วันนี้ (5 มกราคม) ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 ในช่วง 10 วันอันตรายต่อเนื่องเป็นวันที่ 9
ดนุชากล่าวว่า ตามที่รัฐบาลรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ในปีนี้ ถือเป็นช่วงคุมเข้มตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2567 ถึง 5 มกราคม 2568 ภายใต้การขับขี่ปลอดภัยเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ ซึ่งเป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะสร้างวัฒนธรรมการขับขี่ที่ปลอดภัย ต้องขอขอบคุณทางเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ดำเนินการอย่างเต็มที่ในช่วงที่ผ่านมา
โดยสถิติสะสม รวม 9 วัน ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2567 – 4 มกราคม 2568 เกิดอุบัติเหตุ 2,322 ครั้ง บาดเจ็บ 2,251 คน ผู้เสียชีวิต 393 คน
ซึ่งข้อมูลอุบัติเหตุในวันที่ 4 มกราคม 2568 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นทั้งหมด 169 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 164 คน เสียชีวิต 23 คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือจังหวัดตรัง จำนวน 11 ครั้ง, รองลงมาเป็นจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 8 ครั้ง ตามด้วยจังหวัดน่าน, ปราจีนบุรี, เชียงราย และแพร่ จังหวัดละ 7 ครั้ง
จำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดอยู่ที่จังหวัดตรัง, นราธิวาส, อุตรดิตถ์ และนครปฐม จังหวัดละ 2 คน ส่วนจำนวนผู้บาดเจ็บที่แอดมิตเข้ารักษาในโรงพยาบาล สูงสุดที่จังหวัดตรัง จำนวน 11 คน รองลงมาเป็นจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 9 คน จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 8 คน จังหวัดเชียงรายและน่าน จังหวัดละ 7 คน
“จากข้อมูลเราสันนิษฐานว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมาจากการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด 63 ครั้ง มีการตัดหน้ากระชั้นชิด 40 ครั้ง ทัศนวิสัยไม่ดีประมาณ 30 ครั้ง ดื่มแล้วขับ 26 ครั้ง”
สำหรับประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดเป็นรถจักรยานยนต์ จำนวน 145 คัน รองมาเป็นรถเก๋ง 6 คัน รถปิกอัพ รถกระบะ รถจักรยาน อย่างละ 5 คัน
ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตทั้ง 23 คน แบ่งเป็นการเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ จำนวน 14 คน เสียชีวิตระหว่างนำส่งโรงพยาบาล 1 คน เสียชีวิตที่โรงพยาบาล 8 คน โดยมีมูลเหตุสันนิษฐานว่าขับรถเร็วกว่ากฎหมายกำหนดจำนวน 11 คน มีพฤติกรรมเสี่ยงคือไม่สวมหมวกนิรภัย 7 คน โดยผู้เสียชีวิตจากยานพาหนะสูงสุดเป็นรถจักรยานยนต์ 17 คน และรถเก๋ง 3 คน เราพบพฤติกรรมเสี่ยง ดื่มแล้วขับ 547 คน มีผู้ขับขี่ที่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 3,687 คน และมีการขับขี่โดยไม่สวมหมวกนิรภัย 10,469 คน
ดนุชาระบุว่า ในช่วงวันนี้จะมีการดำเนินการอย่างเข้มข้น โดยตนมอบหมาย 4-5 เรื่อง ได้แก่
1. ขอให้ทางจังหวัดเน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายตามมาตรการอย่างเข้มข้น จริงจัง และต่อเนื่อง ให้ความสำคัญในการบริหารจุดบริการประชาชน จุดพักรถ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ขับรถติดต่อกันเป็นเวลานาน
2. ขอให้อำนวยความสะดวกด้านความปลอดภัยและดูแลนักท่องเที่ยวที่ยังตกค้างในสถานีตามจังหวัดต่างๆ ให้สามารถเดินทางสู่จุดหมายอย่างปลอดภัย
3. ขอให้ทางจังหวัดบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อติดตามและตรวจสอบข้อมูล
4. ขอให้จังหวัดสร้างการรับรู้ถึงพฤติกรรมเสี่ยงหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บและเสียชีวิต
5. ขอให้ประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้เกี่ยวกับการขับขี่สาธารณะในพื้นที่ที่มีทัศนวิสัยต่ำ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