×

ครม. เยียวยาน้ำท่วมอีก 16 จังหวัด วงเงิน 5,000 ล้านบาท พร้อมเพิ่มงบภัยพิบัติจังหวัดอีก 50 ล้านบาท ย้ำ รัฐบาลนี้จ่ายเงินเยียวยาเร็ว

โดย THE STANDARD TEAM
03.12.2024
  • LOADING...
เยียวยาน้ำท่วม

วันนี้ (3 ธันวาคม) แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้เป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาล ครม. ได้รับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยมีการเพิ่มกรอบเงินทดรองของจังหวัดจากเดิม 20 ล้านบาท เพิ่มอีก 50 ล้านบาท ในจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติ 6 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส

 

นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบอนุมัติการใช้จ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 เพิ่มเติมในกรอบของงบประมาณตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการจ่ายเงินที่ให้มีการปรับในกรณีที่อยู่อาศัยประจำพื้นที่น้ำท่วม ดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายหรือที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขังติดต่อกันเกินกว่า 7 วัน ให้ความช่วยเหลืออัตราเดียวกันทุกครัวเรือน ครัวเรือนละ 9,000 บาท จากเดิมใน 57 จังหวัด เพิ่มเติมอีก 16 จังหวัด รวมถึงจังหวัดในภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ด้วย เป็นจำนวนเงิน 5,000 ล้านบาท จนถึงสิ้นปี 2567 โดยให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการอย่างเร่งด่วนต่อไป

 

ขออย่าดราม่าน้ำท่วมใต้ ย้ำ มาตรการช่วยเหลือต้องไปถึง

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณีดราม่าละเลยคนใต้หลังเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ว่า เรื่องภาคใต้ดราม่าก็ตัดไปบางส่วน คำถามเรื่องมาตรการก็ตอบไปหมดแล้ว ขออย่าเอาดราม่าไปปนกับปัญหา และอย่างที่เคยบอกไปว่าเรื่องดราม่าไม่จำเป็น สิ่งสำคัญคือน้ำท่วมภาคใต้มาตรการต้องไปถึง ส่วนตนจะลงพื้นที่ไปหรือไม่ก็ขอดูสถานการณ์ และเมื่อน้ำลด มาตรการฟื้นฟูไปถึงแน่นอน แต่เดือนธันวาคมมีภารกิจค่อนข้างแน่น เช่นเดียวกับเดือนที่แล้ว จะพยายามทำทุกอย่างให้ได้มากที่สุด ซึ่งได้ส่งรัฐมนตรีลงพื้นที่ไปหลายคน

 

“เรื่องการเยียวยาและฟื้นฟูยืนยันว่าไม่มีน้อยกว่าที่ใด พิจารณาตามหลักการ เป็นอัตราเดียวกัน 9,000 บาทต่อครัวเรือน และตั้งแต่น้ำท่วมภาคเหนือ ภาคอีสาน ที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้จ่ายเงินค่าเยียวยาได้เร็วมาก ถ้าตัดเรื่องดราม่าแล้วลงไปคุยกับพี่น้องประชาชน จะทราบว่าเราลงพื้นที่ช่วยเหลืออย่างจริงจัง เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ที่ไหนในประเทศไทยก็ได้รับการดูแลจากรัฐบาลแบบเดียวกัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งเตือนประชาชนเรียบร้อยแล้ว และในที่ประชุม ครม. พูดคุยกันว่าจะมีฝนตกหนักเพิ่มในพื้นที่ภาคใต้ จึงสั่งการให้ทุกหน่วยเตรียมพร้อม และแจ้งเตือนเรียบร้อยหมดแล้ว

 

คาดปีนี้จัดการฝุ่น กทม. ได้ดี

 

นอกจากนี้ปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM2.5 สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการป้องกันมลพิษทางอากาศ ทั้งในส่วนของปัญหาจากการเผาทางการเกษตร ควัน ไอเสียของรถยนต์ และฝุ่นควันจากภาคอุตสาหกรรม โดยกระทรวงการต่างประเทศมีมาตรการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใสร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมทั้งยังมีนวัตกรรมอีกจำนวนมากที่รัฐบาลจะสนับสนุนในเรื่องการดักฝุ่นควัน เพื่อไม่ให้เกิดควันเพิ่มขึ้น

 

ส่วนของกรุงเทพมหานครได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครร่วมมือกับทุกภาคส่วนป้องกันปัญหาการเกิดฝุ่น PM2.5 ซึ่งจำนวนที่ตรวจพบค่าฝุ่น PM2.5 ที่เกินมาตรฐานเมื่อเทียบกับปี 2566 ลดลงถึงร้อยละ 20 จึงคาดการณ์ว่าในปีนี้น่าจะจัดการปัญหาเรื่องฝุ่นควันได้ดียิ่งขึ้น

 

ครม. อนุมัติสร้างทางด่วน M9 บางขุนเทียน-บางบัวทอง

 

จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้ดำเนินการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานคร ทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทอง ของกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม (โครงการ M9) ตามที่คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนให้ความเห็นชอบแล้ว เพื่อช่วยแบ่งเบาปริมาณจราจรบนถนนกาญจนาภิเษกด้านตะวันตก และเชื่อมต่อโครงข่ายทางหลวงพิเศษรอบกรุงเทพมหานคร โดยมีเส้นทางรวมระยะทางประมาณ 35.85 กิโลเมตร

 

จุดเริ่มต้นบริเวณทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน สิ้นสุดบริเวณจุดตัดทางแยกต่างระดับบางบัวทอง มีการเวนคืนที่ดินในพื้นที่โครงการทั้งหมด 3 ตำแหน่ง รวมพื้นที่ทั้งหมด 33 ไร่ 2 งาน 75 ตารางวา โดยมีรูปแบบการก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร มีทางขึ้น 8 จุด และทางลง 6 จุด ทางแยกต่างระดับ 5 แห่ง

 

สำหรับการแบ่งปันผลประโยชน์ เอกชนจะเป็นผู้รับสัมปทานเป็นผู้ได้รับอนุญาตในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางตามอัตราค่าธรรมเนียมผ่านทางที่กำหนด โดยให้มีการปรับขึ้นทุก 5 ปี ระยะเวลาโครงการรวมทั้งสิ้น 34 ปี

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X