ตามที่ได้มีรายงานข่าวจากประเทศญี่ปุ่นระบุว่า รัฐบาลไทยต้องการประหยัดงบประมาณ จึงมีการปรับเปลี่ยนโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ใช้ระบบเดียวกับชินคันเซ็น มาเป็นรถไฟความเร็วปานกลาง จริงหรือไม่ เพราะสาเหตุใด และจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการอย่างไรนั้น กระทรวงคมนาคม (คค.) ได้ชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริง ดังนี้
กระทรวงคมนาคมและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) ได้ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือการพัฒนาระบบรางระหว่างไทย-ญี่ปุ่น (MOC) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2558 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนารถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โดยเริ่มดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 แล้วเสร็จเดือนพฤศจิกายน 2560 ปัจจุบันกระทรวงฯ อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น เพื่อพิจารณาหารูปแบบการดำเนินโครงการฯ ที่มีความเหมาะสมและการลงทุนเกิดความคุ้มค่าสูงสุด โดยกำหนดการประชุมหารือร่วมกันในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561
ขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคมยืนยันว่า ประเทศไทยอยู่ระหว่างการพัฒนาและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เนื่องจากไม่ได้ลงทุนโครงการใหญ่และสำคัญมานานหลายปี ทำให้ไม่สามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้านการแข่งขันได้ ซึ่งรัฐบาลเห็นถึงความสำคัญของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่ออนาคตของประเทศไทยในระยะยาว จึงดำเนินการลงทุนพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงจำนวนหลายเส้นทาง รวมถึงเส้นทางสายเหนือด้วยระบบชินคันเซ็นด้วย
เนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูงต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก กระทรวงฯ จึงต้องพิจารณาความเหมาะสมของการปรับระบบเป็นรถไฟความเร็วปานกลางควบคู่กันไปด้วย
ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อมูลต่างๆ อย่างรอบด้านก่อนสรุปเสนอเพื่อประกอบการพิจารณาในระดับนโยบาย ซึ่งยังไม่มีการตัดสินใจปรับเปลี่ยนเป็นระบบความเร็วปานกลางแต่อย่างใด
อ้างอิง: