×

รู้จักเรือฟริเกต กับความจำเป็นของไทยในการปกป้องน่านน้ำ 3.2 แสนตารางกิโลเมตร

16.05.2024
  • LOADING...
เรือฟริเกต

ช่วงที่ผ่านมามีข่าวที่น่าสนใจของกองทัพเรือตั้งแต่ช่วงตั้งรัฐบาลเพื่อไทย จากการที่ สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาให้แนวคิดว่าต้องการเปลี่ยนคำสั่งซื้อเรือดำน้ำ S26T จากจีนที่มีปัญหาเครื่องยนต์ให้กลายเป็น เรือฟริเกต แทน ซึ่งอาจต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกพอสมควร แต่ก็มีทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้าน และยังไม่แน่ชัดว่าสุทินจะนำแนวคิดนี้กลับมาใช้หรือไม่

 

เรือฟริเกตมีประเด็นกลับมาสู่ความสนใจอีกครั้งคือในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กองทัพเรือเสนอของบประมาณในการจัดหาเรือฟริเกตสมรรถนะสูงจำนวน 1 ลำ มูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเรื่องที่น่าสนใจคือ สส. ฝ่ายค้านออกมาสนับสนุนงบประมาณในโครงการนี้ซึ่งรัฐบาลตั้งมา แต่กลับเป็น สส. ฝ่ายรัฐบาลที่โหวตไม่เห็นชอบงบที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาเอง จนงบตกไป ซึ่งภายหลังมีความพยายามจะบรรจุโครงการนี้กลับเข้ามาในงบประมาณปี 2568 อีกครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ ไม่สามารถผ่านมติของคณะรัฐมนตรีได้

 

คำว่าฟริเกต (Frigate) กำเนิดขึ้นมาในแถบเมดิเตอร์เรเนียนราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 ใช้เรียกเรือขนาดเบาที่เน้นความเร็วและความคล่องตัวในการเคลื่อนที่ และเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง จนมาสู่ในยุคปัจจุบันที่ระบบอาวุธเรือรบสามารถติดตั้งได้กับเรือชนิดต่างๆ โดยไม่จำกัดประเภท เรือฟริเกตจึงมักใช้เรียกเรือรบที่มีขนาดตั้งแต่ 1,000-5,000 ตัน ที่อาจติดอาวุธได้หลากหลายและทำภารกิจได้รอบด้าน เทียบกับเรือพิฆาตที่มักมีขนาดที่ใหญ่กว่า หรือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (OPV) ที่แม้จะมีขนาดไล่เลี่ยกับเรือฟริเกต แต่ติดอาวุธน้อยกว่าสำหรับภารกิจการลาดตระเวน

 

ด้วยขนาดที่ไม่ใหญ่จนเกินไป แต่มีขีดความสามารถสูง เรือฟริเกตจึงมักเป็นเรือรบหลักของประเทศที่มีขนาดเล็กและไม่ต้องปฏิบัติการไกลจากฝั่งมากนักแบบประเทศไทยเป็นต้น โดยในภูมิภาคอาเซียนมีเพียงกัมพูชาและบรูไนเท่านั้นที่ไม่มีเรือฟริเกตประจำการ ส่วน สปป.ลาว เป็นประเทศไม่ติดทะเล

 

สำหรับไทย กองทัพเรือกำหนดความต้องการขั้นต่ำของเรือฟริเกตที่เพียงพอสำหรับดูแลน่านน้ำที่มีอาณาเขต 3.2 แสนตารางกิโลเมตรไว้ที่ 8 ลำ แต่ปัจจุบันกองทัพเรือมีเรือฟริเกตที่มีขีดความสามารถสูงเพียงพอเพียง 4 ลำ ได้แก่ เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นเรือใหม่ที่สุดของกองทัพเรือที่ต่อจากเกาหลีใต้ เรือหลวงตากสินและเรือหลวงนเรศวร ซึ่งเป็นเรือฟริเกตที่ต่อจากจีน แต่ภายหลังกองทัพเรือถอดระบบอาวุธของจีนออกและแทนที่ด้วยระบบอาวุธตะวันตกทั้งหมด และเรือหลวงรัตนโกสินทร์ ซึ่งอันที่จริงแล้วเรือหลวงรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นเรือแฝดของเรือหลวงสุโขทัยนั้นเป็นเรือประเภทเรือคอร์เวตต์ คือเรือที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก ความทนทะเลน้อย แต่ในกรณีนี้เรือติดอาวุธค่อนข้างครบถ้วนสมบูรณ์ จึงอนุโลมมานับรวมกันด้วย เนื่องจากเรือทั้ง 4 ลำนี้สามารถปฏิบัติการรบได้ 3 มิติ ได้แก่ บนฟ้า ผิวน้ำ และใต้น้ำ

 

นอกนั้นจะเป็นเรือที่ในอดีตถูกจัดว่าเป็นเรือฟริเกต แต่ในปัจจุบันมีสภาพเก่า ไม่ได้รับการปรับปรุงขีดความสามารถ ทำให้ปฏิบัติการรบได้ไม่รอบด้าน และถูกลดเกรดลงมาจากเรือฟริเกตให้เป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ซึ่งหมายถึงเรือที่ปฏิบัติการรบได้จำกัด และเน้นใช้ในการปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายทางทะเลมากกว่า ได้แก่ เรือหลวงเจ้าพระยา เรือหลวงบางปะกง เรือหลวงกระบุรี และเรือหลวงสายบุรี ซึ่งเป็นเรือชุดที่ต่อจากจีนเมื่อราว 30 ปีก่อน และยังใช้ระบบอาวุธของจีน

 

ส่วนเรือหลวงมกุฎราชกุมารและเรือหลวงคีรีรัฐ มีอายุการใช้งานราว 50 ปี เรือหลวงปิ่นเกล้าเป็นเรือที่ใช้มาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยขีดความสามารถที่ขาดของเรือเหล่านี้คือการต่อสู้อากาศยานที่มีจำกัดมาก เนื่องจากไม่มีจรวดต่อสู้อากาศยานและการปราบเรือดำน้ำ ซึ่งมีระบบอาวุธที่จำกัดและแทบใช้งานไม่ได้ผลกับเรือดำน้ำในปัจจุบัน

 

นอกนั้นก็เป็นเรือที่ถูกต่อออกมาเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งจริงๆ คือเรือหลวงปัตตานีและเรือหลวงนราธิวาส ซึ่งสั่งต่อจากจีนเช่นกัน แต่ไม่มีระบบอาวุธของจีนอยู่บนเรือและกำลังได้รับการปรับปรุง ตลอดจนเรือหลวงกระบี่และเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ ที่เป็นการต่อในประเทศเอง

 

ดังนั้นเราจะสังเกตได้ว่าเรือฟริเกตถือเป็นเรือชั้นแนวหน้า คือมีขีดความสามารถสูง ออกแบบมาสำหรับการรบโดยเฉพาะ และเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการป้องกันประเทศ ซึ่งเหลืออยู่เพียงครึ่งเดียวของจำนวนขั้นต่ำสุดที่ควรจะมี และถ้าไม่นับเรือหลวงรัตนโกสินทร์ที่จริงๆ แล้วเป็นเรือคอร์เวตต์ ก็จะเหลือเรือฟริเกตจริงๆ แค่ 3 ลำเท่านั้น ได้แก่ เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือหลวงตากสิน และเรือหลวงนเรศวร เทียบกับพื้นที่ 3.2 แสนตารางกิโลเมตร หรือพื้นที่ราวๆ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ รวมกันที่ต้องดูแลและป้องกัน แค่นี้ไม่ต้องมีความรู้ทางยุทธศาสตร์ก็น่าจะเดาได้ว่าเรือไม่พอที่จะดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน

 

แต่สิ่งที่แน่นอนอีกเช่นกันก็คือการซื้ออาวุธนั้นมีราคาแพงมาก โดยเฉพาะอาวุธส่วนมากนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งเท่ากับเราต้องเสียเงินงบประมาณออกไปยังนอกประเทศ ซึ่งงบประมาณเหล่านี้หมดโอกาสที่จะช่วยกระตุ้นหรือพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ ก็คงเหมือนที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ณ ตอนนี้โครงการแลนด์บริดจ์สำคัญกว่าการซื้อเรือดำน้ำหรือเครื่องบินรบมากนัก ซึ่งก็อาจเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่และมีความเร่งด่วนมากกว่าความมั่นคงทางทหารที่รัฐบาลมองว่ายังรอได้

 

แต่ถ้าไม่อยากรอ และอยากที่จะให้งบประมาณในการซื้ออาวุธเกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อที่เราจะได้พัฒนาไปได้ทั้งความมั่นคงและเศรษฐกิจพร้อมๆ กัน รัฐบาลและกองทัพเรือควรออกแบบให้การจัดหาอาวุธที่มีขนาดใหญ่แบบนี้ต้องมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ เช่น ให้ประเทศผู้ขายอาวุธมาลงทุนในไทย (Offset) หรือจัดหาสินค้าหรือบริการของไทยเป็นการตอบแทน (Counter Trade) หรือใช้สินค้าของไทยแลกเปลี่ยนหรือจ่ายแทนเงินสดบางส่วนของมูลค่าอาวุธ (Barter Trade) หรือกิจกรรมอื่นใดที่สร้างผลประโยชน์และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการจะเกิดสิ่งนี้ขึ้นได้ต้องมีภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเท่านั้น

 

สิ่งที่กองทัพต้องตระหนักก็คือการบอกเล่าแต่ความจำเป็นด้านความมั่นคงเพียงอย่างเดียวนั้นถือเป็นเรื่องล้าสมัยแล้ว งบประมาณที่ลงทุนเพื่อความมั่นคงเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า และทำให้ประเทศเสียโอกาสที่จะพัฒนาให้ประชาชนกินดีอยู่ดี แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ประเทศมีความมั่นคงหรือมีกำลังทหารที่เข้มแข็งในระดับหนึ่งก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ดังนั้นการพัฒนาทั้งความมั่นคงและเศรษฐกิจไปพร้อมกัน นอกจากจะเป็นการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้งบประมาณในการซื้ออาวุธแล้ว ยังเป็นโอกาสให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และถ้าจัดการได้ดีก็จะเป็นช่องทางในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อีกด้วย

 

กองทัพไม่มีทางเลือกแล้ว เพราะถ้าไม่ยอมให้งบประมาณซื้ออาวุธไปพัฒนาเศรษฐกิจด้วย กองทัพก็จะแทบไม่ได้รับโอกาสในการซื้ออาวุธในอนาคตอย่างแน่นอน

 

ภาพ: Royal Thai Navy Cmdr. Kamchai Charoenpongchai

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising