×

ธอส. คาด ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ทั้งปี 2567 หดตัว 14% เชื่อปีหน้าสถานการณ์ดีขึ้น

16.12.2024
  • LOADING...
ธอส. สินเชื่อ

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. ซึ่งเป็นธนาคารเฉพาะกิจที่มีหน้าที่สนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับคนไทย คาดการณ์ว่า ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ทั้งปี 2567 ลดลง 14% อยู่ที่ 2.3 แสนล้านบาท แต่ยืนยันว่า ธอส. ยังปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่นำธนาคารอื่นๆ โดยครองส่วนแบ่งกว่า 41.7% ประกาศตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ปี 2568 ที่ราว 2.4-2.5 แสนล้านบาท เผยอุ้มลูกหนี้ ‘คุณสู้ เราช่วย’ ถึง 3.49 ล้านบัญชี มูลหนี้ 3.1 แสนล้านบาท คาดกระทบรายได้ดอกเบี้ยปีละ 8 พันล้านบาท

 

วันที่ 14 ธันวาคม 2567 กมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานปัจจุบันสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 200,856 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า 13% โดยจำนวนนี้เกือบครึ่งเป็นสินเชื่อสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง วงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท จำนวน 95,125 ราย

 

สำหรับยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ทั้งปี 2567 กมลภพคาดว่า จะปล่อยไม่ต่ำกว่า 2.3 แสนล้านบาท นับว่าลดลงจากปีก่อนหน้า 14% เนื่องมาจากเศรษฐกิจชะลอตัว คุณสมบัติหรือเครดิตของลูกหนี้ที่แย่ลง และยอดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ลดลง

 

โดยปัจจุบัน ธอส. มีสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1.78 ล้านล้านบาท ให้บริการผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่หลากหลายและตรงตามความต้องการของลูกค้า เช่น สินเชื่อบ้าน 71 ปี ธอส., โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน พ.ศ. 2567 และมาตรการสินเชื่อ

 

อย่างไรก็ตาม กมลภพคาดว่ายอดสินเชื่อปล่อยใหม่ในปีหน้าจะกลับมาขยายตัวราว 3% อยู่ที่ราว 2.4-2.5 แสนล้านบาท จากคาดการณ์ปีนี้ที่ 2.3 แสนล้านบาท ผ่านการให้บริการผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำและเงินงวดในการผ่อนชำระอยู่ในระดับที่เหมาะสม สำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง (Social Solution) และสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับกลุ่มผู้ประกอบอาชีพประจำ-อาชีพอิสระ ที่มีรายได้มากกว่า 25,000 บาทต่อเดือน (Business Solution)

 

ธอส. ยังปล่อยสินเชื่อนำธนาคารอื่น หนุนคนไทยมีบ้าน

 

แม้ว่ายอดปล่อยสินเชื่อใหม่จะหดตัวในปีนี้ อย่างไรก็ตาม กมลภพย้ำว่า ส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ของ ธอส. อยู่ที่ 41.7% ของยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่จากทุกสถาบันการเงิน

 

“ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐที่มีพันธกิจ ‘ทำให้คนไทยมีบ้าน’ โดยตลอดระยะเวลา 71 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนไทยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองมาแล้วมากกว่า 4.6 ล้านครอบครัว สามารถสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการคลังในการช่วยเหลือประชาชน” กมลภพกล่าว

 

หนี้เสีย (NPL) ลดลง 4 เดือนติดต่อกัน ตั้งสำรองทะลุ 155%

 

กมลภพเผยอีกว่า สัดส่วนหนี้เสีย (NPL) หรือหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วันของ ธอส. ปรับตัวลง 4 เดือนติดต่อกัน มาอยู่ที่ 5.5% หลังจากเคยแตะระดับ 6.17% เมื่อ 4 เดือนก่อน นับว่าลดลงในระดับที่น่าพอใจ

 

พร้อมทั้งย้ำว่าธนาคารตั้งสำรองเผื่อหนี้จะสูญเพิ่มขึ้นเป็น 152,276 ล้านบาท แต่ยังอยู่ในค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ คิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL สูงถึง 155.69% ซึ่งหมายถึงการตั้งสำรอง 155 บาท เมื่อเทียบกับหนี้เสีย 100 บาท

 

 

