‘จุลพันธ์’ ระบุ การโอนเงินดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 2 ไม่ควรแจกเป็นเงินสด ด้าน ‘พิชัย’ เผย กลุ่มผู้มีสมาร์ทโฟนลงทะเบียนทั้งหมด 36 ล้านคน มองว่าจำนวนนี้ไม่ได้ต่ำกว่าเป้าหมายจากเดิม 45 ล้านคน เนื่องจากยังไม่รวมกลุ่มผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มผู้พิการ
วันนี้ (16 กันยายน) พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งปิดลงทะเบียนสำหรับกลุ่มผู้มีสมาร์ทโฟนผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐไปเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2567 โดยพบว่า มีผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 36 ล้านคน
นอกจากนี้ พิชัยยังเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ (17 กันยายน) จะพิจารณาอนุมัติการแจกเงินตามโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตในกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มผู้พิการจำนวน 14.5 ล้านคน
“พรุ่งนี้ที่ประชุม ครม. จะพิจารณาอนุมัติแจกเงินกลุ่มเปราะบางและผู้พิการ 14.5 ล้านคน ซึ่งก็คงเห็นตัวเลขว่าในจำนวนนี้จะอยู่ในผู้ลงทะเบียน 36 ล้านคนกี่คน โดยคาดว่าเมื่อหักลบแล้วจะเหลืออยู่ที่ 24-25 ล้านคน โดยมองว่าจำนวนนี้ไม่ได้ต่ำกว่าเป้าหมายจากเดิม 45 ล้านคน ถ้ารวมคนที่สนใจ แต่อาจมีคนไม่สะดวกลงทะเบียนหรือลงทะเบียนไม่เป็น ถ้ารวม 14 ล้านคนกับ 36 ล้านคน ก็ประมาณ 41-42 ล้านคน”
‘จุลพันธ์’ ชี้ ดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 2 ไม่ควรเป็นเงินสด
ขณะที่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังยืนยันว่า ในที่ประชุม ครม. วันพรุ่งนี้ เตรียมเสนอให้พิจารณาเรื่องการจ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ตสำหรับกลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วยผู้พิการและผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยจะเป็นการโอนเงินสดเข้าบัญชีผ่านระบบพร้อมเพย์ ทั้งนี้ จะแถลงรายละเอียดที่ชัดเจนอีกครั้งภายหลังการประชุม ครม.
พร้อมทั้งระบุว่า ส่วนกรณีกลุ่มที่จะได้รับการโอนเงินในเฟส 2 อยากได้เป็นเงินสดเช่นเดียวกับกลุ่มเปราะบางในเฟสแรก อย่างไรก็ตาม ในเฟสที่ 2 แจกเป็นเงินสดไม่ได้ เนื่องจากต้องบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการให้เป็นเศรษฐกิจดิจิทัล ขณะที่เฟสแรกแจกเป็นเงินสดเนื่องจากปรับรูปแบบโครงการให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เร็ว
“เฟสแรกมีการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจที่ดีพอเพราะว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง ขณะที่กลุ่มถัดมาเราต้องบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล ดิจิทัลวอลเล็ตยังมีความจำเป็น โดยเฟส 2 จะเริ่มในปีหน้า และจะพยายามทำให้เป็นแบบดิจิทัล 100% เราเห็นภาพแล้วว่าจะเสร็จเมื่อไร แต่ต้องการทดสอบให้มีความมั่นใจ ยืนยันว่าอยู่ในกรอบเวลาที่เหมาะสม”
เลื่อนการประกาศผลการลงทะเบียนสำหรับผู้มีสมาร์ทโฟนออกไป
ด้าน ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ยืนยันว่ารัฐบาลต้องการเดินหน้าโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยในเฟสที่ 2 จะเริ่มดำเนินการในช่วงต้นปี 2568
“เชื่อว่าในเฟสที่ 2 รัฐบาลอยากเห็นการแจกเป็นดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางในการชำระเงิน เรามองว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องมีความต่อเนื่อง ปีนี้เรามีการเติมเงินขนาดใหญ่ในช่วงปลายปีจากการโอนเงิน 10,000 บาทให้กับกลุ่มเปราะบาง กองทุนรวมวายุภักษ์ การที่งบประมาณปี 2568 ที่จะมีผลบังคับใช้ รวมทั้ง Thai ESG ด้วย ก็จะเห็นว่าเศรษฐกิจปลายปีมีความคึกคัก ซึ่งจะมีผลไปถึงช่วงต้นปี 2568 ดังนั้นเวลาที่เหมาะสมของดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 2 อยู่ช่วงต้นปี 2568 ก่อนสงกรานต์”
ขณะที่ในด้านการเปิดลงทะเบียนร้านค้าและหลักเกณฑ์การดำเนินการอื่นๆ นั้น รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหม่ทั้งหมด เนื่องจากคณะกรรมการชุดเดิมจัดตั้งโดยรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ดังนั้นเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่จึงต้องจัดตั้งใหม่อีกครั้ง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในสัปดาห์นี้
ลวรณระบุอีกว่า กระทรวงการคลังเลื่อนการประกาศผลการลงทะเบียนสำหรับผู้มีสมาร์ทโฟนออกไปจากเดิมกำหนดวันที่ 22 กันยายน 2567 เนื่องจากต้องตัดกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มผู้พิการ 14.5 ล้านคนที่จะได้รับการโอนเงินในเฟสแรกวันที่ 25 กันยายน 2567 ออกก่อน
“เราต้องเอาผู้ลงทะเบียน 36 ล้านคน หักลบด้วยกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้พิการ 14.5 ล้านคนก่อน เพื่อดูว่าจะเหลือเท่าไร และเราจะได้ไม่ประกาศรายชื่อเขา ที่เลื่อนการประกาศผลเพราะมีขั้นตอนการทำงานของเฟสที่ 1 เพิ่มเข้ามา”
และยังเลื่อนการลงทะเบียนสำหรับกลุ่มผู้ไม่มีสมาร์ทโฟนจากเดิมที่กำหนดไว้ในวันที่ 16 กันยายน 2567 โดยเชื่อว่ากลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟนรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกับกลุ่มเปราะบางที่จะแจกเงินในเฟสที่ 1
“เราเชื่อว่ากลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเปราะบางที่จะได้รับเงินในเฟสแรก ดังนั้นหากเราให้เงิน 10,000 บาทกลุ่มนี้ไปแล้ว ก็เชื่อว่ากลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟนจะเหลือน้อยมาก”
ยืนยันมีงบประมาณช่วยน้ำท่วมเพียงพอ
นอกจากนี้ พิชัยยังยืนยันว่า งบประมาณช่วยเหลือเหตุน้ำท่วมมีเพียงพอ แต่จะต้องประเมินอีกที โดยหากไม่พอ รัฐบาลก็เตรียมจัดสรรเงินเพิ่มเติมตามข้อเท็จจริง
“การช่วยเหลือเหตุน้ำท่วมมีอยู่ 2 ระดับ ได้แก่ ระดับผู้ว่าราชการจังหวัดมีเงินอยู่แล้วก้อนหนึ่ง และกระทรวงมหาดไทยมีอีกก้อนหนึ่ง นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางก็ประกาศออกไปแล้วว่าให้เพิ่มอีกจังหวัดละ 100 ล้านบาทหลายพื้นที่ วันนี้ยังมีเงินใช้ แต่ต้องประเมินอีกที ถ้าไม่พอไม่เป็นไร เราก็เตรียมหาเงินตามข้อเท็จจริง”
สำหรับความเสียหาย พิชัยประเมินว่า ถ้าฟื้นฟูเร็ว สถานการณ์กลับสู่สภาพเดิมเร็ว ก็ไม่น่ามีผลกระทบมาก ถ้าเราทำงานได้ด้วยความรวดเร็ว
ในวันเดียวกัน (16 กันยายน) ในการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 12 ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า “ส่วนการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย ในวันนี้ให้ความช่วยเหลือในระยะแรก จะใช้จ่ายจากงบประมาณกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ทุกจังหวัดใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ 20 ล้านบาท โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ หากไม่เพียงพอ สามารถใช้หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ที่กรมบัญชีกลางได้อนุมัติจังหวัดที่ประสบภัยในภาคเหนือเพิ่มเป็น 100 ล้านบาท เป็นการทำงานที่รวดเร็ว ไม่มีการกระจุกอยู่แค่ส่วนกลาง แต่กระจายอำนาจให้หน้างานสามารถตัดสินใจช่วยเหลือประชาชนได้เร็วที่สุด”