สภาทองคำโลก (World Gold Council) เปิดรายงาน Gold Demand Trends ฉบับล่าสุด พบว่าราคาทองคำได้รับอานิสงส์จากการเข้าซื้อของธนาคารกลางในช่วงครึ่งปีแรก บวกกับปัจจัยแรงหนุนจากตลาดการลงทุนที่แข็งแกร่ง รวมถึงความต้องการซื้อเครื่องประดับที่ค่อยๆ กลับมาฟื้นตัว
ความต้องการทองคำทั่วโลก (ไม่รวมการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์) ลดลงไป 2% เมื่อเทียบแบบรายปี อยู่ที่ 921 ตันในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ แต่ถ้าดูความต้องการโดยรวม (รวมการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์) พบว่ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง 7% เมื่อเทียบแบบรายปี ซึ่งสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของตลาดทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม รายงานพบว่าผู้บริโภคในประเทศไทยมีความต้องการทองคำลดลง 10% เมื่อเทียบแบบรายปี อยู่ที่ 7.6 ตัน จากเดิมที่ 8.5 ตัน ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 สาเหตุของการร่วงหล่นครั้งนี้มีผลมาจากสองปัจจัยหลักๆ คือความนิยมในเครื่องประดับที่ลดลง 10% ลงมาอยู่ที่ 1.7 ตัน จากเดิม 1.9 ตัน อีกทั้งความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำโดยรวมก็ลดลงไปด้วยเช่นกันกว่า 10% อยู่ที่ 5.9 ตัน จากเดิม 6.6 ตัน ซึ่งการลดลงของทั้งสองปัจจัยนั้นเทียบระหว่างไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 และ 2565 ตามลำดับ
Shaokai Fan หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าฝ่ายธนาคารกลางระดับโลกของสภาทองคำโลก กล่าวว่า สาเหตุที่ส่งผลให้ความต้องการทองคำในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ลดลง 10% เป็นเพราะราคาทองคำที่สูง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ผันผวน รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศไทย และความต้องการซื้อเครื่องประดับทองคำที่ลดลงเหลือน้อยกว่า 2 ตัน เนื่องจากผู้บริโภคเลือกขายคืนเครื่องประดับทองคำมากกว่าซื้อใหม่
แต่หากมองภาพรวมทั่วโลก แม้การเข้าซื้อของธนาคารกลางในไตรมาสที่ 2 จะลดลงมาอยู่ที่ 103 ตัน ซึ่งลดลงมากกว่า 64% จากไตรมาสก่อน (ไตรมาส 1 ปี 2023) แต่โดยรวมแล้วยอดการเข้าซื้อทองคำของธนาคารกลางในครึ่งปีแรกก็ยังมีจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ดีที่ 387 ตัน นับตั้งแต่ปี 2000 รวมถึงความต้องการรายไตรมาสก็ยังเป็นไปตามแนวโน้มเชิงบวกในระยะยาว ซึ่งบ่งชี้ว่าการซื้อในหน่วยงานภาครัฐ ธนาคารกลาง และองค์กรต่างประเทศ (Official Sector Buying) จะยังแข็งแกร่งไปตลอดทั้งปี
สำหรับในภาคของการลงทุนทองคำ ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำทั่วโลกในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 เพิ่มขึ้น 6% จากไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 มาอยู่ที่ 277 ตัน และในครึ่งปีแรกยอดรวมทั้งหมดคือ 582 ตัน โดยตัวขับเคลื่อนสำคัญคือตลาดตุรกี และแม้จะมีการไหลออกจากกองทุน ETF ทองคำกว่า 21 ตัน ในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ แต่ก็ยังเป็นปริมาณที่น้อยกว่าในไตรมาสเดียวกันของปี 2565 กว่า 2 เท่า ซึ่งอยู่ที่ 47 ตัน โดยยอดการไหลออกสุทธิในช่วงครึ่งแรกของปีนี้อยู่ที่ 50 ตัน ซึ่งก็น้อยกว่าครึ่งปีแรกของปี 2565 อยู่มากที่ 223 ตัน
ในฝั่งของความต้องการซื้อเครื่องประดับก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ดีขึ้นเล็กน้อยแม้ราคาทองคำจะสูง โดยความต้องการเพิ่มขึ้น 3% ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และมียอดรวมครึ่งปีแรกที่ 951 ตัน
ทั้งนี้ อุปทานทองคำรวมทั่วโลกก็มีปริมาณเพิ่มขึ้น 7% (1,255 ตัน) ในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าการผลิตจากเหมืองแร่จะทุบสถิติสูงสุดสำหรับครึ่งปีแรกที่ 1,781 ตัน
Louise Street นักวิเคราะห์การตลาดอาวุโสประจำสภาทองคำโลก กล่าวว่า ความต้องการที่สูงเป็นประวัติการณ์ของธนาคารกลางส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อตลาดทองคำในช่วงปีที่ผ่านมา แม้ในไตรมาสที่ 2 จะมีการชะลอตัวลง แต่แนวโน้มนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และสภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทายอย่างต่อเนื่องทั่วโลก
“สำหรับช่วงครึ่งหลังของปี 2566 การหดตัวทางเศรษฐกิจอาจทำให้ทองคำดีดตัวเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นการเน้นย้ำบทบาทของทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยขึ้นอีกขั้น ในสถานการณ์เช่นนี้ทองคำจะได้รับแรงหนุนจากความต้องการของนักลงทุนและธนาคารกลาง ซึ่งจะมาช่วยชดเชยความต้องการที่ลดลงสำหรับเครื่องประดับจากการที่ผู้บริโภคใช้จ่ายอย่างระมัดระวังและประหยัดมากขึ้น” Louise กล่าว
อ้างอิง:
- World Gold Council: Gold Demand Trends Q2 2023