×

​​กรมวิทย์ฯ เผย ไทยพบโควิดสายพันธุ์ EG.5.1 แล้ว 5 ราย แต่ยังไม่พบความรุนแรง

โดย THE STANDARD TEAM
14.07.2023
  • LOADING...
COVID-19

วันนี้ (14 กรกฎาคม) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรณีที่มีข่าวพบโควิดสายพันธุ์ EG.5.1 แพร่เร็วกว่า XBB.1.16 นั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติม ดังนี้ 

 

EG.5.1 หรือ XBB.1.9.2.5.1 เป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน XBB.1.9.2.* มีตำแหน่งกลายพันธุ์เพิ่มเติมบนโปรตีนหนาม คือ S:F456L (กรดอะมิโนที่ตำแหน่ง 456 เปลี่ยนจากฟีนิลอะลานีนเป็นลิวซีน) และ S:Q52H (กรดอะมิโนที่ตำแหน่ง 52 เปลี่ยนจากกลูตามีนเป็นฮีสทิดีน) 

 

ทั้งนี้ อัตราการแพร่เชื้อในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาในภาพรวมทั่วโลก พบว่าสูงกว่าสายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16* ร้อยละ 45 สถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียระหว่างวันที่ 4 มิถุนายน – 4 กรกฎาคม 2566 พบว่า XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์ที่พบมากที่สุด คิดเป็น 13.71% รองลงมาคือสายพันธุ์ XBB.1.9.1 คิดเป็น 8.68% และสายพันธุ์ EG.5.1 คิดเป็น 7.33% 

 

สถานการณ์ของสายพันธุ์ EG.5.1 ทั่วโลก อ้างอิงจากฐานข้อมูลกลาง GISAID แบ่งตามภูมิภาค ดังนี้ เอเชีย 1,385 ราย, ยุโรป 203 ราย, โอเชียเนีย 35 ราย, อเมริกาเหนือ 360 ราย, อเมริกากลาง 4 ราย และอเมริกาใต้ 1 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2566) 

 

สายพันธุ์ EG.5.1 ในภูมิภาคเอเชียพบรายงานจาก 11 ประเทศ โดยลำดับจากมากไปน้อย ดังนี้ จีน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, ฮ่องกง, อิสราเอล, สปป.ลาว, อินโดนีเซีย, ไต้หวัน, ไทย และอินเดีย 

 

สำหรับประเทศไทยพบสายพันธุ์ EG.5.1 จำนวน 5 ราย รายงานครั้งแรกในเดือนเมษายน 2566 จำนวน 1 ราย, เดือนพฤษภาคม 2566 จำนวน 3 ราย และเดือนมิถุนายน 2566 จำนวน 1 ราย ทั้งนี้ ยังไม่พบข้อมูลเรื่องการเพิ่มความรุนแรง 

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า สถานการณ์โดยรวมในปัจจุบันพบว่า XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดของประเทศไทยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 17-23 มิถุนายน 2566 ผลการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อก่อโรคโควิดจำนวน 74 ราย พบเป็นสายพันธุ์ลูกผสม XBB.* 73 ราย (นับรวม XBB.1*, XBB.1.9*, XBB.2.3*, XBB.1.5* และ XBB.1.16*) คิดเป็น 98.6% และสายพันธุ์ลูกผสม XBL (XBB.1.5* ผสมกับ BA.2.75*) 1 ราย สัดส่วนสายพันธุ์ที่ตรวจในสัปดาห์นี้ 2 อันดับแรก ได้แก่ สายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16* และ XBB.1.9.1* คิดเป็น 56.76% และ 16.22% ตามลำดับ ซึ่งไม่พบ EG.5.1 ในสัปดาห์นี้

 

ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญกับการติดตามโอมิครอนจำนวน 8 สายพันธุ์ จากพื้นฐานของข้อมูลการเพิ่มความชุกหรือความได้เปรียบด้านอัตราการเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ และการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการได้เปรียบในการก่อโรค ได้แก่ สายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง หรือ Variants of Interest (VOI) 2 สายพันธุ์ คือ XBB.1.5* และ XBB.1.16* และสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง หรือ Variants under Monitoring (VUM) 6 สายพันธุ์ คือ BA.2.75*, CH.1.1*, XBB*, XBB.1.9.1*, XBB.1.9.2* และ XBB.2.3* 

 

ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังคงเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของเชื้อก่อโรคโควิดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X