×

ไทยไม่พบการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ในประเทศ ที่ระบาดมาจากเชื้อนำเข้าทั้งหมด ห้องปฏิบัติการเฝ้าระวังเข้ม

โดย THE STANDARD TEAM
07.06.2021
  • LOADING...
การกลายพันธุ์ของโควิด-19

วันนี้ (7 มิถุนายน) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในฐานะองค์กรหลักของประเทศในการเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อโรค ได้สร้างเครือข่ายห้องปฏิบัติการเพื่อดำเนินงานเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ ที่มีห้องปฏิบัติการของกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อให้ประเทศไทยมีข้อมูลเฝ้าระวังสายพันธุ์ได้ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) และสายพันธุ์บีตา (แอฟริกาใต้) ที่อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน และตรวจพบในประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564

 

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการตรวจเฝ้าระวังเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 กลายพันธุ์ 3 วิธี ดังนี้

 

  1. การตรวจเฉพาะตำแหน่งกลายพันธุ์ ที่มีความจำเพาะต่อสายพันธุ์ที่น่ากังวลด้วยเทคนิค Real-time PCR สามารถทำได้ในระดับเขตภูมิภาค

 

  1. Target Sequencing ตรวจการกลายพันธุ์ในตำแหน่งต่างๆ ทั้งที่ทราบข้อมูลการกลายพันธุ์อยู่แล้วหรือค้นหาตำแหน่งการกลายพันธุ์ใหม่บนยีนสำคัญ เช่น ยีนหนามแหลม (Spike)

 

  1. Whole Genome Sequencing ตรวจข้อมูลทั้งจีโนมของเชื้อไวรัส เป็นวิธีหลักในการเฝ้าระวังสายพันธุ์ให้เป็นไปอย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของเชื้อไวรัส SAR-CoV-2 เริ่มต้นที่ 9,000 ตัวอย่าง เพื่อให้มีข้อมูลพอเพียงต่อการควบคุมโรคและการบริหารวัคซีนโควิด-19 โดยจะดำเนินการต่อเนื่องไปอย่างน้อย 6 เดือน

 

นพ.ศุภกิจกล่าวเพิ่มเติมว่า รายงานการพบเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ที่น่ากังวลในประเทศไทยจากการระบาดระลอกเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2564 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เฝ้าระวังสายพันธุ์ที่น่ากังวล 3 สายพันธุ์ ประกอบด้วย สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) จำนวน 3,595 ตัวอย่าง สายพันธุ์บีตา (แอฟริกาใต้) จำนวน 26 ตัวอย่าง และสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) จำนวน 235 ตัวอย่าง พบว่า

 

  1. สายพันธุ์อัลฟาเป็นต้นเหตุของการระบาดในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2564 พบเกือบทุกจังหวัดและเข้ามาแทนสายพันธุ์ที่เคยระบาดอยู่ในประเทศไทย

 

  1. สายพันธุ์เดลตาพบรายงานครั้งแรกในเขตกรุงเทพมหานคร และมีการระบาดออกไปในภาคเหนือและภาคอีสานตามกลุ่มแรงงานที่เดินทางกลับบ้านจากกรุงเทพมหานครในช่วงระบาด

 

  1. สายพันธุ์บีตาพบรายงานครั้งแรกในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากสายพันธุ์นี้ระบาดในรัฐกลันตันของประเทศมาเลเซีย พบได้จากกลุ่มบุคคลที่เดินทางข้ามพรมแดนไทยและมาเลเซีย ซึ่งต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดสำหรับผู้ป่วยในจังหวัดปัตตานี สงขลา และนราธิวาส

 

ศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ศูนย์จีโนมทางการแพทย์มีการตรวจสอบรหัสพันธุกรรมไวรัสก่อโรคโควิด-19 ใน 3 รูปแบบ คือ

                                                       

  1. ตรวจสอบรหัสพันธุกรรม 40 ตำแหน่งอย่างรวดเร็วภายใน 1-2 วัน เพื่อแยกแยะไวรัสสายพันธุ์ที่เป็นปัญหาในประเทศด้วยเทคโนโลยี MassARRAY สามารถตรวจตัวอย่างส่งตรวจได้ 1,000 ตัวอย่างต่อสัปดาห์

 

