไม่ใช่กฎหมาย หากไม่สามารถทำอย่างที่ตกลงได้ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ จึงได้เจรจากับประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอขยายเวลาไปอีก 1 ชั่วโมง แต่ไม่ได้รับความยินยอม

 

ขณะที่ตามรัฐธรรมนูญระบุว่า ต้องให้การอภิปรายดำเนินไปจนจบสิ้น แต่เห็นว่าการอภิปรายครั้งนี้ไม่จบ เมื่ออภิปรายจบไม่ได้ จึงไม่สามารถลงคะแนนได้ จึงได้วอล์กเอาต์ เราเสียใจและขอโทษประชาชนที่ทำหน้าที่ได้ไม่ครบ เพราะรัฐบาลไม่เอื้ออำนวยให้ได้ทำงาน ขณะที่เพื่อนร่วมงานภายในพรรคก็ได้เกิดการกระทบกระทั่งกัน เนื่องจากกดดันจากการทำงาน ซึ่งก็ได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจกันแล้ว

 

ส่วนที่มีปัญหาเกิดจากการปรับเปลี่ยนสลับผู้อภิปราย ซึ่งก็มีบางคนของพรรคเพื่อไทยที่อภิปรายเกินเวลา ขณะที่บางคนก็อภิปรายไม่ครบตามเวลาที่กำหนด สำหรับที่มีการจัด พล.อ. ประวิตร ไว้อภิปรายในระดับท้ายนั้น เป็นการจัดตั้งแต่วันแรกที่มีการประชุม 3 ฝ่าย ซึ่งประธานสภาผู้แทนราษฎรก็แจ้งต่อที่ประชุมตั้งแต่เปิดการประชุมในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ว่าลำดับของผู้ที่จะถูกอภิปรายมีใครบ้าง

 

อีกทั้งเรายังได้ตัดสินใจในช่วงท้าย ก่อนที่จะยื่นญัตติอภิปราย พล.อ. ประวิตร จึงถือว่าเป็นผู้ที่ฝ่ายค้านได้ตัดสินใจที่จะอภิปรายในลำดับท้ายสุดมาตั้งแต่ต้น หากจะตั้งข้อสังเกตว่า ปกป้อง พล.อ. ประวิตร เหตุใดจึงไม่มองว่า คนที่น่าสงสัยว่าจะถูกปกป้องก็คือ พล.อ. อนุพงษ์ มากกว่า เพราะไม่ได้ถูกอภิปราย ซึ่งสาเหตุที่ไม่ได้มีการอภิปราย พล.อ. อนุพงษ์ ก็เพราะเรื่องเวลาที่ไม่เพียงพอ ซึ่งน่าเสียดายที่ รังสิมันต์ โรม ส.ส. อดีตพรรคอนาคตใหม่ ไม่ได้อภิปราย พล.อ. อนุพงษ์

 

ส่วนที่มีข้อสงสัยถึงรายการคุณขอมานั้น ขอให้การทำงานของพรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องพิสูจน์ จะเห็นได้ว่า ทุกพรรคที่เสนอชื่อมาได้มีการอภิปราย และไม่ถือว่าเป็นรอยร้าว เป็นการกระทบกระทั่งกันตามปกติ มีความเข้าใจกันแล้ว แต่อาจยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องคุยกันในรายละเอียดต่อ ขณะที่กระแสสังคมที่ไม่เชื่อมั่นต่อการทำงานของพรรคเพื่อไทยนั้นไม่กังวล เพราะข่าวในโลกโซเชียลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแบบรวดเร็ว ส่วนที่พรรคเสรีรวมไทยเข้าไปร่วมโหวตด้วย ทั้งที่มีข้อตกลงว่าจะไม่เข้าร่วมนั้น ก็มีเป็นบางคน และเป็นคนเดิม ไม่ใช่เรื่องแปลก

 

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สาเหตุที่พรรคเพื่อไทยไม่ร่วมในการลงมติด้วย เนื่องจากเห็นว่า ยังมีบุคคลที่ไม่ได้ถูกอภิปรายนั่นคือ พล.อ. อนุพงษ์ ซึ่งมีชื่ออยู่ในญัตติ จึงถือว่าการอภิปรายยังไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังไม่มีผู้สรุปการอภิปรายก่อนลงมติตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ หากเราเข้าร่วมประชุมและลงมติ เท่ากับว่ายอมรับการใช้อำนาจไม่ชอบธรรมของระบบเสียงข้างมาก ซึ่งฝ่ายค้านก็ได้มีการนัดแต่งชุดดำเพื่อประท้วงอำนาจเผด็จการ

 

ส่วนกรณีที่พรรคอนาคตใหม่ร่วมโหวตและลงมตินั้น ถือว่าเป็นสิทธิ เพราะการลงมติเป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคน ส่วนที่มีข่าวว่าเป็นความขัดแย้งนั้นมองว่า เป็นยุทธการ ข้อมูลข่าวสาร หรือไอโอ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า พรรคเพื่อไทยและอดีตพรรคอนาคตใหม่มีความขัดแย้งกัน และมองว่า มีอำนาจ มีคำสั่งที่สามารถสั่งสภาฯ ได้ โดยอาจเป็นคำสั่งมาจากทางทำเนียบรัฐบาล

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising