×

ธนาคารโลกชี้ไทยจำเป็นต้อง ‘ปฏิรูปเชิงลึก’ แม้แต่เรื่องส่งออกที่ต้องกระจายกลุ่มสินค้ามากขึ้น

31.03.2023
  • LOADING...
ไทย ปฏิรูป

อาดิตยา แมตทู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก มองว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจจะเติบโตดีขึ้นจากปีก่อน โดยคาดว่า GDP จะเติบโต 3.4% ในปีนี้ เทียบกับการเติบโต 2.6% เมื่อปีก่อน ด้วยแรงหนุนจากการท่องเที่ยว แม้ว่าจะเผชิญกับการส่งออกที่ชะลอลงตามเศรษฐกิจโลกที่หดตัว 

 

อย่างไรก็ตาม ไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูปในเชิงลึกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมือง ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงระดับ 86% ต่อ GDP ความท้าทายเรื่องสังคมสูงวัย รวมทั้งเรื่องของการส่งออกซึ่งหากเป็นกลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่อิเล็กทรอนิกส์ยังมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำ


บทความที่เกี่ยวข้อง


“ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพ แต่จำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปเชิงลึกมากขึ้น” อาดิตยากล่าว

 

ส่วนมุมมองต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นในปี 2023 เนื่องจากการกลับมาเปิดประเทศของจีน ในขณะที่อัตราการขยายตัวของประเทศส่วนใหญ่ที่เหลือในภูมิภาคคาดว่าจะชะลอตัวลงหลังจากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปีที่ผ่านมา 

 

อย่างไรก็ตาม อาจมีข้อจำกัดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น และสภาวะทางการเงินที่ตึงตัวเพื่อตอบสนองต่อเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกคาดว่าจะเร่งตัวขึ้นเป็น 5.1% ในปี 2566 จาก 3.5% ในปี 2565 เนื่องจากการกลับมาเปิดประเทศของจีน ซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับ 5.1% จาก 3% ในปีที่ผ่านมาการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคไม่รวมประเทศจีนคาดว่าจะอยู่ในระดับปานกลางถึง 4.9% จากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งหลังการระบาดของโรคโควิดที่ 5.8% ในปี 2565 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อและหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นในบางประเทศได้ส่งผลกระทบต่อการบริโภค

 

มานูเอลา วี. เฟอโร รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า “แม้ว่าประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกได้ผ่านความยากลำบากจากสถานการณ์โรคระบาด แต่ตอนนี้ต้องมารับมือกับภูมิทัศน์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น เพื่อให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ จึงยังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดการส่งเสริมนวัตกรรม เพิ่มผลิตภาพ และวางรากฐานสำหรับการฟื้นตัวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

 

ในบรรดาประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในภูมิภาคส่วนใหญ่ รวมถึงอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในระดับปานกลางในปี 2023 เนื่องจากการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2022 สำหรับประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวอย่างรวดเร็วในปี 2023 ยกเว้นกรณีของฟิจิที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษในปี 2022 มีแนวโน้มขยายตัวในระดับปานกลาง

 

ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมีการเติบโตที่สูงกว่าและมีเสถียรภาพมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคอื่น ส่งผลให้ความยากจนและความเหลื่อมล้ำลดลงอย่างเห็นได้ชัด 

 

อย่างไรก็ตามความพยายามในการเพิ่มระดับรายได้ต่อหัวให้ทันประเทศเศรษฐกิจหลักได้ชะงักลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเติบโตของผลิตภาพและการปฏิรูปโครงสร้างได้ชะลอตัวลง ดังนั้น การจัดการกับ ‘ช่องว่างการปฏิรูป’ ที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคบริการ จะสามารถขยายผลกระทบของการปฏิวัติดิจิทัล และเพิ่มประสิทธิภาพในภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่ด้านค้าปลีกและการเงิน ไปจนถึงด้านการศึกษาและสุขภาพ

 

นอกจากนี้ เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ยังต้องรับมือกับความท้าทายที่สำคัญ 3 ประการ ที่ผู้กำหนดนโยบายต้องเร่งดำเนินการเพื่อรักษาและเร่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากผลของโควิด ได้แก่ สถานการณ์ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการค้า การลงทุน และเทคโนโลยีที่มีการแลกเปลี่ยนกันในภูมิภาค 

 

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วของประเทศหลักๆ ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดความท้าทายและความเสี่ยงชุดใหม่ที่มีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ดุลการคลัง และด้านสุขภาพ และประการสุดท้าย ภูมิภาคนี้มีความเสี่ยงเป็นพิเศษจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความหนาแน่นของประชากร และกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามแนวชายฝั่ง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X