×

เศรษฐกิจโลกที่สามกับปัญหาโลกที่หนึ่ง แนวโน้มไทย ‘แก่ก่อนรวย’

07.08.2019
  • LOADING...
แก่ก่อนรวย

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ประเทศไทยประสบภาวะอัตราการเกิดดิ่งมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ประชากรไทยจะหายไปมากกว่า 34% ภายในช่วงสิ้นศตวรรษนี้ และภายในปี 2573 จะมีคนอายุเกิน 60 ปี ราว 25% ของจำนวนทั้งหมด
  • เมื่อประชากรใหม่ลดน้อยลง ย่อมทำให้ผู้บริโภค ผู้จ่ายภาษี และผู้ดูแลผู้สูงอายุน้อยลงไปเช่นกัน
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ชี้ว่าปมนี้เป็นความท้าทายขนานใหญ่ โดยเฉพาะในแง่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะกัดกินไทยต่อไปอีก 20 ปี 

ข้อมูลจากสหประชาชาติ (UN) เมื่อเดือนก่อนเผยว่าไทยมีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำในระดับเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วและรวยอันดับต้นๆ ของโลกอย่างสวิตเซอร์แลนด์และฟินแลนด์ นอกจากนี้แล้วไทยไม่ได้มีอะไรที่คล้ายคลึงกับประเทศดังกล่าวเลย

 

ปรากฏการณ์สังคมผู้สูงอายุกำลังสร้างผลกระทบให้กับกลุ่มประเทศร่ำรวยหลายแห่ง สืบเนื่องจากปัญหาอัตราการให้กำเนิดต่ำที่มักสัมพันธ์กับรายได้ที่สูงขึ้นด้วย จะมีข้อยกเว้นก็เพียงแต่จีนจากผลของนโยบายลูกคนเดียว ก่อนจะยกเลิกไปเมื่อ 4 ปีก่อน

 

ตัวอย่างประเทศที่กำลังประสบปัญหาเดียวกันอาจเรียกโดยย่อได้ว่า ‘แก่แล้วรวยแล้ว’ แต่ประเทศไทยมีแนวโน้มจะกลายเป็นรายแรกของโลกที่จะ ‘แก่ก่อนรวย’

 

ประเทศไทยประสบภาวะอัตราการเกิดดิ่งมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ เมื่อราว 40 ปีก่อน ผู้หญิงไทยมักจะมีลูกประมาณ 6.6 คน ภายในช่วงเวลา 20 ปีให้หลัง ยอดดังกล่าวเหลือ 2.2 คน และตัวเลขในปัจจุบันอยู่ที่ 1.5 คนต่อผู้หญิง 1 คนเท่านั้น

 

อัตราการเจริญพันธุ์ที่สหประชาชาติแนะนำควรอยู่ระหว่างผู้หญิง 1 คนต่อลูก 2.1 คน

 

ความเปลี่ยนแปลงนี้มาจากการสร้างความตระหนักรู้ในสังคม การทำให้เป็นเมืองที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดมาตั้งแต่ปี 2543 และกระแสการย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เมือง ช่วยให้ผู้หญิงได้รับการศึกษาและเข้าถึงวิธีคุมกำเนิดมากขึ้น

 

สหประชาชาติยังคาดการณ์ต่อไปอีกว่าประชากรไทยจะหายไปมากกว่า 34% ภายในช่วงสิ้นศตวรรษนี้ รายงานยังชี้อีกว่าภายในปี 2573 จะมีคนอายุเกิน 60 ปี ราว 25% ของจำนวนทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีฐานะยากจน

 

สภาพปัญหาโลกที่หนึ่งในประเทศโลกที่สาม

เมื่อประชากรหายไป ปัญหาแรงงานก็ตามมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ชี้ว่าปมนี้เป็นความท้าทายขนานใหญ่ โดยเฉพาะในแง่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะกัดกินไทยต่อไปอีก 20 ปี 

 

ไม่เพียงเท่านี้ เมื่อประชากรใหม่ลดน้อยลง ย่อมทำให้ผู้บริโภค ผู้จ่ายภาษี และผู้ดูแลผู้สูงอายุน้อยลงไปเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่เอื้อให้ไทยแตกต่างไปจากประเทศที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้คือความเปิดกว้างต่อผู้อพยพที่ปรากฏให้เห็นผ่านสัดส่วนแรงงานต่างชาติ 10% ในกำลังแรงงานทั้งหมดของไทย

 

ไทยเคยขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อปี 5.3% เมื่อราว 20 ปีก่อน แต่ปัจจุบันตัวเลขดังกล่าวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ระดับ 3% เท่านั้น

 

ขณะเดียวกันสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ยังชี้ให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายในภาคระบบสาธารณสุขเพิ่มขึ้นปีละ 12% ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 12 ปี จนทำให้ค่ารักษาพยาบาลของเราสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบั่นทอนรายได้ของคนในประเทศที่มีรายได้ต่อหัวราว 195,784 บาทต่อปี

 

สภาพปัญหาไม่ได้สิ้นสุดเท่านี้ แผนเงินบำนาญสำหรับผู้เกษียณในประเทศไทยยังรั้งท้ายอันดับ 54 ของผลสำรวจของบริษัทประกันอย่างอลิอันซ์ เอสอี (Allianz SE) อีกด้วย

 

หากปัญหาที่ถูกคาดการณ์และกำลังเกิดขึ้นเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที ความเหมือนประเทศพัฒนาแล้วที่ไทยจะได้ใกล้ชิดมากที่สุดจะเป็นเพียงตัวปัญหา ไม่ใช่สภาพการเงินและสวัสดิการอย่างที่ประชาชนคาดหวัง

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising