ช่วงปี 2564-2565 ประเทศไทยต้องเผชิญกับปริมาณฝนของฤดูฝนที่ตกมากกว่าปกติในหลายพื้นที่ ยกตัวอย่างกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 10 กันยายน 2565 มีฝนตกเกิน 100 มม. มากถึง 8 วัน เทียบกับ 4 วันในปี 2564 และ 1 วันในปี 2563 หนึ่งในสาเหตุหลักคือเป็น 2 ปีที่โลกเราอยู่ในสภาพอากาศแบบลานีญา แต่ความเปลี่ยนแปลงคือกฎหลักของธรรมชาติ ในที่สุดสภาพอากาศแบบลานีญาก็ถึงคราวสิ้นสุดลง ในปีนี้มีแนวโน้มค่อนข้างชัดเจนว่าสภาพอากาศโลกจะเข้าสู่ลักษณะแบบเอลนีโญ ซึ่งนำความร้อนแล้งมาสู่ไทย
เอลนีโญคืออะไร
ประมาณ 71% ของผิวโลกปกคลุมด้วยน้ำ ผืนน้ำที่กว้างใหญ่ที่สุดคือมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งตั้งอยู่ในเขตร้อนและเขตอบอุ่น เช่นเดียวกับอีก 2 มหาสมุทร นั่นคือมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแอตแลนติก
ทุกมหาสมุทรที่กล่าวมามีลักษณะเหมือนกันคือ มีฝั่งตะวันออกและตะวันตกติดกับผืนแผ่นดินทวีป รวมทั้งมีลักษณะเป็นไดโพลหรือ 2 ขั้ว นั่นคือถ้าฝนตกชุกฝั่งหนึ่ง ก็จะแล้งในฝั่งตรงข้าม
เราเรียกปรากฏการณ์ไดโพลของมหาสมุทรตามที่ตั้งและขั้วของมัน เช่น IOD หรือ อินเดียนโอเชียนไดโพลแบบด้านบวก (Positive Phase Indian Ocean Dipole) หมายถึงสภาพอากาศแบบที่มีฝนตกชุกทางตะวันตกของมหาสมุทรอินเดียและมีฝนแล้งทางฝั่งตะวันออก เมื่อสลับเป็นด้านลบ (Negative Phase) ฝนก็จะตกชุกและเกิดแล้งสลับข้างกัน นั่นคือฝนชุกทางฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย (อาเซียนและออสเตรเลีย) และแล้งในฝั่งตะวันตก (อินเดียและแอฟริกา)
แต่มหาสมุทรแปซิฟิกนั้นพิเศษกว่าเพื่อน เพราะมีชื่อเรียกปรากฏการณ์ไดโพลที่สั้นและจำง่ายกว่า ชื่อเรียกที่ว่านี้มาจากภาษาสเปน นั่นคือคำว่า ‘เอลนีโญ’ หมายถึงเด็กชาย ใช้สำหรับเรียกสภาพที่มีฝนตกชุกทางตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ฝั่งอเมริกาใต้) และร้อนแล้งในฝั่งตะวันตก (ฝั่งอาเซียน) คู่ตรงข้ามของมันก็คือ ‘ลานีญา’ หมายถึงเด็กหญิง นั่นคือฝนแล้งทางฝั่งอเมริกาใต้และตกชุกในฝั่งอาเซียน ซึ่งเราเพิ่งผ่านมาในปี 2563 และ 2564 นั่นเอง
เอลนีโญเกิดจากอะไร
สั้นๆ คือเกิดจาก ‘ลม’ เพราะโลกเรามีลมที่พัดประจำบริเวณเส้นศูนย์สูตรอยู่สายหนึ่ง เรียกว่า ‘ลมค้า’ หรือ Trade Wind ในปีที่เป็นปกติหรือ ‘นิวทรัล’ ลมค้าจะพัดจากตะวันตกไปตะวันออกด้วยความแรงประมาณหนึ่ง นำพาผิวน้ำทะเลด้านบนที่อุ่นกว่าจากฝั่งอเมริกาใต้ไปฝั่งอาเซียนและออสเตรเลีย น้ำทะเลด้านล่างที่เย็นกว่าก็จะไหลขึ้นมาแทนที่ที่ผิวทะเล
แต่หากลมนี้พัดแรงขึ้น น้ำอุ่นจะถูกดันลึกเข้ามาทางอาเซียนมากขึ้น น้ำทะเลฝั่งอเมริกาใต้จะเย็นลงกว่าปกติ เมื่อน้ำอุ่นอยู่ทางไหนอากาศจะร้อนก็จะยกตัวง่ายกลายเป็นฝน ซึ่งก็คือการเกิด ‘ลานีญา’ ฝนจะมาตกชุกทางอาเซียนและออสเตรเลีย และฝนจะตกน้อยลงทางฝั่งอเมริกาใต้ นอกจากนี้ด้วยขนาดอันกว้างใหญ่ของมหาสมุทรแปซิฟิก น้ำเย็นที่ชายฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรนี้จะดันลมเจ็ตสตรีมที่พัดอยู่เหนือสหรัฐอเมริกาให้เบี่ยงขึ้นทางเหนือ ส่งผลให้ภาคใต้จนถึงภาคกลางของสหรัฐฯ อุ่นขึ้น แต่อากาศเย็นและฝนจะไปเพิ่มขึ้นทางเหนือไปจนถึงแคนาดา
แต่เมื่อใดที่ลมค้าเบาลง น้ำอุ่นจะยังกองรวมกันฝั่งอเมริกาใต้ อากาศจะยกตัวขึ้นง่าย ฝนจึงไปตกชุกด้านนั้น ตรงกันข้ามก็จะส่งผลให้ฝั่งอาเซียนของเราไปจนถึงออสเตรเลียมีฝนน้อยลง ปริมาณฝนที่น้อยลงนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของปรากฏการณ์ ซึ่งก็คือการเกิด ‘เอลนีโญ’ นั่นเอง
การพยากรณ์
เรารู้ว่า ‘เอลนีโญ’ ‘นิวทรัล’ และ ‘ลานีญา’ เกิดจากลม แต่เราไม่ได้ใช้การวัดความเร็วลมในการสังเกต เนื่องจากมีความไม่แน่นอนและความยุ่งยาก นักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีสังเกตอุณหภูมิผิวน้ำทะเล หรือ SST (Sea Surface Temperature) ของมหาสมุทรแปซิฟิกแทนการสังเกตลม ซึ่งทำได้ง่ายกว่า โดยในอดีตเน้นไปที่อุณหภูมิชายฝั่งอเมริกาใต้ หรือที่เรียกว่าพื้นที่ Nino 1+2 แต่ในช่วง 20 ปีหลังเราพบว่า SST บริเวณเส้นแบ่งวันหรือลองจิจูด 180W ถึง 120W หรือที่เรียกว่าพื้นที่ Nino 3.4 มีความเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์นี้มากกว่า จึงเปลี่ยนมาสังเกตบริเวณนี้แทน
วิธีการคือการบันทึกอุณหภูมิน้ำบริเวณ Nino 3.4 แล้วนำไปเข้าแบบจำลอง ได้ผลออกมาเป็นตัวแปรต่างๆ จำนวนมาก จากนั้นก็ประเมินตัวแปรแล้วพยากรณ์เหตุการณ์ในอนาคต
ปีนี้จะเกิดอะไร
ผลพยากรณ์ล่าสุดเมื่อกลางเดือนมีนาคม 2566 จากหลายตัวแปรพบว่าสภาพอากาศแบบ ‘ลานีญา’ ที่ดำเนินติดต่อกันมา 2 ปีได้สิ้นสุดลงแล้ว แนวโน้มของอุณหภูมิน้ำทะเลบริเวณ Nino 3.4 บ่งชี้ว่าโลกกำลังเข้าสู่สภาพเป็นกลาง หรือ ‘นิวทรัล’ และมีโอกาสค่อนข้างมากที่จะเปลี่ยนไปเป็นสภาพอากาศแบบ ‘เอลนีโญ’ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป จนถึงปีถัดไป (กราฟด้านบนแสดงกลุ่ม 3 เดือน ตัวย่อชื่อเดือนเช่น FMA หมายถึง February-March-April เป็นต้น)
สำหรับประเทศไทยเรานั้นมีที่ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างสองมหาสมุทรคือมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก และอยู่ด้านทิศใต้ของแผ่นดินขนาดใหญ่นั่นคือประเทศจีน สภาพอากาศของไทยเราจะไม่ขึ้นกับผลของอุณหภูมิผิวน้ำบริเวณ Nino 3.4 เพียงอย่างเดียว เราต้องนำสภาพไดโพลของมหาสมุทรอินเดียหรือ IOD ตามที่กล่าวไว้ด้านบนมาพิจารณาด้วย ซึ่งผลจากการสังเกตก็มีแนวโน้มว่า IOD เวลานี้ที่อยู่ในสภาพ ‘นิวทรัล’ กำลังจะเปลี่ยนไปเป็นอินเดียนโอเชียนไดโพลแบบด้านบวกหลังเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ส่งผลให้ฝนไปตกชุกด้านประเทศอินเดีย และตกน้อยลงในด้านอาเชียนรวมถึงออสเตรเลีย
ความสอดคล้องกันของปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ และ IOD ที่เป็นบวก บ่งบอกว่าไทยมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่สภาพอากาศแบบร้อนแล้งในปีหน้า ซึ่งเราอาจเริ่มรับผลบางส่วนแล้วในปีนี้ ด้วยอากาศที่ร้อนจัดมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับอาจมีฝนหนักในบางจุดจากตำแหน่งที่ตั้งอยู่ด้านใต้ของแผ่นดินขนาดใหญ่ตามที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งนี้ทุกหน่วยงานทั่วโลกยังคงติดตามตัวแปรต่างๆ อยู่ตลอดเวลาและมีรายงานอัปเดตออกมาทุกเดือน ซึ่งคนที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารด้านนี้กันได้ต่อไป
ภาพ: Athapet Piruksa via ShutterStock
อ้างอิง: