×

ไทยตกขบวนฟื้นตัว! 3 นักเศรษฐศาสตร์เร่งรัฐอัดฉีด-ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

05.03.2021
  • LOADING...
ไทยตกขบวนฟื้นตัว! 3 นักเศรษฐศาสตร์เร่งรัฐอัดฉีด-ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

ในงาน THE STANDARD WEALTH FORUM: Catch the Next Curve บนเวทีเสวนาหัวข้อ ‘Economic Outlook 2021 โอกาสของโลกอยู่ตรงไหน ไทยตกขบวนการฟื้นตัวแล้วหรือยัง’ 

 

ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงิน KKP กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยตกขบวนการฟื้นตัวของโลกแล้ว เพราะเมื่อดูการเบิกจ่ายเม็ดเงินการกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ตั้งวงเงินราว 1.9 ล้านล้านบาท แต่ยังเบิกจ่ายในส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียง 2 แสนล้านบาท ส่วนเงินเยียวยาและอื่นๆ เบิกจ่ายเพียง 5-6 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 4-5% ของจีดีพี และเมื่อเทียบกับจีดีพีไทยปี 2563 ที่ติดลบ 6% ถือว่าไม่ช่วยการฟื้นตัวของประเทศนัก

 

“ปัญหาหลักคือ (รัฐ) จะเอาเงินไปใช้ทำอะไรมากกว่า จากที่ตั้งงบ 4 แสนล้านกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังใช้ไปน้อยมาก และไทยยังไม่รู้ว่าจะปรับตัวพาทิศทางเศรษฐกิจไปทางไหนดี เราขาดความมั่นใจตรงนี้”

 

ดังนั้นไทยต้องตั้งคำถามว่า การพึ่งจุดแข็งในอดีต เช่น การเติบโตในอุตสาหกรรมเคมี รถยนต์ ฯลฯ ยังเป็นยุทธศาตร์หรือไม่ หรือไทยจะขยับสู่ธุรกิจภาคบริการ อย่างการท่องเที่ยว เพื่อให้เอกชนสามารถเลือกเดินหน้าไปพร้อมๆ กับภาครัฐได้ในแนวทางเดียวกันอย่างไร

 

อย่างไรก็ตามต้องติดตามสถานการณ์โลก ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนในการผลักดันด้านเทคโนโลยี เช่น AI, IOT และ 5G เพื่อเป็นมหาอำนาจของโลก และต้องติดตามเงินเฟ้อโลกที่จะเร่งตัวขึ้น จากเม็ดเงินอัดฉีดของธนาคารกลางทั่วโลก

 

ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกมีทิศทางการฟื้นตัวจากข่าวดีเรื่องการกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิผล และทยอยเปิดประเทศ เช่น กลางปี 2564 นี้คาดว่าจะกระจายในสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และเริ่มทั่วถึงในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนไทยและจีนคาดว่าจะเริ่มทั่วถึงในต้นปี 2565

 

ทั้งนี้ ความเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความเสี่ยงโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ที่อาจทำให้การเปิดการท่องเที่ยวชะลอ นโยบายการเงินและการคลังที่ทั่วโลกมีการอัดฉีด QE กว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนมาตรการคลังของสหรัฐฯ หากรวมแพ็กเกจในปีก่อน 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐที่จะออกในปีนี้ จะคิดเป็น 25% ของจีดีพีสหรัฐฯ 

 

ในส่วนของไทยรัฐบาลที่ผ่านมาใช้เงินกับการเยียวยาเยอะ ดังนั้นหลังจากนี้ต้องอัดฉีดเม็ดเงินมาตรการให้ตรงจุดกว่าปัจจุบัน เพื่อจะช่วยลดปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นแผลเป็นของเศรษฐกิจไทยที่มีมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 เช่น โครงสร้างการพึ่งพิงการท่องเที่ยวของไทยอยู่ที่ 12% ของจีดีพี ฯลฯ และไทยต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในโลกที่เปลี่ยนแปลงและต้องเจอความท้าทายใหม่ๆ

โดย 3 เรื่องที่เศรษฐกิจไทยต้องปรับ ได้แก่ 1) SMEs เข้มแข็งต้องเป็นวาระแห่งชาติ 2) Reskill ในทุกธุรกิจ ซึ่งรายใหญ่ของไทยเริ่มทำแล้ว แต่รายกลาง-เล็กยังไม่เห็น และต้องปรับตัวในเรื่อง Digital Adoptions และ 3) Global Mindset ที่ไทยยังไม่ได้มีมากนัก เห็นได้จากเครื่องชี้ทั้งมิติการลงทุนในต่างประเทศ ทั้ง FDI และการลงทุนรายบุคคลไม่สูงมาก รวมถึงการมองซัพพลายเชนทั้งภูมิภาคให้มากขึ้น 

 

อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยต้องหาจุดยืนท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป ทั้งเรื่องสงครามเทคโนโลยีที่กลายเป็นเรื่องหลักของโลก ทุกฝ่ายต่างลงทุนเรื่องเทคโนโลยีมากขึ้น ทั้งเทรนด์ 5.0 พลังงานสะอาด ที่จะกลายเป็นหัวใจในการต่อสู้ระหว่างจีนและสหรัฐฯ  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทั้งโลก ต้องยอมรับว่าโลกหลังการเปลี่ยนแปลงยังไม่มีความชัดเจนว่าเทรนด์ต่างๆ เช่น AI, EV ฯลฯ ที่จะต้องวิจัยและพัฒนาจะเปลี่ยนไปอย่างไร และใครจะเป็นผู้ชนะในอุตสาหกรรมใด

 

ขณะที่แผนฉบับใหม่ 5 ปีของจีนที่กำลังจะออกในเดือนมีนาคม 2564 ที่เรียกว่า Dual Circulation เน้นเรื่อง ‘การหมุนเวียน’ โดยจีนจะมุ่งเน้นการพัฒนาจากเศรษฐกิจในประเทศ เพื่ออาศัยความต้องการซื้อจากผู้ซื้อ 1,400 ล้านคนในประเทศ และต่อยอดสู่เศรษฐกิจภายนอก ซึ่งทำให้สงครามการค้าหลังจากนี้จะเปลี่ยนไปในรูปแบบใหม่เป็น Semi Decoupling ที่ประเทศใหญ่อย่างจีน-สหรัฐฯ จะมุ่งเน้นเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น จากก่อนหน้าที่มองออกไปสู่ตลาดโลก 

 

“จีนเศรษฐกิจเก่าก็ตายไป แต่เขาสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ เรื่องในอนาคตมาสร้างการเติบโต แต่ไทยยังตั้งคำถามเรื่องนี้น้อยไป อย่างเรื่องท่องเที่ยวไม่กลับมา (ฟื้นตัว) เร็วเพราะความไม่แน่นอนสูง” 

 

ในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง ไทยต้องติดตามและเจาะลึกในระดับอุตสาหกรรมว่าไทยมีกลยุทธ์หลัก และอยู่จุดใดในห่วงโซ่อุตสาหกรรม และคำถามสำคัญคือโจทย์การสร้างดีมานด์ ผ่านการสร้างชนชั้นกลางใหม่ เช่น สร้างเมืองยกระดับชนชั้นกลาง การยกระดับรายได้ เรื่องความยากจน และเครื่องยนต์ใหม่ของภาคเศรษฐกิจจะทำให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X