Google ได้สำรวจพฤติกรรมการค้นหาข้อมูลบน Google Search ของผู้บริโภคคนไทยในปี 2022 เพื่อเป็นแนวทางในการทำการตลาดและการวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจในปี 2023 ให้สอดรับกับพฤติกรรมและเทรนด์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
รายงานพบว่า หลังผ่านช่วงเวลา 3 ปีแห่งความไม่แน่นอน คนไทยเริ่มมีมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับคุณลักษณะและค่านิยมที่สำคัญของตัวเอง รวมถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในอนาคต พวกเขาภาคภูมิใจในขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นไทย แต่ยังคงเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและเทรนด์สากลต่างๆ ทั่วโลกไปพร้อมกัน
ขณะเดียวกัน จากกระแสการลาออกจำนวนมากของพนักงานหลังการระบาดของโควิด คนไทยก็เผชิญกับภาวะหมดไฟในการทำงาน (The Great Exhaustion) ซึ่งกระตุ้นให้หันมาใส่ใจเรื่องความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) ของตนเองมากขึ้น รวมถึงพัฒนาทักษะใหม่ๆ เพื่อเปิดประตูสู่โอกาสที่ดีกว่าในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- Google กังวล! Gen Z เริ่มใช้ TikTok ค้นหาข้อมูลมากขึ้น
- ไม่ค่อยพึ่ง Google แล้ว ‘Lazada’ พบผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 57% ค้นหาสินค้าโดยตรงบน ‘แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ’
- Google จะปรับอัลกอริทึมการ ‘ค้นหา’ ครั้งใหญ่ในรอบกว่าทศวรรษ เพื่อล้างบาง ‘เนื้อหาที่มุ่งทำแต่ SEO แต่ไร้ประโยชน์ต่อคนอ่าน’
พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปทำให้ Google ประเทศไทยได้สรุป 3 เทรนด์หลักของผู้บริโภคไทยออกมาดังนี้
1. การค้นหาตัวตนที่แท้จริง
รายงานพบว่าผู้คนเริ่มค้นหาว่าตัวเองเป็นใครและมีความสามารถอะไรบ้าง โดยไม่ถูกจำกัดด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น ความคาดหวังจากสังคมและที่ทำงาน ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเรื่องค่านิยมด้านวัฒนธรรม ค่านิยมส่วนบุคคล และค่านิยมด้านการงาน
สำหรับค่านิยมด้านวัฒนธรรมพบคนไทยต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมโลก แต่ก็ยังคงภูมิใจในขนบธรรมเนียมไทยและเรื่องราวความสำเร็จของคนไทยด้วยกันเอง ทำให้การค้นหา ‘Soft Power’ เพิ่มขึ้น 500% ในขณะที่คนไทยพยายามทำความเข้าใจความหมายและอิทธิพลของ Soft Power ที่มีต่อประเทศ
นอกจากนี้คนไทยและทั่วโลกต่างคิดถึงความหลัง ทำให้เทรนด์ย้อนยุคกลับมาอีกครั้ง การค้นหาเทรนด์ ‘Y2K’ เพิ่มขึ้นกว่า 370%
คนไทยยังภาคภูมิใจในทีมนักกีฬาทีมชาติไทยซึ่งเป็นตัวแทนในการแข่งขันกีฬาระดับสากล ส่งผลให้มีจำนวนการค้นหาสูงสุดเท่าที่เคยมีมา โดยหลังจากที่ทีมชาติไทยคว้าชัยในศึกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน (AFF) การค้นหา ‘ฟุตบอลทีมชาติไทย’ เพิ่มขึ้น 230% ในขณะที่การค้นหา ‘วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย’ เพิ่มขึ้น 170% หลังจากได้ที่ 8 ในการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก (นับเป็นผลงานที่ดีที่สุดของทีม)
ส่วนค่านิยมด้านการงานนั้นพบว่าชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวเป็นสองส่วนประกอบสำคัญในการใช้ชีวิต ผู้คนกำลังมองหาสมดุลระหว่างทั้งสองส่วนนี้มากขึ้น ถึงขั้นที่บางคนตัดสินใจลาออกจากงาน โดยคนไทยเริ่มมองหางานในลักษณะอื่นๆ ทำให้การค้นหา ‘เปลี่ยนงาน’ เพิ่มขึ้น 30% นอกจากนี้การค้นหา ‘Work-Life Balance’ เพิ่มขึ้น 100%
ด้านค่านิยมส่วนบุคคลพบการค้นหาวิธีดูแลตัวเองหลากหลายรูปแบบมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงวิธีรับมือกับความเครียด เช่น การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) โดยประชากร 23% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผยว่า พวกเขาวางแผนที่จะใช้จ่ายมากขึ้นในการดูแลตัวเอง ซึ่งรวมถึงความเป็นอยู่ที่ดี สุขภาพและรูปร่าง และการศึกษา
สิ่งที่น่าสนใจคือการค้นหา ‘ภาวะหมดไฟในการทำงาน’ เพิ่มขึ้น 30% ในประเทศไทย ขณะที่การค้นหาเรื่องนี้ในประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเชีย มาเลเชีย และออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น 20%
นอกจากนี้ความสนใจในการค้นหาไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากคนไทยตระหนักว่าความหลากหลายมีแต่จะทำให้เราเข้าใจและมีความสุขกับโลกใบนี้มากขึ้น โดยการค้นหา LGBTQIA+ เพิ่มขึ้น 110% แตะระดับสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ส่วนการค้นหา Gen Z เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับการค้นหาเกี่ยวกับคน Gen Y ที่เท่าเดิม
และ Google ยังมีการค้นหา ‘สมรสเท่าเทียม’ เพิ่มขึ้น 800% หลังจากที่ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่านการพิจารณาวาระแรกของสภาผู้แทนราษฎร
การจะจับเทรนด์ของผู้บริโภคในเรื่องนี้ได้นั้น Google แนะนำว่าต้องใช้กลยุทธ์การตลาดแบบไม่แบ่งแยก (Inclusive Marketing) ที่ต้องอาศัยความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ไม่ใช่เป็นเพียงกลยุทธ์ที่จัดว่า ‘ต้องทำ’
โดยแบรนด์ต้องมองว่าผู้บริโภคมีตัวตนหลากหลายมิติเพื่อที่จะสร้างเรื่องราวที่ดึงดูดและสื่อสารกับพวกเขา แบรนด์ควรหลีกเลี่ยงการเหมารวมและการมองข้ามรายละเอียดของบุคคล รวมถึงเลือกใช้การเล่าเรื่องที่คำนึงถึงผู้คนในทุกมิติและแสดงถึงตัวตนที่หลากหลาย ดูเคล็ดลับเพิ่มเติมได้จากแนวทางปฏิบัติ
2. การค้นหาคุณค่า
ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจ คนไทยเริ่มเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการให้คุณค่า ในขณะที่ความยั่งยืนเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคไทยมุ่งมั่นที่จะตัดสินใจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากนี้ราคาและความเชื่อมั่นในตัวแบรนด์ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการซื้อ พวกเขายังคงค้นหาสัญญาณที่ชัดเจนเพื่อตัดสินว่าแบรนด์นั้นๆ ให้บริการที่มีคุณภาพและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เชื่อถือได้หรือไม่
ซึ่งยิ่งราคาสินค้าสูงขึ้น ผู้คนก็ยิ่งรอบคอบกับวิธีการและช่วงเวลาที่ใช้จ่ายมากขึ้น โดยเลือกที่จะรอซื้อในจังหวะที่มีข้อเสนอหรือโปรโมชันที่ดีที่สุด การค้นหา ‘ถูกที่สุด’ เพิ่มขึ้น 100% เนื่องจากแนวโน้มของเศรษฐกิจมหภาคและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลให้คนไทยนิยมเลือกซื้อของราคาถูกกันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการค้นหา ‘จ่ายทีหลัง’ ก็เพิ่มขึ้น 100%
ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูง คนไทยจึงมองหาวิธีเพิ่มพูนความรู้ด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเรื่องเงินเฟ้อ การมองหาความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤต หรือการเฝ้าติดตามราคาที่สูงขึ้นของสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น
นอกจากนี้ Google ยังพบการค้นหา ‘เงินเฟ้อ’ เพิ่มขึ้น 140% ส่วนการค้นหา ‘ค่าครองชีพ’ เพิ่มขึ้น 40% โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้นหาแผนรับมือค่าครองชีพที่สูงขึ้นของรัฐบาลไทย ตลอดจนการค้นหา ‘ราคาน้ำมัน’ เพิ่มขึ้น 100%
รวมถึงคนไทยยังเริ่มสนใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น สะท้อนได้จากผู้บริโภคค้นหารถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลให้การค้นหา ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ เพิ่มขึ้น 90% ในประเทศไทย และการค้นหา ‘สถานีชาร์จ’ เพิ่มขึ้น 50%
สิ่งที่น่าสนใจคือ 39% ของคนไทยเผยว่ายินดีจะจับจ่ายซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สนับสนุนความยั่งยืนมากขึ้นหากมีตัวเลือก สำหรับในแง่ของต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น คนไทยยังพบว่าผลิตภัณฑ์ที่รักษ์โลกช่วยประหยัดเงินได้ในระยะยาว
ด้วยเหตุนี้การค้นหา Net Zero จึงเพิ่มขึ้น 330% เนื่องจากคนไทยตั้งใจที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ความกังวลทางเศรษฐกิจทวีความรุนแรง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจึงจำเป็นต่อแบรนด์ยิ่งกว่าที่เคย สะท้อนจากนักช้อปที่เริ่มเผชิญกับภาวะสับสนในการตัดสินใจซื้อ โดยมีทั้งความสงสัยและความไม่แน่ใจ แม้แต่การเลือกซื้อข้าวของทั่วไปในชีวิตประจำวัน พวกเขายังต้องพิถีพิถันในการเฟ้นหาแบรนด์และผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีและใช้ได้นาน 89% ของคนไทยต้องการความเชื่อมั่นในแบรนด์ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ
จากการสำรวจกลุ่มผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่าปัจจัยสำคัญที่สุด 3 จาก 5 ข้อ ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อและเป็นสัญญาณชัดเจนที่บ่งบอกถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ได้แก่ รีวิวในแง่บวก แบรนด์ที่เป็นที่รู้จักและการรับประกัน การส่งคืนสินค้า/คืนเงิน
การค้นหาการขยายเวลารับประกันสำหรับแบรนด์สมาร์ทโฟน 2 อันดับแรกเพิ่มขึ้น 40% และการค้นหาน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น 30% เนื่องจากความเชื่อใจในตัวแบรนด์ยังคงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคนึกถึงเป็นอันดับแรก
โดย Google แนะนำว่าแบรนด์ควรเสนอคุณค่าที่สอดคล้องกับความคาดหวังของลูกค้า เพราะเมื่อผู้บริโภคทบทวนงบประมาณการใช้จ่าย พวกเขาก็จะทบทวนการเลือกแบรนด์ต่างๆ อีกครั้งเช่นกัน รีวิวที่น่าเชื่อถือ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ราคาเหมาะสมและส่งเสริมความยั่งยืน สามารถช่วยแบรนด์สร้างความภักดีพร้อมทั้งดึงดูดผู้บริโภคที่มีศักยภาพมาจากแบรนด์อื่นๆ ได้
3. การค้นหาความสุข
เมื่อเผชิญกับสถานการณ์พลิกผันที่เข้ามาระลอกแล้วระลอกเล่า คนไทยเริ่มตระหนักว่าตนเองไม่ต้องการให้ชีวิตหยุดชะงักอีกต่อไป พวกเขาจึงเริ่มค้นหาวิธีสร้างความสุขเล็กๆ น้อยๆ ให้ชีวิต เพื่อเติมเต็มความสุขในชีวิต
คนไทยเปิดรับทั้งบริการดิจิทัลที่สะดวกสบายและการซื้อสินค้าจากหน้าร้านไปพร้อมๆ กัน ในช่วงที่มูลค่าทางเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยแตะ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2022
เราได้เห็นบริการดิจิทัลอย่างบริการการแพทย์ทางไกล (Telehealth) และบริการส่งด่วน พร้อมๆ กับงานคอนเสิร์ตและกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ที่กลับมาคึกคักอีกครั้ง เช่น การรวมกลุ่มทำและรับประทานอาหาร คนไทยเริ่มวางแผนทำกิจกรรมเหล่านี้ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชีวิตออฟไลน์และออนไลน์ได้ผสานรวมกันอย่างสมบูรณ์แล้ว
หลังโควิดเริ่มคลี่คลาย คนไทยจึงได้ทวงคืนอิสรภาพในการจับจ่าย ทำให้เกิดการลุกฮือของผู้บริโภคที่อัดอั้นมานาน โดยคนไทยมองหาวิธีชดเชยช่วงเวลา 2-3 ปีที่สูญเสียไปด้วยการช้อปล้างแค้น (Revenge Spending) ไม่ว่าจะเป็นการไปกินปิ้งย่างหรือเล่นกีฬา พวกเขามุ่งมั่นที่จะค้นหาความสนุกและแรงบันดาลใจอีกครั้งพร้อมกับแชร์ประสบการณ์เหล่านี้ให้กับคนที่รักด้วย
นอกจากนั้น Google ยังพบการค้นหา ‘ปิ้งย่างใกล้ฉัน’ เพิ่มขึ้น 110% และการค้นหา ‘ชาบูใกล้ฉัน’ เพิ่มขึ้น 70% เนื่องจากผู้บริโภคต่างกระหายการกินอาหารนอกบ้านร่วมกับคนที่รักและผองเพื่อน
ขณะที่การท่องเที่ยวกลับมาคึกคักด้วยงบที่จำกัด โดยโหยหาการท่องเที่ยวต่างประเทศแต่ยังเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งในปี 2022 ความต้องการเดินทางของผู้คนในประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงประเทศไทย ได้แซงหน้าปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิดไปเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวต้องประหยัดงบประมาณกันมากขึ้น ความตั้งใจ (Intent) ในการเดินทางไปต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นในปีที่ผ่านมา แต่ด้วยข้อจำกัดของซัพพลายในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ รวมถึงราคาข้าวของที่พุ่งสูงขึ้นเนื่องจากสถานการณ์เงินเฟ้อ ทำให้การท่องเที่ยวยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่นัก การเดินทางในประเทศจึงยังคงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจและเติบโตได้ดีขึ้นเรื่อยๆ
การค้นหา ‘ตัวเครื่องบินราคาถูก’ เพิ่มขึ้น 70% เทียบกับการค้นหา ‘ตั๋วเครื่องบิน’ ที่เพิ่มขึ้น 30% ส่วนการค้นหา ‘ทัวร์ต่างประเทศ’ เพิ่มขึ้น 100% เนื่องจากประเทศต่างๆ ได้เปิดพรมแดนอีกครั้ง
ด้านการใช้งานออนไลน์ที่ได้เข้ามาลดข้อจำกัดจากโควิดทำให้คนไทยใช้เรื่องนี้มาอำนวยความสะดวกจากกิจกรรมออฟไลน์ ซึ่งเทรนด์ที่พบ ได้แก่ การอำนวยความสะดวกให้กับการกินอาหารที่หน้าร้าน การค้นหา ‘จองร้านอาหาร’ เพิ่มขึ้น 70% เช่นเดียวกับการค้นหา ‘จองคิว’ ที่เพิ่มขึ้น 60% โดยเฉพาะการค้นหาการจองคิวต่ออายุหนังสือเดินทางและใบขับขี่ล่วงหน้า
เนื่องจากคนไทยใช้เวลาออนไลน์มากขึ้นและพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) มีผลบังคับใช้ในปี 2022 ผู้คนจึงสนใจที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและใช้มาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องตนเองทางออนไลน์ ผู้บริโภคคนไทยกว่า 7 ใน 10 คน ยอมรับว่าความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์กำลังเป็นหัวข้อที่สำคัญในขณะนี้ และความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลมีความสำคัญต่อพวกเขา
นอกจากนั้น Google ยังได้แนะนำแบรนด์สำหรับทำการตลาดโดยตีกรอบโลกออนไลน์และออฟไลน์ใหม่ เพื่อเข้าถึงนักช้อปในทุกๆ ที่ เนื่องจากทุกวันนี้ลูกค้าใช้ชีวิตและช้อปปิ้งผ่านช่องทางที่ไม่ตายตัว ทำให้กลยุทธ์การเข้าถึงลูกค้าจากทุกช่องทาง (Omni-Channel) มีความสำคัญมากกว่าที่เคย
สำหรับทั่วโลก การค้นหาในร้าน (In-Store) เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า ตั้งแต่ต้นปี 2022 ในขณะเดียวกัน 90% ของผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียแปชิฟิกก็คาดหวังให้ร้านค้าปลีก (Retailer) ขายผลิตภัณฑ์ทางออนไลน์ หรือแม้แต่ผู้ที่ซื้อสินค้าหน้าร้านหรือออฟไลน์ก็ยังคงพึ่งพาช่องทางดิจิทัลอย่างน้อยหนึ่งช่องทางสำหรับการหาข้อมูล