สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง พบว่า ‘ประเทศไทย’ ต้องการเงินทุนอีกเกือบ 1.5 ล้านล้านบาทต่อปี เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย ภายในปี 2030 ตามที่ให้พันธสัญญาไว้กับสหประชาติ พร้อมทั้งเผยข้อเสนอแนะเพื่อไม่ให้ไทยหลุดเป้า ‘ขั้นวิกฤต’
ดร.จุฑาทอง จารุมิลินท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กล่าวในงานเปิดตัว ‘กรอบการเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การประกันภัยที่ทุกคนเข้าถึงได้ และการเงินเพื่อการบริหารความเสี่ยงสำหรับประเทศไทย (INFF for Thailand)’ ซึ่งจัดโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP Thailand) ร่วมกับมูลนิธิสถาบันนโยบายเศรษฐกิจการคลังว่า จากการคำนวณของคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) พบว่า ประเทศไทยต้องการเงินทุนเพิ่มเติมอีก 1.27-1.28 ล้านล้านบาทต่อปี (หรือคิดเป็นกว่า 11% ต่อ GDP) เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมาย ภายในปี 2030 ตามที่ไทยได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับสหประชาติ
อย่างไรก็ตาม สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง พบว่า ด้วยผลกระทบจากการระบาดของโควิดและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้ความต้องการเงินทุนเพิ่มเติมของไทยเพิ่มเป็น 2.54 ล้านล้านบาท ในปี 2022 ในกรณีฐาน และอาจต้องการเงินทุนเพิ่มถึง 2.68 ล้านล้านบาท ในกรณีที่แย่ที่สุด (Worst Case)
ขณะที่ในปีถัดๆ ไป (ปี 2023-2030) ความต้องการเงินทุนของไทยเมื่อผนวกผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเข้าไปแล้ว จะอยู่เกือบ 1.5 ล้านล้านบาทต่อปี
โดยจากการรวบรวมข้อมูลของสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังยังพบว่า ระหว่างปี 2013-2021 แหล่งเงินทุนด้านการพัฒนาของไทย (Thailand’s Development Finance Resource) ส่วนใหญ่มาจากภาคเอกชน คิดเป็น 51.4% ขณะที่เป็นเงินทุนจากภาครัฐ 48.6%
นอกจากนี้ส่วนใหญ่เป็นแหล่งเงินทุนในประเทศ คิดเป็นสัดส่วนถึง 96.3% และมาจากต่างประเทศเพียง 3.7% เท่านั้น
“ถ้าเราพึ่งพาการจัดเก็บรายได้จากภาษีอย่างเดียวคง ‘ไม่เพียงพอต่อการบรรลุเป้าหมาย’ ภายในปี 2030 แต่ภาครัฐเองยังมีช่องทางระดมทุนอื่นๆ เช่น ขอเงินกู้ ซึ่งต้องเตรียมโครงการไปก่อน และพร้อมรับกับการประเมิน ขณะที่ภาคเอกชนเองก็จะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ” ดร.จุฑาทองกล่าว
ทั้งนี้ กรอบการเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (An Integrated National Financing Framework: INFF) เป็นกรอบที่มุ่งส่งเสริมการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินให้สอดคล้องกับเป้าหมายระดับชาติ เช่น บูรณาการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปจนถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
ขณะที่ข้อมูลจาก Sustainable Development Report 2022 พบว่า ประเทศไทยยังดำเนินการตามเป้าหมาย SDGs ได้ ‘ค่อนข้างดี’ เมื่อเทียบกับหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม เพื่อทำให้ไทยบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้ดีขึ้น ดร.จุฑาทองแนะนำว่า ไทยควรระบุประเด็นเรื่อง SDGs ไว้ในงบประมาณชาติด้วย
ข้อแนะนำเพื่อไม่ให้ ‘ไทย’ หลุดกรอบเป้าหมาย SDGs ‘ขั้นวิกฤต’
- เพิ่มการระดมทุนทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผ่านการปรับปรุงกระบวนการและการบริหารงานภาษีต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี, ส่งเสริมการลงทุนในโครงการ SDGs ต่างๆ, สนับสนุนการออกพันธบัตรต่างๆ ที่มุ่งเน้นการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ SDGs เช่น กรีนบอนด์, SDGs บอนด์, บลูบอนด์ และพันธบัตรที่มุ่งเน้นการลงทุนที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน (Transition Bond) เป็นต้น
- เพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงิน เช่น ติดตามการใช้จ่ายในเป้าหมาย SDGs (SDGs Coding and Tracking) เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ ESG และเปิดเผยรายจ่ายด้านภาษีลงไปในเอกสารงบประมาณของประเทศ เพื่อสร้างความโปร่งใสต่อประชาชน
- บริหารความเสี่ยงที่คุกคามการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อปกป้องทรัพย์สินของรัฐมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลไทยมักแบกรับความเสี่ยงไว้เอง (Risk Retention) เช่น การจัดตั้งงบประมาณฉุกเฉินหรือกู้เงินเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ
- ปรับปรุงการบริหารจัดการ ดูแล และประเมินผล (Governance) ที่เกี่ยวกับการลงทุนใน SDGs ต่างๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- นักลงทุนแห่เข้าหุ้นตลาดเกิดใหม่กว่า 1 พันล้านดอลลาร์ต่อวัน แต่ระวัง ‘งานเลี้ยงอาจใกล้เลิกรา’
- การลงทุนฟื้นตัว ‘เร็วและแรง’ แซงเศรษฐกิจไปไหม?
- Goldman Sachs แนะกลยุทธ์การลงทุน ยึดมั่นเป้าหมาย อย่าวิตกกับภาวะถดถอยมากเกินไป
อ้างอิง: