×

“Made in China ขายไม่ได้ แต่ Made in Thailand ยังขายได้อยู่ แต่เราจะต้องเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้แข่งขันกับโลกได้”

โดย THE STANDARD TEAM
19.11.2024
  • LOADING...

ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด, THE EM DISTRICT และ Bangkok Mall และรองประธานกรรมการ บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด พูดถึงกลยุทธ์การท่องเที่ยวไทยสำหรับการแข่งขันในโลกยุคใหม่ บนเวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024 บนเวที Reshaping Thai Tourism: A Winning Strategy for Global Competitiveness ปฏิรูปการท่องเที่ยวไทย: กลยุทธ์สู่การแข่งขันระดับโลก

 

หลังการแพร่ระบาดของโควิด ภูมิทัศน์โลกเปลี่ยนแปลงไปในหลายมิติ ทั้งในด้านของสงครามร้อน ภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามการค้า จึงทำให้แนวคิดโลกที่เคยเชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างโลกาภิวัตน์สิ้นสุดลง

 

โดยผลกระทบระหว่างสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทำให้ประเทศมีความจำเป็นที่จะยกระดับกำลังการผลิต และนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีเพื่อที่จะแข่งขันกับประเทศทางฝั่งโลกตะวันตก ทำให้มีความสามารถผลิตสินค้าราคาถูกจำนวนมาก และสินค้าเทคโนโลยีอย่าง EV และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ แต่กลับไม่สามารถส่งออกไปยังประเทศฝั่งตะวันตกได้

 

ศุภลักษณ์ อัมพุช กล่าวว่า ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศที่มีความเป็นกลางไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากการกีดกันทางการค้าครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสในการแทรกตัวขึ้นมาเพื่อคว้าโอกาสท่ามกลางความปั่นป่วนของโลกในครั้งนี้ โดยมองว่าประเทศไทยต้องทำ 5 สิ่งคือ

 

1. Trade Center

 

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของเธอมองว่าทางรอดของประเทศไทยไม่ใช่การเปลี่ยนอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกดังเช่นประเทศอื่นๆ ในอาเซียน แต่ต้องเปลี่ยนตัวเองเป็น Trade Center ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

โดยมีฮ่องกงและดูไบเป็นโมเดล จากการที่มีการยกเว้นภาษีในการนำเข้าสินค้า และขายให้กับนักท่องเที่ยวจากการที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมามากกว่า 30 ล้านคนต่อปี

 

2. Infrastructure and Logistic Hub

 

เพื่อที่จะส่งเสริมการเป็น Trade Center ประเทศไทยจึงจำเป็นที่จะต้องเป็น Logistic Hub ในการกระจายและขนส่งสินค้าของภูมิภาคนี้ ทั้งทางเรือ ทางอากาศ และทางบก อีกทั้งยังเป็นการดึงดูดให้คนเดินทางมายังประเทศไทยให้เยอะมากขึ้น และสะดวกมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากในทางภูมิศาสตร์ประเทศไทยอยู่ตรงกลางระหว่างประเทศสำคัญต่างๆ ทั้งประเทศอินเดีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และจีน

 

3. Aviation Hub 

 

จากประเด็นทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ฮ่องกงได้รับผลกระทบในเรื่องการเดินทาง ในปัจจุบันประเทศไทยจึงต้องแข่งขันกับสิงคโปร์ในการเป็น Aviation Hub โดยการขยายสนามบินสุวรรณภูมิทั้งในส่วนของรันเวย์และอาคารผู้โดยสาร โดยต้องตั้งเป้าให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี หรือแม้แต่การเพิ่มจำนวนสนามบินอย่างการสร้างสนามบินอู่ตะเภา และสนามบินอันดามัน เพื่อแข่งขันกับสิงคโปร์ที่จะมีการขยายสนามบินชางงีให้แล้วเสร็จในปี 2030

 

4. Entertainment Complex 

 

ยกระดับประเทศไทยให้มีศูนย์ให้ความบันเทิงครบวงจรตั้งแต่ Shopping Paradise, Food Destination, Entertainment and Attraction, MICE, Festival, Ecotourism และ Cruise Line โดยที่ต้องมีการยกระดับ Start-up และ SMEs ให้สามารถทำงานได้แบบ O2O ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์

 

และการสร้าง Entertainment Complex ที่มีโมเดลจากสิงคโปร์ โดยมีส่วนประกอบของคาสิโน, ศูนย์การค้า, ฮอลล์คอนเสิร์ต และความบันเทิงอื่นๆ ที่สามารถมอบประโยชน์ให้กับธุรกิจรายย่อย และเป็นจุดดึงดูดหลักของประเทศไทย

 

5. Artificial Attraction and Regional Office 

 

ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องสร้างการเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ นอกเหนือจากการใช้แหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติ อย่างเช่นการจัดคอนเสิร์ต Taylor Swift ของสิงคโปร์ และการเป็นศูนย์กลางการตั้งสำนักงานขององค์กรระดับโลก

 

โดยสุดท้ายการที่จะทำให้ทั้ง 5 สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้ ทุกคนจำเป็นที่จะต้องมีการเสียสละประโยชน์ส่วนตน เพื่อสามารถต่อภาพจิ๊กซอว์ทั้ง 5 เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยแข่งขันกับโลกได้ในอนาคต

 


 

🔥Rerun Ticket โอกาสสุดท้ายของงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024🔥

 

ซื้อบัตรรับชมออนไลน์สุดคุ้ม! ราคาพิเศษเพียง 990.- https://bit.ly/tsef2024UDRerunVT

🎟️เปิดจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 – 18 พฤษภาคม 2568

⚡เปิดให้เข้ารับชมนานถึง 6 เดือนเต็ม!

⚡พร้อมรับสรุปเนื้อหา Key Takeaway ทุกหัวข้อ

⚡ชมออนไลน์สะดวกจากเว็บไซต์ อยู่ที่ไหนก็ดูได้

⚡เก็บครบประเด็นเศรษฐกิจแห่งอนาคต 3 วันเต็ม กว่า 30 เซสชัน

⚡ฟังผู้เชี่ยวชาญตัวจริงจากทุกแวดวงของไทย เศรษฐกิจ / ภูมิรัฐศาสตร์ / AI / EV

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X