×

การฟื้นตัวแบบรูปตัว K ของเศรษฐกิจไทย: ในวิกฤตยังมีโอกาส

31.05.2021
  • LOADING...
K-Shaped Recovery

วันนี้ผมมาชวนคุยเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบรูปตัว K (K-Shaped Recovery) ในกรณีของประเทศไทยครับ

 

ก่อนอื่นต้องบอกว่าการโยงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกับตัวอักษรภาษาอังกฤษโดยนักเศรษฐศาสตร์มีมานานแล้ว ที่คุ้นหูกันก่อนหน้า เช่น การฟื้นตัวแบบรูปตัว V ที่เศรษฐกิจสามารถฟื้นขึ้นจากจุดต่ำสุดได้ค่อนข้างเร็วและแรง ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกในภาพรวมในปีนี้เป็นแบบนี้ แบบรูปตัว U ที่เศรษฐกิจยังย่ำแย่ต่อเนื่องสักระยะแล้วค่อยฟื้นตัว หรือแบบตัว W ที่ฟื้นชั่วคราวแล้วตกกลับลงไปอีกครั้ง (เศรษฐกิจถดถอยซ้ำสอง หรือ Double-Dip Recession)

 

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งรูปตัว V, U และ W เป็นการมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในองค์รวม แต่การฟื้นตัวแบบรูปตัว K ซึ่งเพิ่งมาใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงวิกฤตโควิด-19 เป็นการมองในรูปขององค์ประกอบย่อย หลักๆ คือนักเศรษฐศาสตร์มองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสองกลุ่มที่ไม่ไปด้วยกัน โดยกลุ่มหนึ่งฟื้นตัวได้ดี ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งยังไม่ฟื้น หรือกระทั่งย่ำแย่ลงต่อเนื่อง เหมือนกับเส้นทแยงมุมของตัวอักษร K ที่มีทั้งชี้ขึ้นและชี้ลง

 

ในกรณีของไทย ถ้าเราติดตามพัฒนาการของธุรกิจที่ส่งออกสินค้า และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เราจะเห็นภาพของตัว K ที่ชัดเจนมาก ในขาบน มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนเมษายน 2564 ขยายตัวร้อยละ 13.1 สูงสุดในรอบ 3 ปี และคาดว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าสองหลัก ตามการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ในขาล่าง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบรุนแรงและยืดเยื้อจากการระบาดของโควิด-19 และคาดว่าจะใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคท่องเที่ยวจะกลับไปเป็นปกติ

 

อนึ่ง การฟื้นตัวแบบรูปตัว K ไม่ได้ใช้จำเพาะกับการแบ่งกลุ่มเศรษฐกิจตามภาคธุรกิจเท่านั้น จริงๆ แล้วในประเทศอุตสาหกรรมหลักมักใช้การฟื้นตัวแบบรูปตัว K บรรยายความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า สำหรับคนรวยเศรษฐกิจฟื้นแล้ว แต่สำหรับคนจนวิกฤตครั้งนี้ยังอีกยาวไกล และทำให้จนลงไปอีก ซึ่งกรณีประเทศไทยมิตินี้ก็เห็นได้ชัดเจนเช่นกัน

 

มองไปรอบๆ ตัว เราจะเห็นผู้มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มากกว่าผู้มีรายได้สูง คนตกงาน และคนที่อาจจะยังมีงาน แต่มีรายได้ลดลงมาก ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย โดยเมื่อต้นปีธนาคารโลกได้วิเคราะห์ไว้ว่า วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ทำให้คนจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 1.5 ล้านคน 

 

ในแง่ของขนาดกิจการ กิจการขนาดเล็กได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และมีความสามารถในปรับตัวน้อยกว่ากิจการขนาดใหญ่ ในขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กต้องปิดกิจการไป หรือต้องลุ้นว่าจะไปต่อได้อีกกี่เดือน กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นตัวแทนของธุรกิจขนาดใหญ่ ขยายตัวถึงร้อยละ 230 ในไตรมาสแรกของปีนี้

 

ประเด็นสำคัญคือ วิกฤตโควิด-19 ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยที่เลวร้ายอยู่แล้วให้เลวร้ายลงไปอีก ก่อนการระบาดของโควิด-19 ผมมักเรียกเศรษฐกิจไทยว่าเป็น ‘เศรษฐกิจสองความเร็ว’ โดยเศรษฐกิจระดับบนเปรียบได้กับรถสปอร์ตที่วิ่งด้วยความเร็วสูง ขณะที่เศรษฐกิจระดับล่างเปรียบได้กับสามล้อถีบ ที่แม้ระยะหลังจะอัปเกรดขึ้นมาเป็นสามล้อเครื่อง แต่ความเร็วก็ยังต่ำกว่าจากเศรษฐกิจระดับบนมาก วิกฤตคราวนี้ทำให้เศรษฐกิจระดับล่างกลับไปเป็นสามล้อถีบอีกครั้ง และถ้าวิกฤตยืดเยื้อยาวนานถึงปีหน้า อาจจะกลายเป็นการเดินหรือการวิ่งแทน

 

แต่เช่นเดียวกับทุกวิกฤตที่มีโอกาสซ่อนอยู่ วิกฤตครั้งนี้ทำให้หลายประเทศทั่วโลกตื่นตัว หันกลับมาคิดเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ผมเชื่อว่าประเทศไทยก็เช่นกัน ภาครัฐควรจะถือโอกาสนี้ยกการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ ทั้งความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ความเหลื่อมล้ำในการถือครองสินทรัพย์ และที่สำคัญยิ่งคือ ความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การศึกษา การรักษาพยาบาล แหล่งเงินทุน ฯลฯ

 

ทั้งนี้ วิกฤตครั้งนี้มีพัฒนาการสำคัญที่ผู้ดำเนินนโยบายน่าจะสามารถใช้ประโยชน์ได้นั่นคือ การเคลื่อนย้ายของคนจำนวนมากจากเมืองใหญ่กลับสู่ถิ่นฐานในต่างจังหวัด ผมคิดว่าเราน่าจะใช้โอกาสนี้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาประเทศให้สมดุลขึ้น เท่าเทียมกันมากขึ้นได้ ที่ผ่านมาการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเป็นแบบหัวโต ตัวลีบ ขับเคลื่อนโดยกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่จำนวนหยิบมือที่ดูดทรัพยากรของทั้งประเทศไปรวมกัน ทิ้งเมืองอื่นไว้เบื้องหลัง ถ้าเราสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้คนที่กลับไปต่างจังหวัด อยู่ต่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาจังหวัดของเขาได้ ก็จะเป็นนิมิตหมายใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

 

การพัฒนาเศรษฐกิจในระยะต่อไปให้เติบโตอย่างสมดุลเชิงพื้นที่เป็นหัวข้อหนึ่งที่งานสัมมนาวิชาการ ‘ประมาณการเศรษฐกิจระยะสั้น และภาพเศรษฐกิจไทยใน 5 ปีข้างหน้า’ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี เมื่อสัปดาห์ก่อน และผมมีโอกาสไปเป็นวิทยากรด้วย ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โมเดลหนึ่งที่คุยกันตอนเตรียมเนื้อหาการสัมมนา คือการแบ่งประเทศเป็นเขตเศรษฐกิจย่อยที่รวมจังหวัดข้างเคียงไว้ด้วยกัน คล้ายกับอีอีซี ซึ่งทำให้ผมนึกถึงการแบ่งประเทศออกเป็นมณฑลในสมัยก่อน แต่รอบนี้ไม่ใช่การแบ่งเพื่อการปกครอง แต่เป็นการแบ่งเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

 

วัตถุประสงค์หนึ่งของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจคือ การรวมกำลังซื้อที่กระจัดกระจายเป็นกลุ่มก้อน ในมุมนี้การที่คนจำนวนมากกลับไปต่างจังหวัดจะมีส่วนเพิ่มกำลังซื้อในต่างจังหวัดได้มาก แต่มีข้อแม้ว่าพวกเขาต้องมีงานทำด้วย ซึ่งงานส่วนหนึ่งอาจจะเป็นงานใหม่ในพื้นที่ ขณะที่งานอีกส่วนหนึ่งอาจเป็นงานประเภทที่สามารถทำจากที่ไหนก็ได้ (Work from Anywhere) ซึ่งอย่างหลังเราอาจจะไม่ได้คิดว่าจะสามารถปฏิบัติได้เป็นวงกว้าง จนกระทั่งเกิดการระบาดของโควิด-19 

 

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X