×

ผู้ใช้รถในไทยไม่มีใบขับขี่ราว 10 ล้านคน ตำรวจหนุนเพิ่มโทษคุก 3 เดือน ปรับ 5 หมื่น

โดย THE STANDARD TEAM
22.08.2018
  • LOADING...

การแก้ไขปัญหาการจราจรของประเทศไทยถือว่าเป็นวาระแห่งชาติมาทุกยุคทุกสมัย ล่าสุดมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียกรณีการปรับแก้กฎหมายจราจรเปรียบเทียบปรับ กรณีไม่มีใบอนุญาตขับขี่จะถูกเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 5 หมื่นบาท และไม่พกใบขับขี่จะถูกปรับ 1 หมื่นบาท ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาล่าสุดจากภาครัฐ

 

พลตำรวจตรี เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 3 ในฐานะคณะกรรมการแก้ไขปัญหาจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงว่าจำนวนเงินดังกล่าวเป็นเพียงอัตราโทษปรับสูงสุดที่ระบุไว้เท่านั้น แต่การไม่พกใบขับขี่ การเปรียบเทียบปรับจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของพนักงานสอบสวน และกรณีไม่มีใบขับขี่ การเปรียบเทียบปรับจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลที่จะมีความเห็นสั่งปรับจำนวนเท่าไร และกฎหมายดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช.

 

ส่วนการปรับแก้กฎหมายดังกล่าว เนื่องจากขณะนี้พบว่าสถิติประเทศไทยมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก และจากข้อมูลบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด มีประชาชนไม่มีใบอนุญาตขับขี่อยู่ประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายต่อผู้อื่นและมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูงมาก จึงมีแนวคิดปรับแก้เพื่อลดปัญหาและเป็นไปตามสากล โดยเฉพาะการปรับแก้กฎหมายสำหรับผู้ขี่รถจักรยานยนต์

 

จากนี้จะพิจารณาแบ่งรถจักรยานยนต์ออกเป็น 2 ประเภทคือ รถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก และรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ที่มีซีซีมาก หรือบิ๊กไบค์ โดยพิจารณาทบทวนการเพิ่มกฎเกณฑ์ผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตขี่รถบิ๊กไบค์ทั้งอายุ ความสามารถในการควบคุมรถ และการอบรมเฉพาะทาง

 

นอกจากนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ระหว่างพิจารณายกเลิกส่วนแบ่งค่าปรับให้กับตำรวจจราจรเพื่อป้องกันข้อครหาการกวดขันวินัยจราจรบนท้องถนน และยกตัวอย่างส่วนแบ่งค่าปรับจราจรที่ผ่านมาว่า หากปรับ 100 บาท เงินจำนวน 50 บาทจะถูกส่งเข้าการปกครองส่วนท้องถิ่น 2.50 บาท เงินส่วนนี้จะเข้ากองทุนค่าใช้จ่าย และ 47.50 บาท เงินส่วนนี้จะเป็นส่วนแบ่งให้ตำรวจจราจร ซึ่งการพิจารณายกเลิกเงินส่วนแบ่งนี้จะกระทบต่อขวัญกำลังใจของตำรวจจราจรที่ปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น เห็นว่าหากมีการยกเลิกจริง ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็จะพิจารณาค่าตอบแทนอื่นๆ แทนได้

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X