×

‘ไทยหายไปจากเรดาร์โลก’ สุรชาติมองย้อน 9 ปีการต่างประเทศไทย สู่นโยบายความมั่นคงและความท้าทายในรัฐบาลใหม่

04.09.2023
  • LOADING...
รัฐบาลใหม่

รายการ THE STANDARD NOW สัมภาษณ์ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการอาวุโส อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ 

 

กรณีนโยบายการต่างประเทศไทย และ 3 ปัจจัยในเวทีโลกตลอด 9 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

 

รวมถึงนโยบายความมั่นคง, โจทย์หินของกระทรวงการต่างประเทศ กับความท้าทายของรัฐบาลชุดใหม่ ภายใต้นายกรัฐมนตรีที่ชื่อว่า เศรษฐา ทวีสิน

 

9 ปีการต่างประเทศรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ = ‘ไทยหายไปจากเรดาร์โลก’ 

เวลาพูดถึงการต่างประเทศมักจะเปรียบเหมือนสถานีเรดาร์ ซึ่งไทยหายไปจากจอเรดาร์ของโลก และตลอดเวลา 9 ปี หรือ 5+4 ปี (5 ปีในรัฐบาล คสช. และ 4 ปีของรัฐบาลเลือกตั้ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ก็ไม่ต่างอะไรกับ F-117 Stealth Fighter ซึ่งเป็นเครื่องบินลำแรกของโลกที่ออกแบบให้เรดาร์ตรวจจับไม่ได้ 

 

“เมื่อไทยหายไปจากเวทีโลก สมมุติว่าอยากชวนใครมาร่วมงาน เช่น APEC หรือประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ก็ไม่มีใครอยากมาเข้าร่วมด้วย เนื่องจากขาดเสน่ห์ในการจูงใจ”  

 

เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ Soft Power หรือสิ่งที่ขยายอิทธิพล การเปลี่ยนแปลงความคิด การทำให้ผู้คนมีส่วนร่วม และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้อื่นแบบไม่ได้ใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญ (Hard Power) ซึ่งอยากให้รัฐบาลใหม่ฟื้นสถานะของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานะเวทีระหว่างประเทศทั้งระดับโลกและภูมิภาค

 

3 ปัจจัยของโลกและไทยใน 9 ปีที่ผ่านมา  

ใน 9 ปีที่ผ่านมามีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหลักๆ ที่เห็นได้ชัดมี 3 เรื่อง ดังนี้ 

 

  1. การรัฐประหารปี 2557: เป็นแรงผลักดันให้ประเทศไทยมองไปทางตะวันออก เนื่องจากฝั่งตะวันตกไม่ค่อยโอเค หรือไม่ค่อยตอบรับการรัฐประหารที่กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม เสียงหรือความคิดเห็นเหล่านี้เกิดขึ้นตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549

 

ซึ่งฝั่งตะวันตกส่งสัญญาณมาแล้วว่า “ขอให้รัฐประหารปี 2549 เป็นครั้งสุดท้ายได้หรือไม่” ฉะนั้น รัฐประหารทั้ง 2 ชุดนี้ คือชุดเดียวกันในทางการเมือง (กลุ่ม 3 ป. ได้แก่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา) แต่ถ้ามองนโยบายการต่างประเทศไทยกลับไปในทิศทางที่อาจยอมรับได้สำหรับใครบางคน

 

“ไทยไม่เคยถูกแทรกแซงแบบที่เมียนมาโดน ความแปลกของรัฐประหารที่กรุงเทพฯ คือไทยรอดทุกครั้ง ต้องใช้คำว่าเป็นความโชคดีทางการเมือง ซึ่งคำอธิบายมีอย่างเดียวคือ กลัวว่าแทรกแซงไทยแล้ว ไทยจะยิ่งไปกระชับมิตรกับจีน ทำให้เกิดความกระอักกระอ่วนของโลกตะวันตก”

 

  1. โควิด: ถ้ามีคนมาถามว่า “เชื่อหรือไม่ ปี 2021 จะต้องปิดประเทศ?” คงไม่มีคนเชื่อมากนัก อย่างไรก็ตาม วันที่ 11 มกราคม 2020 มีผู้เสียชีวิตรายแรกจากโควิด ซึ่งก็คงคิดว่าไม่น่าเกิดเหตุการณ์แพร่กระจายเชื้อไปทั่วโลก น่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ธรรมดา

