×

สภาลงมติไว้วางใจนายกและ 5 รัฐมนตรี เมื่อ ‘เรือแป๊ะ’ ผ่านพ้นมรสุมซักฟอกครั้งแรก

28.02.2020
  • LOADING...

วันนี้ (28 กุมภาพันธ์) การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาเริ่มต้นขึ้นในเวลา 09.30 น. โดยมี ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ในที่ประชุม เริ่มต้นด้วยการหารือของสมาชิกก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระ

 

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย จังหวัดน่าน หารือว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าญัตติไม่ไว้วางใจที่จะมีการลงมติวันนี้ยังไม่สิ้นสุด โดย นพ.ชลน่าน กล่าวว่าผู้ที่ถูกยื่นญัตติยังไม่ได้รับการอภิปรายจนครบและยังไม่ได้มีการอภิปรายสรุป ถึงแม้ว่าจะมีการลงมติให้ปิดอภิปรายก็ตาม ดังนั้นพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าญัตติยังไม่สมบูรณ์และไม่ชอบด้วยบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุม

 

ด้านประธานวิปรัฐบาล วิรัช รัตนเศรษฐ ลุกขึ้นมาหารือว่าฝ่ายรัฐบาลทำทุกอย่างตามข้อบังคับ การจะเข้าร่วมพิจารณาหรือไม่เข้าร่วมเป็นเรื่องของฝ่ายค้าน และขอบคุณสมาชิกฝ่ายรัฐบาลที่เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน

 

ส่วน วีระกร คำประกอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดนครสวรรค์ ตามข้อบังคับของการประชุมนั้นเป็นสิทธิของผู้ที่ยื่นญัตติจะขอสรุปหรือไม่สรุปการอภิปรายก็ได้ แต่เมื่อวานนี้ (27 กุมภาพันธ์) ประธานในที่ประชุมได้ถามแล้วถามอีกว่าจะมีผู้อภิปรายปิดหรือไม่ แต่ไม่มีใครตอบ แล้วก็วอล์กเอาต์กันไป ซึ่งในอดีตมีกรณีการวอล์กเอาต์อย่างนี้บ่อย แต่ในปัจจุบันก็ต้องขอขอบคุณฝ่ายค้านที่นานๆ ใช้ที เป็นสิทธิของฝ่ายค้านที่จะเข้าหรือไม่เข้าก็ได้ 

 

หลังจากนั้น ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็เข้าสู่ระเบียบวาระการลงมติในญัตติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นๆ 

 

 

เริ่มต้นการลงมติที่นายกรัฐมตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยผลการลงมติในญัตติไม่ไว้วางใจ ดังนี้

  • จำนวนผู้เข้าประชุม 323 คน
  • ไม่ไว้วางใจ (เห็นด้วย) จำนวน 49 คน
  • ไว้วางใจ (ไม่เห็นด้วย) จำนวน 272 คน
  • งดออกเสียง 2 คน

 

ส่วนลำดับที่ 2 คือ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โดยผลการลงมติในญัตติไม่ไว้วางใจ ดังนี้

  • จำนวนผู้เข้าประชุม 329 คน
  • ไม่ไว้วางใจ (เห็นด้วย) จำนวน 50 คน
  • ไว้วางใจ (ไม่เห็นด้วย) จำนวน 277 คน
  • งดออกเสียง 2 คน

 

ลำดับที่ 3 คือ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี โดยผลการลงมติในญัตติไม่ไว้วางใจ ดังนี้

  • จำนวนผู้เข้าประชุม 328 คน
  • ไม่ไว้วางใจ (เห็นด้วย) จำนวน 54 คน
  • ไว้วางใจ (ไม่เห็นด้วย) จำนวน 272 คน
  • งดออกเสียง 2 คน

 

ลำดับที่ 4 คือ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยผลการลงมติในญัตติไม่ไว้วางใจ ดังนี้

  • จำนวนผู้เข้าประชุม 328 คน
  • ไม่ไว้วางใจ (เห็นด้วย) จำนวน 54 คน
  • ไว้วางใจ (ไม่เห็นด้วย) จำนวน 272 คน
  • งดออกเสียง 2 คน

 

ลำดับที่ 5 คือ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ โดยผลการลงมติในญัตติไม่ไว้วางใจ ดังนี้

  • จำนวนผู้เข้าประชุม 329 คน
  • ไม่ไว้วางใจ (เห็นด้วย) จำนวน 55 คน
  • ไว้วางใจ (ไม่เห็นด้วย) จำนวน 272 คน
  • งดออกเสียง 2 คน

 

และลำดับสุดท้ายคือ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยผลการลงมติในญัตติไม่ไว้วางใจ ดังนี้

  • จำนวนผู้เข้าประชุม 331 คน
  • ไม่ไว้วางใจ (เห็นด้วย) จำนวน 55 คน
  • ไว้วางใจ (ไม่เห็นด้วย) จำนวน 269 คน
  • งดออกเสียง 7 คน

 

 

สำหรับประเด็นที่น่าสนใจในการลงมติครั้งนี้คือแม้ว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะไม่ได้รับการอภิปรายเนื่องจากหมดเวลา แต่ได้รับเสียงไว้วางใจมากที่สุด นั่นคือ 277 เสียง 

 

ส่วนผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจน้อยที่สุดคือ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้รับเสียงไว้วางใจ 269 เสียง ดังนั้นทั้งหมดที่ถูกยื่นญัตติและอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ถือว่าได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งต่อไป

 

สำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคฝ่ายค้านที่มีมติจะไม่เข้าร่วมการประชุม แต่ปรากฏว่ามี ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยบางส่วนเข้าร่วมการประชุม ส่วน ส.ส. ที่เคยสังกัดพรรคอนาคตใหม่โดยส่วนใหญ่เข้าร่วมการประชุมและลงมติ ทั้งนี้ปรากฏภาพ อนุมัติ ซูสารอ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาชาติ ที่ย้ายที่นั่งมาอยู่ฝั่งรัฐบาลโดยที่ยังสังกัดพรรคฝ่ายค้าน

 

 

ปิดท้ายการประชุมด้วยประธาน ชวน หลีกภัย ขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ทำให้สภาผู้แทนราษฎรได้ทำหน้าที่สำเร็จลุล่วงมา 2 สมัยประชุมแล้ว แม้ว่าก่อนหน้านี้จะไม่ได้มีสภามานานกว่า 5 ปี และหลังจากนั้นสมาชิกลุกขึ้นยืนเพื่อรับฟังพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุม โดยมี สรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้อ่าน

 

ทั้งนี้การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี 4 เดือน และเป็นครั้งแรกของ พล.อ. ประยุทธ์ ที่ต้องเผชิญกับการตรวจสอบในระบบรัฐสภา ที่ถึงแม้จะอยู่ในอำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีมาเกือบ 6 ปี แต่ก็ไม่เคยถูกกระบวนการนิติบัญญัติตรวจสอบ เนื่องจากอยู่ในสถานการณ์พิเศษ กระทั่งเข้าสู่สภาวะปกติและอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X