วันนี้ (7 มกราคม) คารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงสัมปทาน พ.ศ. …. ซึ่งปัจจุบันทางหลวงสัมปทานมีเพียงสายเดียวคือทางหลวงสัมปทานหมายเลข 5 สายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดินแดง-อนุสรณ์สถาน) และไม่มีกฎหมายกำหนดอัตราความเร็วสำหรับยานพาหนะที่วิ่งบนทางหลวงสัมปทานไว้เป็นการเฉพาะ
ทั้งนี้ มีเพียงกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วสำหรับการขับรถในทางเดินรถ พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปในลักษณะกฎหมายกลางที่กำหนดความเร็วสำหรับการขับรถในทางเดินรถไว้ จึงยังไม่เหมาะสมกับลักษณะของทางหลวงสัมปทาน ส่งผลให้การจราจรบนทางหลวงสัมปทานเกิดความไม่คล่องตัวเท่าที่ควร และมักเกิดกรณีการกระทำความผิดที่ผู้ขับขี่ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด จึงมีความจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงเพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าว เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ความสะดวก และความปลอดภัย ในการสัญจรบนทางหลวงดังกล่าว
คารมกล่าวต่อว่า ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงสัมปทานมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีกฎหมายสำหรับการกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงสัมปทาน ที่สอดคล้องกับการใช้ความเร็วที่เหมาะสมบนทางหลวงสัมปทาน ดังนี้
- กำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงสัมปทานตามประเภทของยานพาหนะ ดังนี้
1.1 รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถเกิน 2,200 กิโลกรัม หรือรถบรรทุกคนโดยสารที่มีที่นั่งคนโดยสารเกิน 15 คน ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ปัจจุบันใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
1.2 รถขณะที่ลากจูงรถอื่น หรือรถยนต์สี่ล้อเล็ก ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ปัจจุบันใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
1.3 รถโรงเรียนหรือรถรับ-ส่งนักเรียน ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ปัจจุบันใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
1.4 รถอื่นนอกจากข้อ 1.1 ถึง 1.3 ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ปัจจุบันใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
- กำหนดให้รถที่อยู่ในช่องเดินรถช่องขวาสุดต้องใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่า 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เว้นแต่ในกรณีที่ช่องเดินรถนั้นมีข้อจำกัดด้านการจราจรหรือทัศนวิสัย มีสิ่งกีดขวาง หรือมีเหตุขัดข้องอื่น (ปัจจุบันไม่มีกำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วสำหรับการขับรถในทางเดินรถ พ.ศ. 2564)