×

เส้นอัตราผลตอบแทน ชี้ว่า ดอกเบี้ยนโยบาย ไทยจะขึ้นไปถึงเท่าไร?

15.06.2022
  • LOADING...
ดอกเบี้ย

ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งสัญญาณต่อเนื่องว่าถึงเวลาที่จะต้องปรับขึ้น ดอกเบี้ยนโยบาย แล้ว คำถามมีอยู่ว่า ดอกเบี้ยนโยบายซึ่งวันนี้อยู่ที่ 0.5% จะปรับขึ้นไปถึงจุดสูงสุด หรือที่เรียกกันว่า Terminal Rate ที่ตรงไหน?

 

ว่าด้วยการพยากรณ์ Terminal Rate ในตลาดสหรัฐฯ นอกจากจะมีตลาดล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยที่มีสภาพคล่องสูง ยังมี Dot Plot ซึ่งเป็นการรวบรวมความเห็นของบรรดานายธนาคารกลางว่าด้วยระดับของดอกเบี้ยนโยบายในแต่ละช่วงเวลาในอนาคต นอกจากสหรัฐฯ แล้วก็แทบไม่ได้ยินว่ามีที่ไหนอีกที่ใช้ Dot Plot

 

ผู้ว่าแบงก์ชาติของเราเองก็เพิ่งให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไม่นานมานี้ ว่าไม่มีการกำหนดเป้าหมายของดอกเบี้ยนโยบาย โดยจะพิจารณาจากข้อมูลต่างๆในช่วงเวลานั้นๆ (Data Dependent)

 

ผู้เขียนจึงใคร่จะนำเส้นอัตราผลตอบแทนมาเป็นตัวช่วยในการพยากรณ์ โดยจะใช้ 2 เส้นมาช่วยกันดู เส้นที่หนึ่งอ้างอิงอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล หรือที่เรียกว่า Bond Curve เป็นข้อมูลเปิดเผยทั่วไปโดยสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เส้นที่สอง เป็นเส้นอัตราผลตอบแทนอนุพันธ์ อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 1 วัน (Thai Overnight Repurchase Rate) เรียกง่ายๆ ว่า Swap Curve

 

ทั้ง Bond Curve และ Swap Curve นี้ มีสภาพคล่องสูง มีปริมาณการซื้อขายในตลาดอัตราดอกเบี้ยทุกวัน ผู้เล่นหลากหลาย รวมถึงนักลงทุนนักเก็งกำไรประเภทสถาบันทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ เราจะใช้อัตราผลตอบแทนช่วงอายุ 2 ปี ด้วยสมมุติฐานว่า วงจรการขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้จะคลี่คลายและสิ้นสุดลงในเวลา 2 ปีข้างหน้า และเป็นช่วงอายุที่นิยมใช้เป็นตัวแทนในการพยากรณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายกันทั่วโลก

 

 

  1. ข้อมูลเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2022 Bond Curve อายุ 2 ปี อยู่ที่บริเวณ 1.80% ชี้ว่า จะมีการเริ่มขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้ และจะขึ้นไปเรื่อยๆ ครั้งละ 0.25% จนถึงจุดสูงสุดที่ 2.25% ในราวครึ่งหลังของปี 2023

 

  1. สำหรับ Swap Curve อายุ 2 ปี อยู่บริเวณ 2.30-2.40% ชี้ว่า ดอกเบี้ยจะเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมเช่นกัน แต่ไปแตะจุดสูงสุดที่ 3.25% และอาจจะมีการประชุม 2 ครั้ง ที่มีการปรับขึ้นครั้งละ 0.50%

 

การนำไปใช้

 

มาถึงตรงนี้ก็ต้องย้ำว่าการประเมิน Terminal Rate ข้างต้นนี้มิใช่เป็นความเห็นของผู้ใดผู้หนึ่ง แต่เป็นของกลไกตลาดดอกเบี้ยเองที่ผลักดันให้เส้นอัตราผลตอบแทนมาอยู่ในจุดนี้ได้ ซึ่งในอดีต หลายครั้งที่เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลก็เคยเป็นดัชนีชี้วัดอนาคตได้ดี (ไม่รวมกรณีของสหรัฐฯ ที่ปรากฏการณ์ Curve Inversion เป็นสัญญาณเตือนเศรษฐกิจถดถอยที่ทุกคนต้องฟัง)

 

อย่างไรก็ตาม บางครั้งบางเวลาราคาตลาดอาจจะตกใจ ผันผวน และเคลื่อนไหวรุนแรงจนเกินเลยความเป็นมาตรวัดพยากรณ์อัตราดอกเบี้ยที่ดีไป ซึ่งตลาดก็พึงต้องผันผวนและเผื่อเหลือเผื่อขาดจากหลากหลายปัจจัยความไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงคราม ราคาพลังงาน รวมถึงการเคลื่อนไหวของตลาดดอกเบี้ยในสหรัฐฯ

 

ในกรณีของการประเมินว่าอาจจะมีการขึ้นดอกเบี้ยทีเดียว 0.50% นั้น ผู้ที่สนับสนุนแนวทางนี้ก็จะอธิบายว่า ปัญหามีความรุนแรง ป่วยการจะให้กินยาเลี้ยงไข้ สู้เข้าห้องผ่าตัดไปเสียเลย การเร่งรีบขึ้นดอกเบี้ยยิ่งเร็วยิ่งมากก็ยิ่งดี เพื่อปราบเงินเฟ้อให้อยู่หมัดโดยไวจึงจะถูกต้อง

 

และการขึ้นดอกเบี้ยทีละ 0.5% ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้วเวลานี้ในสหรัฐฯ มิหนำซ้ำ มีโอกาสสูงที่จะขึ้นทีละ 0.75% เสียด้วย

 

สรุป

 

ด้วยตัวเลขเงินเฟ้อที่เราจะยังคงเห็นตัวเลข 6-7% อย่างต่อเนื่องไปทุกเดือนจนถึงสิ้นปี จึงไม่ควรคิดว่าแบงก์ชาติเราจะไม่กล้าขึ้นดอกเบี้ยมากและเร็ว จากการศึกษาของแบงก์ชาติเองชี้ว่า ปัญหาเงินเฟ้อถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำอะไรเลย คนที่บอบช้ำคือผู้มีรายได้ต่ำ ดังนั้น จึงถือเป็นความจำเป็นและชอบธรรมอย่างยิ่งที่แบงก์ชาติจะเข้าแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อด้วยการเร่งขึ้นดอกเบี้ย ทั้งนี้ก็เพื่อบรรเทาผลกระทบผู้มีรายได้ต่ำที่มีอยู่จำนวนมาก

 

แต่ในสถานการณ์จริง การขึ้นดอกเบี้ยนั้นต้องเจอแรงเสียดทานรอบทิศ จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า ดอกเบี้ยนโยบายไทยจะขึ้นไปถึงระดับที่เส้นอัตราผลตอบแทนพยากรณ์ไว้จริงมากน้อยแค่ไหนครับ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X