ครม. มีมติเห็นชอบหลักการของร่าง พ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงินแล้ว เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Financial Hub ได้อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกรุงเทพฯ รั้งตำแหน่งที่ 95 จาก 121 ในดัชนีศูนย์กลางการเงินทั่วโลก สะท้อนว่าอันดับของไทยยังทิ้งห่างอยู่มากเมื่อเทียบกับ Financial Hub ชั้นนำอันดับต้นๆ ของโลก
วันนี้ (4 กุมภาพันธ์) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. …. แล้วตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
โดย พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า พ.ร.บ. Financial Hub ดังกล่าว เป็นการยกร่างกฎหมายชุดใหม่ให้มีความเป็นสากล โปร่งใส และเอื้อต่อการประกอบธุรกิจ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Financial Hub ได้อย่างแท้จริงตามนโยบายรัฐบาล
ทั้งนี้ ในระยะต่อไปร่าง พ.ร.บ. จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ก่อนที่จะมีผลใช้บังคับต่อไป
กรุงเทพฯ รั้งตำแหน่งที่ 95 จาก 121 ศูนย์กลางการเงินทั่วโลก
อย่างไรก็ดี Global Financial Centres Index 36 (GFCI) ล่าสุด ซึ่งจัดทำโดย Z/Yen Group และเผยแพร่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ากรุงเทพฯ รั้งตำแหน่งที่ 95 จาก 121 ศูนย์กลางการเงินทั่วโลก สะท้อนว่าอันดับของไทยยังทิ้งห่างอยู่มากเมื่อเทียบกับศูนย์กลางทางการเงินชั้นนำอันดับต้นๆ ของโลก
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) มองเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า เมื่อเทียบกับศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคหรือโลก เช่น นิวยอร์ก (อันดับ 1) ลอนดอน (อันดับ 2) ฮ่องกง (อันดับ 3) สิงคโปร์ (อันดับ 4) และดูไบ (อันดับ 16) จะพบว่าอันดับของไทยยังทิ้งห่างอยู่มาก เนื่องจากเมืองศูนย์กลางทางการเงินอันดับต้นๆ เหล่านั้นได้รับการออกแบบกฎกติกา เกณฑ์ด้านภาษี และโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ ที่พร้อมสนับสนุนการเคลื่อนย้ายเงินทุนและการระดมทุนอย่างมาก
นอกจากนี้ เมืองเหล่านั้นยังมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน สอดคล้องกับจุดแข็งทางเศรษฐกิจและการเงินของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน เช่น สิงคโปร์มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการทางการเงิน (Wealth Managemen) ขณะที่ฮ่องกงเป็นประตูทางการเงินสู่จีนและประเทศอื่นในโลก ทำให้เชี่ยวชาญด้านบริการทางการเงินสำหรับกิจการข้ามชาติ เช่น Investment Bank และ Trade Finance
กระนั้น KResearch มองว่าไทยมีจุดแข็งหลายด้าน ทั้งโครงสร้างดิจิทัล โลจิสติกส์ ความเป็นเมืองน่าอยู่ และมาตรฐานของสถาบันการเงินไทย ซึ่งทั้งหมดถือเป็น ‘ปัจจัยตั้งต้น’ สำหรับไทยที่ต้องการขยายบทบาทการเป็นศูนย์กลางทางการเงินในอนาคต
ไทยเก่งอะไรถึงท้าชิงตำแหน่ง Financial Hub
KResearch ระบุว่า จากสายตาของต่างชาติ ไทยถูกมองว่ามีจุดแข็งหลายด้าน ได้แก่
- เงินบาทเป็นสกุลเงินที่ได้รับความนิยมมากที่สุด รองจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ในการรับชำระค่าสินค้าส่งออกและจ่ายเป็นค่าสินค้านำเข้ากับคู่ค้าในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะการค้ากับกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา
- พัฒนาการของตลาดการเงินไทยที่มีความเป็นสากล
- มีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและโลจิสติกส์ที่ดี
- มีค่าครองชีพที่อยู่ในระดับที่ยังไม่สูงนัก
- มีวัฒนธรรมที่หลากหลายและเปิดกว้าง
- กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ติดอันดับโลก
โดยใน InterNations ซึ่งเป็นชุมชนออนไลน์สำหรับชาวต่างชาติ จัดอันดับเมืองที่น่าอยู่และน่าทำงานที่สุดในโลกสำหรับชาวต่างชาติปี 2566 พบว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่เป็นอันดับ 9 ของโลกสำหรับชาวต่างชาติ โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น คุณภาพชีวิต ค่าครองชีพ และความพึงพอใจในอาชีพการงาน ขณะเดียวกัน นิตยสาร Time Out จัดอันดับให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ดีที่สุดอันดับ 2 ของโลกในปี 2568 โดยเน้นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม อาหาร และความสุขของคนในเมือง
“จุดแข็งข้างต้นทั้งด้านโครงสร้างดิจิทัล โลจิสติกส์ ความเป็นเมืองน่าอยู่ และมาตรฐานของสถาบันการเงินไทย ถือเป็น ‘ปัจจัยตั้งต้น’ สำหรับไทยที่ต้องการขยายบทบาทการเป็นศูนย์กลางทางการเงินในอนาคต” KResearch กล่าว
ไทยยังต้องปรับอะไรหากจะเป็นศูนย์กลางทางการเงินโลกอย่างแท้จริง
ดังนั้นหากต้องการขยายบทบาทของการเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่ได้รับการตอบรับจากต่างชาติมากขึ้นกว่านี้ KResearch มองว่าไทยต้องเร่งปรับปรุงเรื่องต่างๆ ดังนี้
- การเร่งเพิ่มศักยภาพของแรงงานไทย
- การสนับสนุนให้มี Talent จากต่างชาติเข้ามามากขึ้น
- การลดภาษีและการผ่อนคลายเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค ควบคู่ไปกับการพัฒนาจุดแข็งทางเศรษฐกิจของไทย
“ร่าง พ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจการเงิน พ.ศ. …. ขณะนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องยังต้องร่วมมือกันพัฒนา เพื่อให้ไทยสามารถมีพื้นที่ยืนที่ดีขึ้นในเวทีการเป็นศูนย์กลางทางการเงินโลกอย่างแท้จริง” KResearch กล่าว
อ้างอิง: