เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นวานนี้ (28 มีนาคม) ในประเทศเมียนมา สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ได้จุดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ต่อประสิทธิภาพของระบบ SMS เตือนภัยพิบัติของไทย ที่แม้จะเปิดตัวใช้งานแล้วตั้งแต่ปี 2567 แต่กลับไม่สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงที
ประชาชนจำนวนมากรายงานว่าไม่ได้รับข้อความแจ้งเตือนจากหน่วยงานรัฐ ขณะที่บางคนกลับได้รับ SMS จากแหล่งที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น เว็บพนันออนไลน์ สถานการณ์นี้ทำให้เกิดคำถามถึงความพร้อมของระบบเตือนภัยของประเทศไทย และส่งผลให้นายกรัฐมนตรีต้องเรียกประชุมด่วนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงาน กสทช. เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาและยกระดับประสิทธิภาพในการส่งการแจ้งเตือนให้ครอบคลุมและตรงเวลา
SMS เตือนภัยพิบัติ: ที่ยังไม่สมบูรณ์
ระบบ SMS เตือนภัยพิบัติของไทย เริ่มใช้งานอย่างเป็นทางการในปี 2567 โดยมีการแบ่งระดับความรุนแรงของภัยพิบัติออกเป็น 5 ระดับ เพื่อให้ประชาชนสามารถเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างเหมาะสม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการส่ง SMS แจ้งเตือนล่วงหน้า 24 ชั่วโมงในกรณีที่คาดว่าจะเกิดภัยพิบัติ
โดยจะเริ่มส่งข้อความแจ้งเตือนตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป ซึ่งเป็นระดับที่ประชาชนควรเตรียมพร้อมรับสถานการณ์และปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุดได้เผยให้เห็นถึงข้อจำกัดสำคัญของระบบ SMS ปัจจุบัน ทั้งในแง่ความเร็ว ความแม่นยำ และขอบเขตของการแจ้งเตือน โดยเฉพาะเมื่อแผ่นดินไหวเกิดขึ้นแบบฉับพลันและส่งผลกระทบในวงกว้าง ระบบกลับไม่สามารถกระจายข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่การชี้แจงจาก ปภ. และ กสทช. ที่แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตั้งคำถามกลางวงประชุมถึงการทำงานที่ไม่ตอบสนองต่อข้อสั่งการและการเตือนภัยต่อประชาชน ได้รับคำตอบว่า แผ่นดินไหวไม่สามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ ต้องรอแรงสั่นสะเทือนก่อน
ปภ. แจ้งว่าได้ส่งข้อมูลไปยัง กสทช. 4 ครั้ง โดยครั้งแรกเวลา 14.20 น.
กสทช. ชี้แจงว่าได้รับคำร้องจาก ปภ. เพื่อส่ง SMS เวลา 14.44 น.
ข้อจำกัดคือระบบสามารถส่งได้ครั้งละ 1-2 แสนหมายเลข ใช้เวลา 15 นาทีต่อรอบ
แม้จะส่งครบ 10 ล้านหมายเลข แต่ ประชาชนบางส่วนไม่ได้รับ
Cell Broadcast Service (CBS) คืออะไร
ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2567 รัฐบาลไทยโดย ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เคยเปิดเผยว่า ไทยเตรียมเปิดตัว ระบบ Cell Broadcast Service (CBS) ในปี 2568 ซึ่งจะเป็นการยกระดับการแจ้งเตือนภัยพิบัติครั้งใหญ่ โดยระบบ CBS สามารถส่งข้อความฉุกเฉินไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในพื้นที่ที่มีสัญญาณเครือข่ายได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรู้หมายเลขโทรศัพท์ของผู้ใช้ ทำให้การกระจายข้อมูลสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมยิ่งขึ้น
ระบบ CBS ยังรองรับฟีเจอร์ Text-to-Speech สำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น พร้อมความสามารถในการแสดงผลได้ทั้งข้อความ รูปภาพ และเสียง โดยจะมีการแจ้งเตือนใน 5 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย เพื่อให้ครอบคลุมทั้งประชาชนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาศัยหรือเดินทางอยู่ในประเทศไทย
ความล่าช้า และความคาดหวังจากประชาชน
แม้จะมีความพยายามในการพัฒนาระบบเตือนภัยให้ทันสมัย แต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุดได้กลายเป็นบทเรียนสำคัญที่ตอกย้ำว่า “เทคโนโลยีที่ดีเพียงใด หากไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ในเวลาจริง ก็ไร้ความหมาย”
หลายภาคส่วนรวมถึงภาคประชาสังคม เช่น สภาองค์กรของผู้บริโภค ออกมาเรียกร้องให้รัฐเร่งจัดตั้งระบบ ‘ไทยอเลิร์ท (Thai Alert)’ ให้พร้อมใช้งานโดยเร็ว พร้อมตั้งคำถามว่า “ต้องเกิดเหตุฉุกเฉินอีกกี่ครั้ง ประเทศไทยถึงจะมีระบบแจ้งเตือนที่มีประสิทธิภาพจริงๆ”
6 ชาติที่มีระบบแจ้งเตือนภัยผ่าน SMS ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในโลก
หลายประเทศมีระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถส่งข้อความเตือนไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ภายในไม่กี่วินาที ที่ครอบคลุมทั้งภัยธรรมชาติและสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ การศึกษาและนำแนวทางจากประเทศเหล่านี้มาปรับใช้ อาจช่วยให้ระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติของไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ญี่ปุ่น
- ระบบ J-Alert: ญี่ปุ่นใช้เทคโนโลยี Cell Broadcast ในการส่งข้อความแจ้งเตือนภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ ไต้ฝุ่น และภูเขาไฟระเบิด ไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ภายในไม่กี่วินาที แม้จะมีผู้ใช้งานจำนวนมากก็ตาม
เกาหลีใต้
- ระบบ Emergency Alert System: เกาหลีใต้มีระบบแจ้งเตือนภัยที่สามารถส่งข้อความเตือนภัยธรรมชาติและสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ ไปยังประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง
สหรัฐอเมริกา
- ระบบ Wireless Emergency Alerts (WEA): สหรัฐฯ ใช้ระบบ WEA ในการส่งข้อความแจ้งเตือนภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉินไปยังโทรศัพท์มือถือในพื้นที่ที่กำหนด โดยไม่จำเป็นต้องสมัครสมาชิกหรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพิ่มเติม
นิวซีแลนด์
- ระบบ Emergency Mobile Alert: นิวซีแลนด์มีระบบแจ้งเตือนผ่านมือถือที่สามารถส่งข้อความเตือนภัยไปยังโทรศัพท์มือถือที่รองรับในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยใช้เทคโนโลยี Cell Broadcast
ไต้หวัน
- ระบบ Public Warning System: ไต้หวันมีระบบแจ้งเตือนภัยที่สามารถส่งข้อความเตือนภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหวและไต้ฝุ่น ไปยังโทรศัพท์มือถือของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว
เนเธอร์แลนด์
- ระบบ NL-Alert: เนเธอร์แลนด์ใช้ระบบ NL-Alert ในการแจ้งเตือนประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติต่างๆ ผ่านข้อความบนโทรศัพท์มือถือ
จะได้เห็นระบบเตือนภัยที่ประชาชนวางใจได้กี่โมง
ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติ จากระบบ SMS ที่เริ่มต้น แต่ยังเต็มไปด้วยข้อจำกัด ไปสู่ระบบ CBS ที่คาดว่าจะเริ่มใช้งานเต็มรูปแบบในไตรมาสที่ 2 ปี 2568
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่รออยู่ไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยี แต่ยังรวมถึง การสร้างความเข้าใจให้ประชาชนสามารถแปลความหมายของการแจ้งเตือนได้ถูกต้อง และตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้อย่างเหมาะสม เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้ว่า ‘ระดับ 3’ หรือ ‘ระดับ 5’ ต้องทำอย่างไรบ้าง
หากรัฐบาลสามารถผลักดันให้ระบบเตือนภัยใหม่นี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง นี่อาจเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยชีวิตผู้คนได้ในอนาคต แต่หากยังคงมีปัญหาเหมือนที่ผ่านมา ก็อาจต้องถามว่า “ระบบเตือนภัยมีไว้เพื่อเตือนใคร”