ไทยกำลังเผชิญภาวะ ‘ขาดแคลนแรงงาน’ พบผู้สมัครงาน 1 คนมีงานรองรับถึง 5 ตำแหน่ง ด้านสภาพัฒน์เตือนแนวโน้มจ่อรุนแรงขึ้น เหตุแรงงานมีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของนายจ้าง
วันนี้ (28 สิงหาคม) ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เตือนว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่งผลให้มีความต้องการแรงงานเพื่อมารองรับการขยายตัวกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ มากขึ้น
โดยตามข้อมูลจากรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2566 ระบุว่า ในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนมิถุนายน 2566 ตำแหน่งงานว่างเฉลี่ยอยู่ที่ 8.3 หมื่นตำแหน่ง ขณะที่มีแรงงานที่ได้บรรจุงานเฉลี่ยอยู่ที่ 1.7 หมื่นตำแหน่ง หมายความว่าผู้สมัครงาน 1 คนมีตำแหน่งงานรองรับถึง 5 ตำแหน่ง
ดนุชาเปิดเผยอีกว่า ภาคส่วนที่พบปัญหาดังกล่าวเป็นพิเศษคือภาคบริการ ขณะที่ภาคการผลิตยังคงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
โดยเลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานอาจมาจากปัญหาแรงงานมีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของนายจ้าง
“สิ่งที่ผมเป็นกังวลคือ ตำแหน่งงานที่ว่างไม่เหมาะกับผู้ที่ได้รับการจ้างงาน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากหลักสูตรการศึกษา หรือจำนวนผู้ที่จบการศึกษาในไทย ซึ่ง 40-50% จบมาจากสายบริหาร ขณะที่ตำแหน่งงานที่นายจ้างต้องการส่วนใหญ่คือแรงงานที่จบมาในสายวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ หรือการผลิต” ดนุชากล่าว
นอกจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานแล้ว สภาพัฒน์ระบุว่า มีอีก 2 ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไปคือ การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการเกษียณอายุของแรงงานทักษะต่ำ เนื่องจากไตรมาส 2 ปี 2566 มีแรงงานทักษะต่ำในภาคเอกชนที่กำลังจะเกษียณอายุกว่า 1.3 ล้านคน ขณะที่แรงงานที่จะเข้ามาทดแทนมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และคนรุ่นใหม่มีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น
อีกประเด็นคือ การจ้างงานและรายได้ของเกษตรกรจากภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากปริมาณฝนสะสมในปัจจุบัน (ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 6 กรกฎาคม 2566) มีค่าต่ำกว่าค่าปกติในทุกภูมิภาค ซึ่งการลดลงของปริมาณน้ำจะส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตร
สำหรับสถานการณ์การจ้างงานและว่างงานโดยรวมในไตรมาสที่ 2 ปรับตัวดีขึ้น โดยจำนวนผู้มีงานทำมีทั้งสิ้น 39.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 1.7% จากการขยายตัวของการจ้างงานสาขานอกภาคเกษตรกรรมที่ 2.5% โดยเฉพาะสาขาโรงแรมและภัตตาคารยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ 11.7% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและการเข้ามาอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่ภาคเกษตรกรรมพบการจ้างงานหดตัวลงเล็กน้อยจากปี 2565 ที่ 0.2% ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาภัยแล้ง ส่วนการว่างงานก็มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีผู้ว่างงานจำนวน 4.2 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานที่ 1.06%