คาด ‘คุณสู้ เราช่วย’ น่าจะทำให้สัดส่วน NPL ลดลงอีก

 

กมลภพเปิดเผยอีกว่า โครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ น่าจะทำให้สัดส่วน NPL ลดลงอีก เนื่องจากกลุ่มลูกหนี้ที่เข้าข่ายโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ อยู่กับ ธอส. ถึง 3.49 แสนบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ 3.13 แสนล้านบาท โดยคาดว่า NPL จะอยู่ที่ 4-5% ซึ่งเป็นระดับปกติของธนาคาร

 

ทั้งนี้ ตามข้อมูลของ วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ คาดว่ามีลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติที่ได้รับความช่วยเหลือผ่านโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ จำนวนประมาณ 6 แสนบัญชี คิดเป็นยอดหนี้กว่า 4.5 แสนล้านบาท สะท้อนว่ายอดหนี้ของธนาคารรัฐส่วนใหญ่อยู่กับ ธอส. แล้วกว่า 69.55%

 

‘คุณสู้ เราช่วย’ กระทบดอกเบี้ยรับ ธอส. ราว 1.6 หมื่นล้านบาทต่อปี
กมลภพคาดว่าโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ จะมีผลกระทบต่อกำไร ธอส. ค่อนข้างมาก เนื่องจากเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือสินเชื่อบ้านไม่เกิน 5 ล้าน ซึ่งเป็นลูกค้าส่วนใหญ่ของ ธอส.

 

โดยกมลภพคาดการณ์ว่า หากลูกค้าผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการเข้าร่วมทุกคนจะส่งผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยปีละ 1.6 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยตามเงื่อนไขการจัดหาเงินทุนของโครงการที่ระบุว่า แหล่งเงินให้ธนาคารรัฐมาจากมาตรา 28 (แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ) ครึ่งหนึ่ง และธนาคารช่วยออกครึ่งหนึ่ง หมายความว่า ธอส. มีรายได้ดอกเบี้ยที่หายไปปีละ 8.4 พันล้านบาทต่อปี

 

“ถึงดอกเบี้ยรับจะหายไป 8.4 พันล้าน แต่มองอีกมุมหนึ่ง NPL และ SM จะลดลง ทำให้ธนาคารตั้งสำรองลดลง”

 

กมลภพเปิดเผยอีกว่า ณ วันที่ 14 ธันวาคม มีลูกค้า ธอส. แสดงความสนใจติดต่อมาแล้ว 6.6 พันราย สะท้อนว่าโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ น่าจะช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมาก และช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีวินัยทางการเงินมากขึ้น

 

เปิดความสำเร็จโครงการแก้หนี้ของ ธอส.

 

กมลภพเปิดเผยอีกว่า ธอส. มีโครงการช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ออกมาตรการต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่นโครงการลดอัตราดอก 0% เป็นเวลา 3 เดือน สำหรับลูกหนี้ที่มีปัญหา ให้เข้ามาประนอมหนี้ โดยปัจจุบันมีลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการต่างๆ อยู่ที่ 1.7 แสนบัญชี พบว่ามีอัตราความสำเร็จ (Success Rate) จากการเปลี่ยนลูกหนี้สถานะ NPL หรือ SM กลับเป็น ‘ลูกหนี้ปกติ’ ได้อยู่ที่ราว 60% 

 

พร้อมปล่อยสินเชื่อ ‘บ้านเพื่อคนไทย’ หนุนนโยบายรัฐบาล

 

กมลภพยืนยันว่า ธอส. มีความพร้อมในการสนับสนุนโครงการบ้านเพื่อคนไทย โดยเสนออัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3-4% ต่อปี ผ่อนเดือนละ 4,000 บาท ตามนโยบายรัฐบาล

 

พร้อมทั้งกล่าวอีกว่าโครงการดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับโครงการบ้านคนไทยประชารัฐบนพื้นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ที่เคยทำไปก่อนหน้านี้ ส่วนระยะเวลาการกู้จะเป็น 30 ปี + 30 ปี หรือมากกว่านั้น จะต้องรอดูรายละเอียดต่อไป

 

“สำหรับในปี 2568 ธอส. พร้อมดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงการคลัง ในการสนับสนุนคนไทยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืนด้วยการเป็นที่ 1 ของสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท” กมลภพกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising