วันนี้ (17 กันยายน) ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 13 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย สุโขทัย พิษณุโลก หนองคาย อุดรธานี บึงกาฬ ปราจีนบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา พังงา ชุมพร ภูเก็ต และสตูล รวม 45 อำเภอ 192 ตำบล 934 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 27,831 ครัวเรือน
สำหรับพื้นที่ประสบอุทกภัยในภาคเหนือ ขณะนี้ระดับน้ำได้ลดระดับลงแล้ว การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจึงมุ่งไปที่การฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับมาสู่สภาพเดิมโดยเร็ว โดย ปภ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอาสาสมัครมูลนิธิ ส่งกำลังพลและอุปกรณ์เข้าฟื้นฟูทำความสะอาดบ้านเรือนประชาชน ถนนหนทาง เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติโดยเร็วที่สุด
พร้อมกันนี้ได้สั่งการสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป สำหรับพื้นที่ภาคอีสานนั้น ปภ. ได้ระดมสรรพกำลังจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในภาคอีสานไปปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เป็นการล่วงหน้าแล้ว โดยได้กระจายกำลังติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องจักรกลสาธารณภัยรองรับน้ำโขงที่ล้นตลิ่งและระบายน้ำออกจากพื้นที่ วางกระสอบทรายกั้นน้ำ
รวมถึงอพยพประชาชนในพื้นที่ประสบภัยและพื้นที่เสี่ยงภัยที่คาดว่าจะเกิดสถานการณ์ขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (Emergency Operation Center: EOC) ที่ ปภ. เพื่อติดตามสถานการณ์ วิเคราะห์ข้อมูล ประสานงาน และบริหารทรัพยากร เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานให้กับพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเสียหายและลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากอุทกภัย กระทรวงมหาดไทย โดย ปภ. ได้หารือกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สายงานโทรคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กรมอุตุนิยมวิทยา, สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.), สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.), ผู้ให้บริการเครือข่าย AIS, True และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) โดยบ่ายวานนี้ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะร่วมกันดำเนินการส่งข้อความแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าผ่านโทรศัพท์มือถือ (SMS) ทั้งการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า 12-24 ชั่วโมง และการแจ้งเตือนภัยแบบฉุกเฉิน 6-12 ชั่วโมง เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้รับข้อมูลการแจ้งเตือนภัย สามารถเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อย่างทันท่วงที และลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ปภ. จะติดตามสถานการณ์ วิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงภัย และส่งข้อความ (SMS) แจ้งเตือนประชาชน ไปยังผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เพื่อแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยต่อไป โดยสามารถแจ้งเตือนภัยได้ทันทีหากมีสถานการณ์ภัยที่เป็นไปตามเกณฑ์
ทั้งนี้ ปภ. จะประชาสัมพันธ์และแจ้งรายละเอียดข้อความ เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนอีกครั้งก่อนแจ้งเตือน เพื่อให้ประชาชนคลายความกังวลใจ และมั่นใจว่าข้อความที่ได้รับคือข้อความแจ้งเตือนภัยจากทางราชการ ไม่ใช่มิจฉาชีพแต่อย่างใด
ทั้งนี้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รายงานเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง และช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลัง จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย