พิชัยเคาะ GDP ไทยปีนี้โตสุดที่ 2.7% หวังโค้งสุดท้ายปีนี้ถึงปีหน้าลุยแก้หนี้ครัวเรือน โดยเจาะไปที่หนี้รถกระบะและบ้าน พร้อมรักษาวินัยการเงินการคลังเพดานหนี้ไว้ที่ 70% ต่อ GDP ไม่ควรเกิน 14 ล้านล้านบาท จะพาเศรษฐกิจไทยโตระดับ 3%
ขณะเดียวกันจะเดินหน้าเปิดช่องต่างชาติเช่าที่ดินยาว 99 ปี เพื่อกระตุ้นลงทุน ฝั่งบิ๊กเอกชนมอง GDP ปีหน้าเศรษฐกิจไทยยังโตได้อีกถึง 4% หากรัฐดึงดูดลงทุนเพิ่ม แก้ปัญหาปากและท้องหนี้สินประชาชน และไทยอาจได้อานิสงส์จากการเข้าร่วม OECD และ BRICS
วันนี้ (30 ตุลาคม) พิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘Thailand 2025: Opportunities, Challenges and the Future’ จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำมานานมากกว่า 10 ปี เห็นได้จากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีที่ผ่านมาขยายตัวได้เพียง 1.9%
ขณะที่ปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.7% บวก-ลบ และปีหน้าจะขยายตัวที่ 3%
“คงจะมีการแถลงอย่างเป็นทางการอีกครั้ง แต่ปีนี้ผมขออนุญาตเดาว่าจะขยายตัวได้ 2.7% บวก-ลบ ซึ่งคิดว่าควรจะมากกว่านี้ แต่ปีนี้ต้องยอมรับว่ามีน้ำท่วมเข้ามาแทรก ส่วนปีหน้าหากอยู่บนสิ่งที่เห็น การขยายตัวเศรษฐกิจน่าจะแตะระดับ 3% ซึ่งผมคิดว่า 3% เหมือนกับเราอยู่ไปแบบไม่ได้มองว่าไทยมีศักยภาพอะไรบ้าง มีโอกาสอะไรบ้าง เราก็ยอมรับได้ แต่ก็คิดว่าไทยจะไปได้มากกว่านี้ เพราะหากเรามองลึกไปถึงตอนที่ขยายตัวได้ถึง 5% เศรษฐกิจเราโตมาในระดับหนึ่ง ดังนั้นก็อยากจะเห็น Real GDP ที่ 3.5%” พิชัยกล่าว
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของไทยควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยอย่างต่ำควรอยู่ที่ระดับ 2% ในลักษณะที่ “ไม่อยากเห็นของถูกเกินไปและต่ำเกินไป” ดังนั้นวิธีแก้คือหาวิธีสู้กับสภาพเศรษฐกิจให้เดินต่อไปให้ได้แทนการรัดเข็มขัด ซึ่งต้องอาศัยกำลังคนในประเทศ
พิชัยระบุอีกว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 70-80% ต่อ GDP ขณะที่ปัจจุบันขึ้นมา 90% กว่าต่อ GDP และปรับลดลงมาเหลือ 89% โดยตัวเลขที่ลดลงไม่ได้เป็นผลจากหนี้ครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นหรือลดลง แต่เพราะ GDP ขยายตัวขึ้นเพียงเล็กน้อย ประกอบกับสถาบันการเงินชะลอการปล่อยสินเชื่อทั้งประชาชนและ SMEs สะท้อนว่าคนที่เป็นกำลังของประเทศกำลังเผชิญหนี้ท่วม
ขณะที่หนี้ของรัฐบาล หนี้สาธารณะปัจจุบันอยู่ที่ 65-66% โดยรัฐบาลพยายามรักษาวินัยการเงินการคลังเพื่อไม่ให้หนี้สูงและมีกรอบไว้ที่ 70% ต่อ GDP ก็ไม่ควรจะมีหนี้เกิน 14 ล้านล้านบาท ซึ่งปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 12 ล้านล้านบาท ดังนั้นพื้นที่การคลัง (Fiscal Space) รัฐบาลเหลือช่องแค่ 1 ล้านล้านบาทเศษเท่านั้น
ขณะที่นโยบายการเงินต้องบอกว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยก่อนหน้านี้อยู่ที่ 2.5% เป็นระยะเวลานาน แต่ก็มีคนเรียกร้องให้ปรับลดต่ำอีก
“คำถามคือ คนที่มีหนี้เยอะก็อยากเห็นอัตราดอกเบี้ยต่ำ คนให้เงินให้สินเชื่อก็อยากจะได้ดอกเบี้ยสูง ดังนั้นสภาพคล่องจึงหายไปจากตลาด และเป็นปัญหาที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ โดยการเข้าถึงสินเชื่อไม่ได้เพราะไม่มีสภาพคล่อง เราเป็นประเทศที่ก่อนต้มยำกุ้งเราขาดสภาพคล่อง จนกระทั่งหลังต้มยำกุ้งเรามีสภาพคล่องเกินไป ซึ่งหนี้เหล่านี้มาจากการทำมาหากิน
ไทยตกอยู่ในสถานะเป็นเศรษฐี แต่ไม่มีอนาคต
ขณะที่การลงทุนของไทยก็มีการลงทุนน้อย ไทยจึงตกอยู่ในฐานะที่เรียกว่า ‘เป็นเศรษฐี แต่ไม่มีอนาคต’ เนื่องจากมีการลงทุนต่ำ เงินลงทุนเครื่องจักรใหม่น้อย แตกต่างจากหลายสิบปีที่ผ่านมา
โดยการลงทุนของนักลงทุนต่างชาตินั้นปัจจุบันแม้จะมีความสนใจเข้ามาจำนวนมาก เช่น พื้นที่ EEC ระยอง แต่ปัจจุบันต่างชาติต้องการลงทุนระยะยาว การลงทุนสมัยใหม่ เทคโนโลยี พลังงานสีเขียว ที่มีการลงทุนหลายแสนล้านบาทมาตลอด ขณะเดียวกันขีดความสามารถต้องปรับเปลี่ยนด้วย โดยเฉพาะต้องยกระดับการศึกษา ทั้งที่เด็กไทยเก่ง แต่จะทำอย่างไรเพื่อสร้างโอกาส บวกกับเศรษฐกิจที่ลำบาก แต่งงานช้า หมายความว่าต่อไปนี้แรงงานคนหนุ่มสาวน้อยลง ถึงเวลาแล้วที่เราต้องปรับโครงสร้างในหลายๆ มิติ
ทั้งหมดที่พูดมานี้เรารอไม่ได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย เพื่อเร่งรัดปรับโครงการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับภาคครัวเรือน โดยเฉพาะรถกระบะและอสังหาริมทรัพย์ โดยคาดว่าจะได้ความชัดเจนเร็วๆ นี้ เพื่อให้ประชาชนอยู่ได้ ขณะที่สถาบันการเงินก็จะมีโอกาสปล่อยสินเชื่อใหม่เข้าไปในระบบมากขึ้น
หนุนต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี ดึงทุนนอกลงทุนระยะยาว ใช้หลักการ ‘ทรัพย์อิงสิทธิ’
ประเด็นการลงทุนบริษัทต่างชาติมักจะถามถึงการลงทุนเทคโนโลยีอย่าง Could First และ Data Center ว่าไทยมีพร้อมหรือไม่ ซึ่งไทยและหลายประเทศพยายามจะสมัครสมาชิก OECD และดึงดูดการลงทุนพลังงานสะอาด และอนาคตอันใกล้ไทยอาจพูดถึงนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR), การลงทุนด้านคาร์บอน, แบตเตอรี่, น้ำ รวมไปถึงมองหาโลจิสติกส์นั้นจะต้องพร้อม มีแลนด์บริดจ์ที่สามารถเชื่อมอันดามันและ EEC
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้นักลงทุนต้องการการลงทุนระยะยาว ไทยควรมีสัญญาเช่าในระยะเวลานาน เช่น 99 ปี หากไม่มีสัญญาให้เช่าระยะยาวเช่นนี้ โอกาสที่จะทำให้การลงทุนนั้นจะยากขึ้น
“99 ปีในที่นี้คือ ในต่างประเทศเขาเปิดโอกาสให้ต่างชาติ ใครอยากซื้อที่ดินก็ซื้อได้เลย ส่วนการเช่าถ้าจะเอาที่เช่าไปขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินก็ค่อนข้างยาก จึงเป็นที่มาของการเช่ายาวเพื่อมีสิทธิในที่ เช่น ทรัพย์อิงสิทธิ ที่จะนำไปขอกู้กับสถาบันการเงินได้ แสดงว่ามีสิทธิในการใช้ ไปธนาคารก็กู้ได้ อย่ามองว่าทรัพย์พวกนี้จะตกไปที่ต่างชาติ อย่างที่ดินของรัฐที่เยอะนั้นก็เอามาสร้างที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยแล้วให้เช่าราคาถูกในระยะเวลานาน” พิชัยกล่าว
หมายความว่าเมื่อสัญญาครบ 99 ปี สินทรัพย์จะตกมาเป็นของของรัฐ โดยจะนำที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มานานของรัฐ เช่น กรมธนารักษ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มาใช้ในหลักการทรัพย์อิงสิทธิ จัดสรรให้เป็นที่พักอาศัยสำหรับคนรายได้น้อย 99 ปี ในราคาประมาณ 70% จากที่ควรเป็น นี่คือโอกาสที่ดีของคนรายได้น้อยที่จะมีที่อยู่บนทรัพย์สินบนสัญญา 99 ปี
“อย่ามองว่าทรัพย์พวกนี้จะตกไปเป็นของต่างชาติ ทั้งนี้ทั้งนั้นประเด็นนี้ต้องสื่อสารให้ดี” พิชัยกล่าวย้ำ
บิ๊กเอกชนมองข้ามช็อต GDP ปีหน้ามีลุ้นโต 4% หากแก้หนี้ได้ และไทยได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมสมาชิก OECD และ BRICS
สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่าหากไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม GDP ไทยปีนี้จะถึง 3% ส่วนปีหน้ามองว่าจะเติบโตได้ถึง 3.5-4% หากสามารถออกมาตรการชะลอหนี้อย่างเช่นรถกระบะไม่ให้ถูกยึด และแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้
ส่วนช่วงที่เหลือ 2 เดือนหลังจากนี้มองว่าเศรษฐกิจได้รับแรงขับเคลื่อนจากการแจกเงิน 10,000 บาท ทั้งนี้ รัฐบาลควรมีมาตรการคูณสองคล้ายกับคนละครึ่ง มาตรการลดหย่อนภาษี Easy e-Receipt กระตุ้นการจับจ่ายของคนมีรายได้ในช่วงปลายปี
รวมทั้งมองอีกหนึ่งโอกาสที่ดีคือการที่ไทยจะเข้าร่วม OECD และการเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศ BRICS ในอนาคต
ขณะที่ เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่าหนี้ครัวเรือนยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังและน่าห่วง แม้ว่าจะสามารถลดระดับลงมาอยู่ที่ 89.6% แต่ก็เป็นผลมาจาก GDP ที่เพิ่มขึ้น และการจำกัดวงเงินในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน แต่เมื่อลงลึกถึงมูลค่าหนี้นั้นถือว่ายังคงเดิม
ขณะเดียวกันความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมนั้นยังคงต้องปรับโครงสร้างการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน บวกกับต้องจริงจังกับการแก้ปัญหาสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศที่ยังคงทะลัก โดยขณะนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10-20% กระทบภาคการผลิตเพิ่มจาก 22 กลุ่มอุตสาหกรรมเป็น 25 กลุ่มอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยคือภาคการท่องเที่ยว แม้ยังไม่เป็นไปตามเป้า แต่คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 1.8 ล้านล้านบาทจาก 36 ล้านคน และหากมีเม็ดเงินจากการลงทุนผ่านยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI สูงถึง 7.2 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี ก็คาดว่า GDP จะอยู่ที่ 2.6-2.8%
“ช่วงที่เหลืออีก 2-3 เดือน หากโมเมนตัมยังอยู่ในระดับนี้เชื่อว่าจะส่งผลไปถึงปีหน้าที่ไทยจะมีการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเมกะเทรนด์โลกที่มุ่งเน้นไปยังเรื่องของความยั่งยืน ขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องจับตาเร็วๆ นี้คือการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาที่อาจมีผลต่อทิศทางการส่งออกของไทยอีกด้วย”
ท้ายสุด ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย มองว่าไทยจะไม่สามารถแข่งขันได้หากทุกองค์กรไม่ปรับตัว ซึ่งต้องเตรียมพร้อมในเรื่องของการเตรียมคน ทักษะ และโครงสร้างพื้นฐาน
“ที่สำคัญรัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน เพราะเป็นสิ่งที่ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ต้องแก้โครงสร้างและต้นทุนทางการเงิน โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางและผู้ประกอบการ SMEs ดังนั้นประเมินว่าภาพรวม GDP ไทยปีนี้คงไม่มีลุ้นเพิ่มอีกในช่วงไตรมาสสุดท้าย คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.7-2.8%” ผยงกล่าวทิ้งท้าย