 

จากนั้น 13 มกราคม 2020 พบผู้ติดเชื้อโควิดรายแรกในประเทศไทย ทำให้ตนเองตระหนักมากขึ้นว่า แนวโน้มการเกิด Global Disruption หรือความผันผวนในเวทีโลกคงจะเป็นไปได้มากขึ้น และเชื้อโรคของโควิดก็ยังไม่หยุดแพร่กระจายมาจนถึงทุกวันนี้

 

  1. สงครามรัสเซีย-ยูเครน: เชื้อโรคการระบาดยังไม่จบ แต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ก็เกิดสงครามใหญ่ในระดับโลก หรืออีกหนึ่งความผันผวนใหญ่ระลอกที่ 2 

 

ทั้ง 3 เรื่องที่เกิดขึ้นได้ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของชีวิต แต่นโยบายและปฏิสัมพันธ์ในเวทีโลกยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง และสร้างมิติใหม่ เช่น การใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือทางการทูต (Vaccine Diplomacy) ในการแย่งชิงทางการค้าเพื่อให้แต่ละประเทศซื้อของโลกตะวันตกและตะวันออก หรือการเกิด Soft Power ใหม่ๆ 

 

ดังนั้น สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนคำว่า ‘สงครามเย็นใหม่ หรือสงครามเย็น 2021’ โดยใช้วัคซีน และ Soft Power เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ และเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนในปี 2022

 

จุดยืนของประเทศไทยในสงครามเย็นใหม่? 

ไทยมักจะมีจินตนาการจากยุคเก่าๆ ในนโยบายต่างประเทศ โดยเชื่อว่าไทยรอดพ้นในเวทีโลกมาได้จากปัญหาทั้งหลายปวง เพราะทำตัวเหมือนต้นสนที่ลู่ไปตามลม” 

 

นี่คือภาษาที่ถูกใช้อย่างมากในนโยบายการต่างประเทศไทย เพราะไทยพร้อมจะโอนอ่อนไปตามสถานการณ์ แต่ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญจากลมพัดแรงจากทั้งสองฝั่ง 

 

เพราะฉะนั้น คนที่ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคงต้องแก้ไขโจทย์ชุดนี้ แต่โจทย์ที่ใหญ่กว่า คือการเอาประเทศไทยเข้าไปอยู่ในจอเรดาร์ก่อน เพราะเมื่อเข้าไปอยู่ในจอดังกล่าวแล้ว ไทยอาจเห็นทิศทางลมในการประกาศนโยบายเป็นกลางมากขึ้น

 

“ไม่อยากให้เรียกว่าปฏิรูปกองทัพ ให้เรียกว่าการพัฒนาร่วมกัน” 

นี่เป็นคำพูด ณ วันที่ 28 สิงหาคม ของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเกี่ยวกับนโยบายความมั่นคง และการปฏิรูปกองทัพ

 

“ปฏิรูป คือภาษาฝ่ายขวาที่สุด โดยทางรัฐศาสตร์เชื่อว่าเป็นวิธีรับมือกับภัยคุกคามที่ดีที่สุด” ศ.ดร.กิตติคุณกล่าว

 

หากขยายความเพิ่มเติม การปฏิรูป (Reform) ไม่ใช่ความร่วมมือ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงภายในระบบ หรือแปลความหมายทางภาษารัฐศาสตร์ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงภายในโครงสร้างแบบเดิม ส่วนการปฏิวัติ (Revolution)  คือการรื้อโครงสร้างเดิม

 

การที่เศรษฐาเลี่ยงที่จะพูดคำว่าปฏิรูปแบบนี้ ย่อมแสดงให้เห็นถึงความกลัวในการใช้ภาษา ฉะนั้น ขอได้อย่ากลัวการใช้งานในคำนี้ เพราะภาษาคือสัญญาณทางการเมือง ยิ่งหลีกเลี่ยงภาษาเหล่านี้ ยิ่งก่อให้เกิดความสับสนแก่ประชาชน

 

นโยบายความมั่นคงแบบฮาร์ดคอร์ vs. ไม่ฮาร์ดคอร์?

 

ถ้าจะให้อธิบายเข้าใจง่ายๆ นโยบายฮาร์ดคอร์ (Hardcore) คือนโยบายที่เข้มข้นหรือเป็นสาระสำคัญหลักที่ต้องให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ ส่วนนโยบายไม่ฮาร์ดคอร์เป็นนโยบายที่ยังคงให้ความสำคัญมาก แต่อาจไม่เข้มข้นเท่าแบบฮาร์ดคอร์

 

ทั้งนี้ นโยบายความมั่นคงแบบฮาร์ดคอร์ มีหลักๆ 4 ประเด็น ได้แก่

 

  1. ตำรวจ: โดยการดูแลของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มีตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ทั้งนี้ กฎหมายใหม่ระบุชัดเจนว่า ไม่มีรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงเข้ามาดูแลเรื่องนี้ ฉะนั้น เศรษฐาต้องให้คำตอบกับตำรวจชั้นต่างๆ โดยเฉพาะชั้นผู้น้อยถึงชีวิตความเป็นอยู่ และการดูแลข้าราชการตำรวจให้ดีขึ้น

 

  1. สายตรง: โดยการดูแลของ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ หากไม่มีอะไรผิดพลาดก็คงได้นั่งแท่นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งจะคุม 3 ฝ่ายคือ สภาความมั่นคง, สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และปัญหาภาคใต้ทั้งหมด

 

  1. ทหาร: โดยการดูแลของ สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม 

 

  1. ระหว่างประเทศ: โดยการดูแลของ ปานปรีย์ พหิทธานุกร รมว.ต่างประเทศ

 

ส่วนนโยบายความมั่นคงแบบไม่ฮาร์ดคอร์ เช่น สภาพอากาศ, Climate Change, ฝุ่น PM2.5, ปัญหาน้ำแล้ง ซึ่งทั้งหมดนี้ รัฐบาลไม่ควรเมินเฉยหรือมองข้ามเช่นกัน

 

วิเคราะห์นายกฯ เศรษฐา-สุทิน-ภูมิธรรม?

สำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน ไม่ได้มีปัญหาหรือรับไม่ได้ แต่สิ่งที่ให้ความสนใจมากกว่า คือตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง

 

สุทิน คลังแสง กับตำแหน่ง รมว.กลาโหมนั้น ไม่ได้รู้สึกติดใจมากนัก แต่ถ้าต้องทำงานกับกองทัพก็คงต้องมีคนที่รู้เรื่องและเข้าใจในงานดังกล่าว ซึ่งกระทรวงนี้เป็นกระทรวงที่มีลักษณะเฉพาะสูงที่สุด เพราะกลุ่มคนในกระทรวงนี้คือคนถืออาวุธและอยู่ในเครื่องแบบทั้งสิ้น

 

“ผมไม่ได้ติดว่าพลเรือนทำไม่ได้ แต่คำถามคือ แล้วพลเรือนเข้าไปนั่งในสภาวะอย่างนี้จะบริหารอย่างไร ใครคือทีมที่ปรึกษา แล้วคุณสุทินสามารถจะตัดสินใจของตัวรัฐมนตรี หรือตัดสินใจได้ด้วยที่ปรึกษาเป็นคนตัดสิน อะไรคือตัวทิศทางนโยบายหลักของสุทิน”

 

ขณะที่ ภูมิธรรม เวชยชัย ที่จะได้ทำหน้าที่ รมว.พาณิชย์ และรองนายกฯ นั้น ตนเองเชื่อว่าจะได้เป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง เนื่องจากได้รับสัญญาณบางอย่างว่ามีกลุ่มคนเหล่านั้นกำลังฟังในสิ่งที่พูดอยู่ และเป็นเพราะตนเองพูดถึงหรือไม่ จึงได้รีบแต่งตั้งให้ภูมิธรรมนั่งตำแหน่งดังกล่าว

 

วิเคราะห์ปานปรีย์ vs. ดอน?

ยอมรับด้วยความสัตย์จริงว่า ไม่ได้รู้จักกับ ปานปรีย์ พหิทธานุกร รมว.ต่างประเทศมากนัก ทราบแค่ว่าเคยมีผลงานทางเศรษฐกิจ ขณะที่ ดอน ปรมัตถ์วินัย อดีต รมว.ต่างประเทศยุครัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ทราบแค่มีคำศัพท์แซวกันว่า “เลือกลุงตู่ได้ปู่ดอน พล.อ. ประยุทธ์ชนะเลือกตั้งได้ดอน” 

 

2 โจทย์หินและ 5 งานใหญ่ของการต่างประเทศไทยนับจากนี้ 

งานกระทรวงการต่างประเทศเป็นสิ่งที่ยากมาก ฉะนั้น รัฐบาลชุดใหม่จะต้องเจอกับ 2 โจทย์หิน ดังนี้ 

 

  1. กระทรวงการต่างประเทศน่าจะทำงานเศรษฐกิจไม่ได้ ซึ่งทิศทางพรรคเพื่อไทยต้องการใช้เศรษฐกิจเป็นธงนำในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้กระทรวงการต่างประเทศต้องมีมิติกับเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งอาจไม่อยู่วิสัยที่จะทำเช่นนั้น

 

และ 2. งานด้านการเมือง ที่ประเมินสถานการณ์ระหว่างประเทศได้ 5 อย่างคือ 

  • สงครามเย็นใหม่
  • สงครามรัสเซีย-ยูเครน
  • สงครามประชิดแนวชายแดนไทย (สงครามเมียนมา) 
  • สงครามไต้หวัน (อาจเกิดขึ้นถ้ามีวิกฤต)
  • การแข่งขันในอินโด-แปซิฟิก กับยุทธศาสตร์ของจีน

 

ความท้าทายของรัฐบาลใหม่ทั้งใน-ระหว่างประเทศ ?

“ยังนึกไม่ออกถึงจุดที่เศรษฐาและรัฐบาลชุดใหม่จะทำได้ดี คงจะมีแค่เรื่องฟรีวีซ่าจีน” ศ.ดร.กิตติคุณเริ่มต้นประโยคแรกในคำถามนี้

 

“ถ้าถามผม ผมว่าเราอยู่ในวังวนความขัดแย้งในบ้านตัวเองเกือบ 20 ปี เราอยู่ในกะลาที่ครอบตัวเราเองเกือบ 20 ปี”

 

อย่างไรก็ตาม การที่จะกล่าวถึงความท้าทายของรัฐบาลใหม่ทั้งในและระหว่างประเทศ คงจะมองได้ 2 มิติ

 

  1. ตั้งแต่ตั้งรัฐบาลมา ไม่เคยได้ยินพรรคเพื่อไทยเปิดเผยเรื่องความมั่นคง

 

  1. เรื่องที่น่าแปลกใจคือ พรรคไทยรักไทยเป็นพรรคที่เปิดเรื่องปฏิรูปกองทัพใหญ่ แม้กระทั่งยุคของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็พูดเรื่องนี้ ฉะนั้น ในเชิงนโยบายคงคาดเดาไม่ได้ว่าพรรคเพื่อไทยจะกำหนดทิศทางอย่างไร

 

ฉะนั้น คงเป็นความท้าทายอย่างมากของรัฐบาลใหม่นี้ที่ต้องการจะใช้เศรษฐกิจนำพางานต่างประเทศ หากดูจากสถานการณ์คงไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะมีกับดักใหญ่ๆ ข้างหน้ารออยู่ ซึ่งจะหวังให้ประสบความสำเร็จเหมือนยุค ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ คงเป็นได้ยาก 

 

อีกหนึ่งเรื่องที่อยากแนะนำคือ ถ้าเป็นไปได้ ควรให้ผู้นำประเทศทั้งนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ ได้ออกไปยังเวทีโลกโดยผ่านการเดินสายพบปะหารือ หรือมีการประชุมสำคัญๆ เช่น APEC, UN หรือ G20 อย่าส่งเจ้าหน้าที่หรือนักการทูตไป เพราะเป็นโอกาสสำคัญในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นระหว่างประเทศ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X