  1. ถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ทั้งจีโนมด้วยเทคโนโลยีการถอดรหัสสายยาว Long-Read Sequencing ด้วย Oxford-Nanopore Technologies (ONT) Sequencing เวลาดำเนินการ 2 วัน เหมาะสำหรับการตรวจไวรัสลูกผสม (Hybrid of COVID-19 Variants) หรือการติดเชื้อสองสายพันธุ์ในคนเดียวกันในเวลาเดียวกัน (Co-infection)

 

  1. ถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ทั้งจีโนมด้วยเทคโนโลยีการถอดรหัสสายสั้น Short-Read Sequencing ด้วย Next-Generation DNA Sequencing (NGS) เวลาดำเนินการ 4-5 วัน เพื่อติดตามการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 (COVID-19 Variants)

 

จากการวิเคราะห์ Phylogenetic Analysis หรือการสืบสายพันธุกรรม พบว่าประเทศไทยตรวจพบสายพันธุ์เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ได้หลากหลาย และเมื่อวิเคราะห์สายพันธุ์เปรียบเทียบกับที่พบระบาดทั่วโลก พบว่าเชื้อกลายพันธุ์ส่วนใหญ่เป็นเชื้อที่นำเข้ามาจากประเทศอื่น ในปัจจุบันประเทศไทยไม่พบการกลายพันธุ์ที่พบได้เฉพาะในประเทศ ซึ่งการระบาดครั้งนี้มีการติดเชื้อใหม่เป็นจำนวนมากต้องเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ในประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ (New Variant) ไวรัสลูกผสม (Hybrid of COVID-19 Variants) และการติดเชื้อต่างสายพันธุ์ในคนเดียวกัน (Co-infection) ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

 

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่องผลกระทบจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ว่า จากข้อมูลที่มีรายงานทั่วโลก การกลายพันธุ์เป็นวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ไวรัสโควิด-19 ก็มีการกลายพันธุ์เพื่อความอยู่รอดของไวรัส ไวรัสที่กลายพันธุ์และแพร่กระจายได้ง่ายก็จะแพร่ขยายและกลบสายพันธุ์เดิมที่มีการแพร่กระจายได้น้อยกว่า แต่เดิมสายพันธุ์อู่ฮั่น เรียกง่ายๆ เป็นสายพันธุ์ S และ L สายพันธุ์ L แพร่ได้มากกว่า จึงกระจายมากในยุโรป และการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ G และ V ต่อมาสายพันธุ์ G แพร่ได้ง่ายจึงกระจายทั่วโลกและแทนที่สายพันธุ์อู่ฮั่น

 

หลังจากนั้นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) แพร่กระจายได้ง่ายจึงกลบสายพันธุ์ G เดิม ตอนนี้มีสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ที่แพร่กระจายง่ายกว่าสายพันธุ์อัลฟาเข้ามา ทำให้เกรงกันว่าสายพันธุ์เดลตาจะทำให้ระบาดเพิ่มขึ้นและมาแทนสายพันธุ์อัลฟาในอนาคต 

 

ส่วนสายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC) เป็นสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่หลบหลีกภูมิต้านทานได้ ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง จึงต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ สายพันธุ์ดังกล่าวคือบีตาและแกมมา ทั้งสองสายพันธุ์แพร่กระจายได้น้อยกว่าสายพันธุ์อัลฟาและเดลตา

 

การศึกษาของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาฯ ในคนไทยที่กลับจากต่างประเทศตรวจพบเชื้อ SAR-CoV-2 ได้เกือบทุกสายพันธุ์ ทำให้สามารถพัฒนาวิธีตรวจเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ที่แม่นยำและทำได้รวดเร็ว ในขณะนี้ยังติดตามเฝ้าระวังสายพันธุ์ใน State Quarantine และ Alternative State Quarantine อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยที่เข้ามาทางสนามบินจะมีโอกาสน้อยมากที่จะแพร่กระจายโรค ที่ผ่านมาการระบาดเกิดจากการลักลอบผ่านชายแดนเข้ามา

 

ขอฝากประชาชนที่จะจ้างแรงงานต่างชาติที่ลักลอบผ่านชายแดนเข้ามาให้ความร่วมมือกับภาครัฐ แจ้งเบาะแส เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของสายพันธุ์น่ากังวล เพราะเชื้อเหล่านี้จะทำให้เกิดการระบาดรุนแรงในประเทศไทยได้

 

พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising