×

อดีต รมว.ต่างประเทศ มองผู้เรียกร้องยกเลิก MOU 44 เหตุผลย้อนแย้ง ย้ำไม่ทำไทยเสียเปรียบ

โดย THE STANDARD TEAM
10.11.2024
  • LOADING...
MOU 44

วันนี้ (10 พฤศจิกายน) นพดล ปัทมะ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก MOU 44 และทำ MOU ใหม่ โดยมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงและกฎหมาย 2 ประเด็นใหญ่

 

นพดลระบุว่า ประเด็นแรก กล่าวหาว่า MOU 44 ไปยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศ และจะทำให้ไทยเสียสิทธิทางทะเล ซึ่งไม่เป็นความจริง เนื่องจาก 4 เหตุผลคือ

 

  1. ไม่มีเนื้อหาของ MOU 44 ใดๆ เลยที่ไปยอมรับเส้นที่กัมพูชาลาก

 

  1. ฝ่ายไทยไม่เคยมีการกระทำหรือพฤติกรรมไปยอมรับเส้นของกัมพูชา

 

  1. ยิ่งกว่านั้น เนื้อหาในข้อ 5 ของ MOU 44 ระบุไว้ชัดเจนว่า ตราบใดที่ยังไม่มีข้อตกลงเรื่องการแบ่งเขตทางทะเล ให้ถือว่าเนื้อหา MOU 44 และการเจรจาตาม MOU 44 จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของทั้งไทยและกัมพูชา

 

และ 4. แผนผังแนบท้าย MOU ระบุไว้ว่า ทั้ง 2 เส้นที่ไทยและกัมพูชาต่างอ้างสิทธิ ถ้าตีความว่าการทำ MOU เท่ากับไทยยอมรับเส้นของกัมพูชา ก็ต้องตีความในทำนองเดียวกันว่ากัมพูชายอมรับเส้นที่ไทยยึดถือด้วยใช่หรือไม่ ซึ่งกรมสนธิสัญญาและกฎหมายแถลงไปแล้วว่า MOU เป็นเพียงข้อตกลงไปเจรจา ไม่ใช่เป็นการยอมรับเส้นของอีกฝ่าย

 

ส่วนประเด็นที่ 2 ที่กล่าวหาว่าถ้ารัฐบาลนี้เจรจากับกัมพูชาแล้วขุดน้ำมันและก๊าซในพื้นที่พัฒนาร่วมมาใช้ก่อน จะทำให้ไทยเสียสิทธิในเขตทางทะเลแน่ เรื่องนี้ถูกในทางทฤษฎี แต่ข้อสันนิษฐานผิด เนื่องจากรัฐบาลและคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) จะทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะการเจรจาเรื่องแบ่งเขตทางทะเล และเรื่องพื้นที่พัฒนาร่วม หรือ JDA ต้องทำคู่ผูกติดกันไป แยกจากกันไม่ได้ ตามที่ระบุในข้อ 2 ของ MOU 44 นี่คือข้อดีของ MOU แล้วจะเรียกร้องให้ยกเลิก MOU 44 ทำไม ทั้งที่ MOU ป้องกันความกังวลของผู้คัดค้านเอง

 

นอกจากนั้น ถ้ายกเลิก MOU 44 จะมีผลตามมาคือ 1. การประกาศเขตไหล่ทวีปของแต่ละฝ่ายยังคงอยู่ พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน 26,000 ตารางกิโลเมตรจึงยังคงอยู่ รวมถึงไทยและกัมพูชาไม่สามารถเข้าไปสำรวจขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนได้ ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายไม่มีความผูกพันที่จะต้องเจรจาเรื่องแบ่งเขตทางทะเลและพัฒนาร่วมควบคู่กันไป ซึ่งไม่เป็นผลดี

 

ทั้งนี้ หากยกเลิก MOU 44 ข้อผูกพันให้มีการเจรจาเรื่องแบ่งเขตทางทะเลตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ตามที่ระบุในข้อ 3 ของ MOU ก็จะสิ้นผล ซึ่งเมื่อไทยไม่ยอมรับเส้นของกัมพูชา นี่คือช่องในการเจรจาให้ได้ข้อสรุปที่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์

 

“ในประเด็น MOU 44 นี้ คนที่สงสัยโดยสุจริตก็มี แต่น่าเสียดายที่มีหลายคนที่ในอดีตเคยร่วมสร้างวาทกรรมเสียดินแดนในปี 2551 เพื่อหวังล้มรัฐบาลที่มี สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี โดยใช้ความเท็จใส่ร้ายว่าผมซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ทำให้ไทยเสียปราสาทเขาพระวิหารให้กัมพูชา ทั้งที่ไทยยกปราสาทให้กัมพูชาตามคำตัดสินศาลโลกไปแล้วตั้งแต่ปี 2505” นพดลกล่าว

 

นพดลชี้แจงว่า ข้อเท็จจริงในปี 2551 คือกัมพูชาเอาตัวปราสาทและพื้นที่ทับซ้อนไปขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่รัฐบาลไทยเจรจาจนกัมพูชายอมตัดพื้นที่ทับซ้อนออก และยอมขึ้นทะเบียนมรดกโลกเฉพาะตัวปราสาทซึ่งเป็นของเขามาเกือบ 50 ปีแล้ว แต่ตนถูกโจมตีใส่ร้ายและไปฟ้องเอาผิดตน ซึ่งต่อมาในปี 2558 ศาลฎีกาฯ ก็พิพากษายกฟ้องตน และในคำพิพากษาก็ระบุว่าสิ่งที่ตนทำถูกต้องตามสถานการณ์ ไม่กระทบสิทธิในดินแดนของไทย และไทยจะได้ประโยชน์จากการกระทำของตน

 

“ผมจึงไม่อยากเห็นการสร้างวาทกรรมเสียดินแดนอีก เพราะเคยสร้างความเสียหายให้ประเทศเมื่อครั้งจุดประเด็นเรื่องเขาพระวิหารในปี 2551 ซึ่งทำให้มีการปะทะตามแนวชายแดน มีทหารเสียชีวิต และทำให้ในปี 2554 กัมพูชากลับไปยื่นตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 2505 ส่งผลให้ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาเสื่อมทรามลงในเวลานั้น”

 

นพดลกล่าวด้วยว่า ภายหลังรัฐประหารปี 2557 ก็มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน OCA ตามกรอบ MOU 44 จนถึงปี 2566 เกือบ 8 ปี ซึ่งก็เป็นการทำตามกรอบที่เหมาะสม แต่ตอนนี้กลับลุกขึ้นมาเรียกร้องให้ยกเลิกสิ่งที่พวกตนเคยใช้ดำเนินการ ประชาชนน่าจะคิดได้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่าหากมีข้อห่วงใยโดยสุจริตควรส่งไปยังรัฐบาลดีกว่ากล่าวหาและบิดเบือนประเด็น

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐ นำโดย สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รองหัวหน้าพรรค แถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก MOU 44 เนื่องจากแม้ไม่เสียดินแดนเกาะกูด แต่จะทำให้ไทยเสียประโยชน์ด้านการเจรจาพลังงาน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising