ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำรวจภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 พบว่า ครัวเรือนไทยยังมองภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (มีนาคม-พฤษภาคม) ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดือนมกราคม คือมองเป็นบวกสอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจที่เติบโต
ปัจจัยที่สำคัญคือการประกาศปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่จะเริ่มในเดือนเมษายนนี้ ขณะที่หน่วยงานรัฐและเอกชนเริ่มทยอยปรับขึ้นเงินเดือนตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว สับปะรดโรงงาน อ้อย และมันสำปะหลัง ปรับสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ครัวเรือนจากภาคเกษตรมองรายได้ในอนาคตไปในทางบวกด้วย
อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนกลับมีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อประเด็นเรื่องภาระหนี้สิน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากสภาวะการเป็นหนี้เพิ่มขึ้นในปัจจุบันของครัวเรือน
ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 46.3 จากระดับ 46.7 ในเดือนมกราคม 2561 ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยทางฤดูกาลอย่างเทศกาลวันตรุษจีนที่ทำให้ครัวเรือนบางส่วนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
สิ่งที่ต้องติดตามใกล้ชิดคือปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งบางส่วนที่มีภาระหนี้เพิ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ สาเหตุหลักๆ มาจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้นช่วงต้นปี และทำให้ค่างวดที่ต้องชำระในเดือนกุมภาพันธ์สูงขึ้น หากพิจารณาข้อมูลปริมาณการใช้จ่ายในประเทศของบัตรเครดิตที่ออกในประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนมกราคมที่ผ่านมา การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตขยายตัว 11.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ครัวเรือนไทยยังเป็นหนี้หลายช่องทางมากขึ้น นอกจากหนี้บัตรเครดิตแล้วยังมีการกู้ยืม จำนำ จำนอง หรือกดเงินสดจากบัตรเพิ่มขึ้นด้วย สถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคของครัวเรือนและสะท้อนปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้จ่ายของครัวเรือนในอนาคต
ขณะที่สถานการณ์ทางด้านราคาสินค้าภายในประเทศเดือนมีนาคมคาดว่าจะยังทรงตัวใกล้เคียงเดิม แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตรที่ยังมีความไม่แน่นอนทั้งด้านปริมาณและราคา โดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้า ยางพารา สับปะรดโรงงาน และสินค้าปศุสัตว์ เช่น สุกรและไก่พันธุ์เนื้อ ซึ่งจะยังเป็นปัจจัยกดดันกำลังซื้อของครัวเรือนภาคเกษตรต่อไป
Photo: shutterstock