กระทรวงพาณิชย์เผย ไทยนำเข้าพลังงานจากตะวันออกกลางมูลค่ากว่า 52.6% เตือน หากช่องแคบฮอร์มุซถูกปิดจะกระทบอุปทานน้ำมันดิบกว่าครึ่ง ชี้หากสถานการณ์ยืดเยื้อ ดันราคาพลังงานพุ่ง เงินเฟ้อไทยอาจสูงตาม เหตุน้ำมันเชื้อเพลิงคิดเป็น 9.57% ในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ
วันนี้ (23 มิถุนายน) พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2567 ไทยนำเข้าพลังงาน (น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันสำเร็จรูป) มูลค่า 45,902.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการนำเข้าจากกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางมูลค่า 24,139.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 52.6% ของการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวทั้งหมดของไทย
โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ซาอุดีอาระเบีย, กาตาร์, คูเวต และโอมาน โดยนำเข้าจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย และกาตาร์เป็นหลัก
“หากช่องแคบฮอร์มุซถูกปิด อุปทานน้ำมันดิบกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศจะได้รับผลกระทบ และหากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจนำมาสู่การเผชิญราคาน้ำมันและค่าพลังงานที่พุ่งสูง ซึ่งมีผลโดยตรงทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น เนื่องจากน้ำมันเชื้อเพลิงมีสัดส่วนน้ำหนักถึง 9.57% ในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ” พูนพงษ์กล่าว
นอกจากนี้ การปิดกั้นช่องทางขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบแห่งนี้ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของไทยไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางค่อนข้างมาก เนื่องจากส่วนใหญ่สินค้าไทยจะขนส่งผ่านช่องแคบฮอร์มุซไปยังท่าเรือ Jebel Ali ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าไปยังตะวันออกกลางและภูมิภาคอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ในด้านการส่งออกของไทยบางสินค้าอาจได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เช่น สินค้าส่งออกที่เกี่ยวกับน้ำมัน ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซปิโตรเลียมเหลว
ผอ.สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า ความขัดแย้งในตะวันออกกลางในปัจจุบันมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากกว่าที่ประเมินไว้ในช่วงแรก โดยความเป็นไปได้ที่อิหร่านจะดำเนินการขัดขวางการขนส่งผ่านช่องแคบฮอร์มุซมีสูงกว่าช่วงสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ และการต่อสู้กับกลุ่มพันธมิตรที่เริ่มตั้งแต่ปี 2566 เนื่องจากปัจจุบันเป็นการเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน ประกอบกับการที่สหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทในการกดดัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทางอ้อมผ่านการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันหรือต้นทุนการขนส่ง เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในวิกฤตการณ์ทะเลแดงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ดังนั้นทุกฝ่ายจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงพาณิชย์จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเฝ้าระวังและวิเคราะห์สถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป