การปรับลดมุมมองแนวโน้ม (Outlook) อันดับความน่าเชื่อสำหรับรัฐบาลไทยของมูดี้ส์ (Moody’s) เมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา ทำให้ Outlook ตกลงมาเป็น ‘ลบ’ (Negative) จาก ‘คงที่’ (stable) ครั้งแรกในรอบ 17 ปี
โดยครั้งก่อนที่ Outlook ของรัฐบาลไทยเป็นลบ Negative เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2551 ในช่วงของวิกฤต Subprime หรือที่หลายรู้จักกันในชื่อ ‘วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์’ อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์หลายคนกลับมองว่า การเป็น Negative ของไทยรอบนี้ ‘น่าห่วงมากกว่า’ รอบที่แล้ว
สะท้อนว่า การปรับกลับขึ้นเป็น Stable อีกครั้งเป็นเรื่อง ‘ไม่ง่าย’ โดยรัฐบาลไทยอาจจะจำเป็นต้อง ‘ทำงานหนักขึ้น’ เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือ และเร่งปรับสมดุลทางการคลัง (Fiscal Consolidation) อย่างหนักแน่น
Negative ครั้งแรกรอบ 17 ปี: ย้อนประวัติ Credit Rating และ Outlook ‘รัฐบาลไทย’ โดย Moody’s
ทั้งนี้ อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) คือการประเมินความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหนี้ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agencies) โดยตราสารหนี้ที่อันดับเครดิตยิ่งสูง ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ก็ยิ่งต่ำ
สำหรับมุมมองแนวโน้ม (Outlook) แบ่งเป็น 3 มุมมอง ได้แก่ เป็นบวก (Positive) ซึ่งหมายถึง มีความเป็นไปได้ที่จะถูกปรับขึ้น Credit Rating ในอนาคต คงที่ (Stable) หมายถึงมีมุมมองคงที่ และเป็นลบ Negative ซึ่งหมายถึง มีความเป็นไปได้ที่จะถูกปรับขึ้น Credit Rating ในอนาคต
ย้อนประวัติอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) และมุมมองแนวโน้ม (Outlook) ‘รัฐบาลไทย’ โดย Moody’s ตั้งแต่ปี 2000 ดังนี้
- 29 เมษายน 2025: Baa1 Negative
- 11 เมษายน 2024: Baa1 Stable
- 7 เมษายน 2022: Baa1 Stable
- 21 เมษายน 2020: Baa1 Stable
- 25 กรกฎาคม 2019:Baa1 Positive
- 28 ตุลาคม 2010: Baa1 Stable
- 4 ธันวาคม 2008: Baa1 Negative
- 26 พฤศจิกายน 2003: Baa1 Stable
- 22 มิถุนายน 2000: Baa3 Stable
KResearch เตือน Negative รอบนี้ไม่เหมือนรอบที่แล้ว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) มองว่า การปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตในรอบนี้ ต่างจากการปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น Negative ในรอบก่อน ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2551 ในช่วงของวิกฤต Subprime อยู่ 2 จุด คือ ระดับหนี้สาธารณะของไทย และ เศรษฐกิจไทย
- ระดับหนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ โดยแม้ในช่วงนั้นรัฐบาลไทยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการการคลังซึ่งทำให้ยอดขาดดุลการคลังเพิ่มสูงขึ้น แต่ระดับหนี้สาธารณะของไทยก็ยังคงอยู่ภายใต้เพดานหนี้สาธารณะ โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะขยับขึ้นประมาณ 4.3% จาก 35.0% ของจีดีพี ณ กันยายน 2551 มาที่ 39.3% ของจีดีพี ณ ตุลาคม 2553 แต่ตามข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ระบุว่า ปัจจุบัน หนี้สาธารณะไทยอยู่ที่ 64.21% ต่อ GDP ณ กุมภาพันธ์ 2568
- เศรษฐกิจไทยในปี 2551-2552 ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินทั่วโลก ซึ่งหลังจากวิกฤต Subprime คลี่คลายลง (หรือประมาณ 22 เดือนหลังจากนั้น) Moody’s ก็ปรับแนวโน้มกลับมาที่ Stable ในเดือนตุลาคม 2553
แต่ในรอบนี้ คงต้องมองย้อนกลับไปในเดือนเมษายน 2563 ที่แนวโน้มอันดับเครดิตของไทยเริ่มปรับลดลงจาก Positive มาที่ Stable ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นหลังช่วงโควิด-19 ก่อนที่จะตามมาด้วยรอบล่าสุด (28 เมษายน 2568) ที่มีการปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตลงต่อมาที่ Negative โดยเพิ่มเติมปัจจัยลบทางเศรษฐกิจจากการเปิดเกมปรับขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ และความเสี่ยงทางการคลังของรัฐบาลไทย
“ภาพจังหวะที่ไทยถูกจับตาเป็นพิเศษจนมีการทบทวนแนวโน้มของอันดับเครดิตลงต่อเนื่อง จาก Positive (ก.ค. 2562) เป็น Stable (เม.ย. 2563) จนมาเป็น Negative (เม.ย. 2568) ใช้ระยะเวลาเกือบ 6 ปี อันย้ำถึงปัญหาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ลากยาวขึ้นกว่าเดิม และมีเงื่อนไขซ้ำเติม คือ ตัวช่วยทางการคลังมีสัญญาณที่จำกัดมากขึ้นกว่ารอบก่อน จากสัดส่วนหนี้สาธารณะที่ขยับขึ้นแตะระดับ 64.2% ต่อจีดีพี ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2568” ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ
ยืนยันการปรับลด Outlook ของ Moody’s รอบนี้ ปรับตามรอบ ไม่ใช่กรณีพิเศษ
พชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า เป็นการปรับลดมุมมอง (Outlook) ความน่าเชื่อถือตามรอบการออกรายงานประจำปี ซึ่งทำอยู่ในรอบทุก 12 – 18 เดือน และเป็นการปรับลด Outlook จาก Stable เป็น Negative ครั้งแรกในรอบ 17 ปี หรือตั้งแต่ปี 2008 โดยย้อนกลับไปช่วงนั้น Outlook ของไทยถูกปรับลดลงเนื่องมาจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และเหตุความไม่สงบทางการเมือง
พชรกล่าวอีกว่า หลังจากนั้น ไทยใช้เวลา 2 ปีกว่าจะกลับมาที่สถานะ Stable อีกครั้ง ก่อนจะได้รับการปรับขึ้นเป็น Positive ในเดือนกรกฎาคม 2019 ก่อนจะถูกปรับลดลงเป็น Stable อีกครั้งในเมษายน 2020
“ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกินความคาดหมาย เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากนโยบายภาษีศุลกากรสหรัฐฯ” พชรกล่าว
Moody’s เคลื่อนไหวน่ากังวลแค่ไหน? Fitch และ S&P จ่อปรับตาม?
รศ. ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ความเคลื่อนไหวของ Moody’s รอบนี้ ไม่ได้เกินความคาดหมายมากนัก เนื่องจากหน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ (Credit Rating Agencies) ได้เตือนไทยมาตั้งแต่ปีที่แล้วในรายงาน (Report) ของแต่ละแห่ง
ดังนั้น การเคลื่อนไหวรอบนี้ หลักๆ ถือเป็นสัญญาณเตือน เนื่องจาก ครั้งนี้การปรับลด Outlook เท่านั้น ยังไม่ได้ลด Credit Rating ซึ่งการปรับลดเป็น Negative ก็หมายความว่า เราคงจะคาดหวังไม่ได้ว่าเขาจะปรับเพิ่มอันดับ Credit Rating ให้ นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นว่า จะลด Credit Rating ลงอีกในอนาคต
รศ. ดร.อธิภัทร กล่าวอีกว่า ในอดีต มักจะจะเห็นว่า หากมีหน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือแห่งใดแห่งหนึ่ง ‘ปรับ’ เจ้าอื่นจะต้อง ‘ไตร่ตรองมากขึ้น’ ซึ่งแปลว่า น้ำหนักของเรื่องการคลังที่จะถูกพิจารณา นับเป็นสิ่งที่น่ากังวลขึ้น
“สิ่งที่น่ากังวลที่สุดในมุมมองของรัฐบาล คือ เศรษฐกิจไทยแทบไม่โต ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ดูไม่ค่อยดี ทำให้ไม่สามารถเก็บรายได้เท่าที่ควรได้ ดังนั้น ถ้ารัฐบาลวางแผนจะกระตุ้นเศรษฐกิจต้องมั่นใจว่า GDP ไทยจะโตจริงในระยะยาว (Long Term Impact) และโตคุ้มกับเงินที่กระตุ้นไปด้วย” รศ. ดร.อธิภัทรกล่าว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถืออื่นๆ อาจทบทวนแนวโน้มอันดับเครดิตของไทยตามมาด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกัน เพียงแต่ในระหว่างนี้ไทยอาจยังมีเวลาราว 6 เดือน ถึง 1 ปี (ตามรอบของการปรับอันดับความน่าเชื่อถือในอดีต) เพื่อวางแนวทางรับมือผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ทั้งปัจจัยเฉพาะหน้าจากประเด็นการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และปัจจัยเสี่ยงเชิงโครงสร้างที่มีอยู่เดิมของเศรษฐกิจไทย ทั้งหนี้ครัวเรือนสูง ขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจไทย และสถานะทางการคลัง
ทั้งนี้ ตามรอบการประเมินระดับเครดิตของประเทศ (Sovereign Credit Rating) ไทยครั้งต่อไป ของ Fitch และ S&P จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้
ฐานะการคลังไทย ‘เปราะบาง’ แค่ไหน?
แม้ว่าตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2569 – 2572) ประเมินว่า อีก 4 ปีข้างหน้า หนี้สาธารณะไทย อยู่ที่ 69.3% ต่อ GDP เท่านั้น ในปี 2572 (ยังไม่ถึงเพดานปัจจุบันที่ 70% ต่อ GDP)
อย่างไรก็ตาม พชรกล่าว แผนการคลังระยะปานกลางดังกล่าวคำนวณ โดยคาดว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ราว 3% อย่างไรก็ดี ตามการคำนวณของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) บนฐานที่คาดว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ราว 2% ซึ่งเป็นอัตราที่ Moody’s หรือ IMF มองไว้ พบว่า หนี้สาธารณะไทยจะไปแตะเพดานในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2570
สำหรับความจำเป็นหรือความเร่งด่วนในการขยายเพดานหนี้สาธารณะไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 70% ต่อ GDP พชรมองว่า ต้องไปดูความสามารถในการจัดหารายได้ของรัฐบาล เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด
โดยในรายงานติดตามการคลัง (Fiscal Monitor) ฉบับล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า หนี้รัฐบาลไทยจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าไปแตะระดับ 64.5% ต่อ GDP ในปี 2025 และสูงขึ้นต่อเนื่องไปทุกปี จนไปแตะระดับ 68% ต่อ GDP ในอีก 5 ปีข้างหน้า นับว่าไม่ไกลจากเพดานหนี้สาธารณะไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 70% ต่อ GDP
ตัวเลขคาดการณ์หนี้รัฐบาลไทยปี 2025 ในรายงานดังกล่าว ยังสูงเป็นอันดับต้นๆ ของกลุ่มกำลังพัฒนาอาเซียน ดังนี้
- 🇲🇾 มาเลเซีย 70.1 ต่อ GDP
- 🇹🇭 ไทย 64.5 ต่อ GDP
- 🇵🇭 ฟิลิปปินส์ 58.1 ต่อ GDP
- 🇮🇩 อินโดนีเซีย 41 ต่อ GDP
- 🇻🇳 เวียดนาม 33.6 ต่อ GDP
แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 5 แสนล้านบาท มีผลต่อการหั่น Outlook หรือไม่?
พชร ยืนยันว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท ชัดเจนว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการหั่น Outlook ครั้งนี้ โดยตามที่ Moody’s ระบุพบว่า มีปัจจัยมาจากปัจจัยความเสี่ยงภายนอก (External Risks) เป็นหลัก โดยเฉพาะความไม่แน่นอน (Uncertainty) ที่เกิดขึ้นจากนโยบายการจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ
สอดคล้องกับ รศ. ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ ที่ระบุว่า มองว่า การประเมินของ Moody’s รอบนี้น่าจะมาจาก (Base on) เหตุการณ์และปัจจัยที่ผ่านมาแล้วมากกว่า ส่วนแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลน่าจะยังไม่ได้นำเข้ามาคำนวณ เนื่องจากยังไม่เห็นความชัดเจนมากน้อยเท่าไหร่
ทั้งนี้ ตามการประเมินของลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า การกู้เงินเพิ่มในวงเงิน 5 แสนล้านบาทจะมีผลต่อหนี้สาธารณะไทยราว 3%
รศ. ดร.อธิภัทรยังแนะนำว่า ต่อไป ถ้ารัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจจริง ต้องทำให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ เชื่อถือว่า เราจะใช้เงินอย่างรอบคอบ โดยมีแนวทางดังนี้
- การกระตุ้นเศรษฐกิจควรทำให้ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (Potential Growth) ดีขึ้น เนื่องจากมาตรการแจกเงินรอบที่แล้ว ไม่ได้ทำให้มั่นใจว่า การใช้เงินของรัฐบาลคุ้มค่า
- ไทยควรมีแผนการคลังระยะปานกลาง (MTFF) ที่ชัดเจนมากกว่านี้ โดยเฉพาะรายได้และรายจ่ายจะมีการปรับปรุงอย่างไร รวมไปถึงหนี้สาธารณะจะเปลี่ยนไปอย่างไร พร้อมระบุปัญหาของแผน MTFF ที่เรามีตอนนี้ไม่ได้ให้ภาพที่ชัดเจน หรือทำให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือมั่นใจได้ว่า รัฐบาลจริงจังกับแผนการคลังในอนาคต
- ทำให้เห็นว่า รัฐบาลไทยใส่ใจกับวินัยทางการคลัง โดยในหลายประเทศ รวมถึงสิงคโปร์ มีการสื่อสารแผนการคลังอย่างชัดเจนว่า จะมีการปรับภาษีและลดรายจ่ายอย่างไร ขณะที่แผนการคลังระยะปานกลางของไทยไม่ได้ทำให้มีความมั่นใจว่า รัฐบาลจะดำเนินตามอย่างจริงจัง หรือไม่ได้มีรายละเอียดข้างในว่า โครงสร้างรายจ่ายของรัฐเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และสัมพันธ์กับรายจ่ายที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
“เนื่องจากสถานการณ์โลกมีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มกระทบส่งออก และการบริโภคมากขึ้น ทำให้รัฐบาลอาจต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลเลือกจะกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเดิมคือ การแจกเงินโดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอะไรมากนัก แบบนั้นไม่ทำก็อาจดีกว่า” รศ. ดร.อธิภัทรกล่าว
ยืนยัน ‘ต้นทุนการกู้ยืม’ ของรัฐบาลยังไม่เพิ่มขึ้น
ด้านพชร ยังยืนว่า การปรับลด Outlook ของ Moody’s ยังไม่ได้ทำให้ต้นทุนในการออกพันธบัตรเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เห็นได้จากในเช้าวันที่ 30 เมษายน ซึ่งมีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 50 ปี วงเงิน 7 พันล้านบาท ตามการปรับโครงสร้างปกติ พบว่า สามารถขายได้ในราคาที่ต่ำกว่าตลาด อยู่ที่ 1.4% และยังพบว่า มีคนเข้ามาประมูลมากถึง 2.18 เท่า
ส่องตลาดเงิน-ตลาดทุน ‘ตกใจ’ กับข่าวหั่น Outlook หรือไม่?
พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ไม่เห็นผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุนมากเท่าไหร่ เนื่องจากรอบนี้เป็นการปรับลด Outlook ซึ่งอดีตที่ผ่านมา ไทยเคยถูกปรับลดแนวโน้มมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ก็ไม่ได้เกิดอะไร หรือไม่ได้ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือแต่อย่างใด พอเวลาผ่านไปก็ถูกปรับกลับมาเป็น Stable เหมือนเดิม เป็นเสมือน Wake Up Call สำหรับรัฐบาลเท่านั้น
ส่วนกระแสเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ไทย (Non-resident Net Flows) มองว่า เป็นผลมาจาก Flow ที่ไหลเข้าพันธบัตรอายุสั้นเป็นหลัก ซึ่งเป็นผลมาจากการที่นักลงทุนปรับ Position มาเป็น Long เงินบาท เนื่องจากมาจากเงินบาทที่แข็งค่า
พูน ยังระบุว่า Credit Default Swap (CDS) ซึ่งเป็นเสมือนเครื่องมือสะท้อนความเสี่ยงทางเครดิตประเทศ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ได้ปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
สอดคล้องกับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ตลาดการเงินไทยตอบรับข่าวการปรับมุมมองต่อแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือมาเป็น Negative ในรอบนี้ ค่อนข้างจำกัด เพราะปัจจัยอื่นมีผลมากกว่า อาทิ ทิศทางเงินดอลลาร์ ที่โดนกระทบจากเรื่องสงครามการค้า และสัญญาณฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ ซึ่งสลับมาอยู่ในฝั่งไหลเข้าสุทธิรับมติการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยลง 0.25% มาที่ 1.75% ในการประชุม กนง. 30 เมษายน 2568
ณ 16.43 น. เงินบาทอยู่ที่ 33.38-33.40 บาทต่อดอลลาร์ (ใกล้เคียงระดับปิดที่ 33.40 บาทต่อดอลลาร์ ของวันทำการก่อนหน้า) ดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้น 2.23% มาที่ 1,197.26 จุด ขณะที่ ยีลด์พันธบัตรรัฐบาลไทย อายุ 10 ปี ทรงตัวที่ 1.88-1.89%
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเตือนว่า หากมีสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถืออื่นๆ ปรับทบทวนมุมมองที่มีต่อแนวโน้ม (หรือปรับอันดับเครดิต) ตามมาในอนาคตอันใกล้ ผลกระทบอาจทยอยชัดเจนขึ้น เพราะประเด็นนี้อาจนับเป็นหนึ่งในสัญญาณที่ย้ำกว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางลงมาก
Negative Credit Rating Action เป็นเทรนด์เกิดขึ้นทั่วโลก
แหล่งข่าวในตลาดเงินตลาดทุน เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า อีกเหตุผลที่ไม่เห็นผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน เนื่องจาก ความเชื่อมโยง (Integration) ของตลาดการเงินไทยกับนอกประเทศอาจจะ ‘ไม่ได้มาก’ อย่างที่กังวล เนื่องจาก นักลงทุนต่างชาติมาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยในสัดส่วน 5% ซึ่งไม่ได้เป็นสัดส่วนที่สูง เทียบกับอินโดนีเซีย ที่มีนักลงทุนต่างชาติอยู่ในตลาดพันธบัตรในสัดส่วนราว 23%
นอกจากนี้ Negative Credit Rating Action ก็เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เนื่องมาจากการประกาศนโยบายภาษีศุลกากรมีผลต่อประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเยอะ และหนี้สาธารณะเยอะ ประเทศกลุ่มนี้จึงมีลุ้นหมดโดนไล่เก็บหมด
ตัวอย่างประเทศโดน ‘หั่น’ มุมมอง-อันดับความน่าเชื่อถือ โดย Moody’s ในปีนี้
วันที่ 24 มีนาคม 2025 Moody’s ได้เปลี่ยนแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวสำหรับจอร์เจียจาก Stable เป็น Negative คงอันดับเครดิตไว้ที่ Ba2 สะท้อนถึงการประเมินว่า ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางสถาบันของจอร์เจียกำลังเพิ่มมากขึ้นในบริบทภายในและภูมิรัฐศาสตร์ที่ซับซ้อนมากขึ้น
วันที่ 3 เมษายน 2025 ฟิทช์ เรตติ้ง ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลจีน จาก A+ เป็น A โดยอ้างถึงหนี้ของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และความเสี่ยงต่อการคลัง ขณะที่ผู้กำหนดนโยบายเตรียมปกป้องเศรษฐกิจจากภาษีศุลกากรที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ
วันที่ 28 เมษายน 2025 S&P ได้ปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของเบลเยียมจาก Stable เป็น Negative โดยอ้างถึงความกังวลเกี่ยวกับการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นของประเทศ
วันที่ 28 เมษายน 2025 Moody’s การปรับอันดับความน่าเชื่อถือ มูดีส์ เรตติ้งส์ เปลี่ยนแนวโน้มความน่าเชื่อถือของกัมพูชาจาก ‘คงที่’ เป็น ‘ลบ
และคงอันดับความน่าเชื่อถือ B2 โดยการเปลี่ยนแปลงสะท้อนถึงความเสี่ยงด้านลบต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา เนื่องมาจากความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ
แหล่งข่าวในตลาดเงินตลาดทุนกล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ต่อว่า หากไทยดาวน์เกรดเครดิตเรตติ้งจริงๆ จะทำให้เครดิตเรตติ้งไทยไปเท่ากับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งสถานะไทยอาจจะดีกว่า เนื่องจาก ฟิลิปปินส์มีธนาคารที่มีหนี้เสีย (NPL) เกิน 5% จำนวนมาก ขณะที่อินโดนีเซียก็มีความเปราะบางมากกว่าไทยในหลายๆ มุม
ส่อง ‘หนี้สาธารณะ-เครดิตเรตติ้ง’ อาเซียน
🇸🇬 สิงคโปร์
- คาดการณ์หนี้สาธารณะปี 2025 โดย IMF: 174.9% ต่อ GDP
- อันดับความน่าเชื่อถือ-มุมมองแนวโน้ม โดย Moody’s: Aaa Stable
🇲🇾 มาเลเซีย
- คาดการณ์หนี้สาธารณะปี 2025 โดย IMF: 70.1% ต่อ GDP
- อันดับความน่าเชื่อถือ-มุมมองแนวโน้ม โดย Moody’s: A3 Stable
🇹🇭 ไทย
- คาดการณ์หนี้สาธารณะปี 2025 โดย IMF: 64.5% ต่อ GDP
- อันดับความน่าเชื่อถือ-มุมมองแนวโน้ม โดย Moody’s: Baa1 Negative
🇵🇭 ฟิลิปปินส์
- คาดการณ์หนี้สาธารณะปี 2025 โดย IMF: 58.1% ต่อ GDP
- อันดับความน่าเชื่อถือ-มุมมองแนวโน้ม โดย Moody’s: Baa2 Stable
🇮🇩 อินโดนีเซีย
- คาดการณ์หนี้สาธารณะปี 2025 โดย IMF: 41% ต่อ GDP
- อันดับความน่าเชื่อถือ-มุมมองแนวโน้ม โดย Moody’s: Baa2 Stable
🇻🇳 เวียดนาม
- คาดการณ์หนี้สาธารณะปี 2025 โดย IMF: 33.6% ต่อ GDP
- อันดับความน่าเชื่อถือ-มุมมองแนวโน้ม โดย Moody’s: Ba2 Stable
🇰🇭 กัมพูชา
- คาดการณ์หนี้สาธารณะปี 2025 โดย IMF: 29.1% ต่อ GDP
- อันดับความน่าเชื่อถือ-มุมมองแนวโน้ม โดย Moody’s: B2 Negative
ถ้าไทยถูก ‘ดาวน์เกรดเครดิตเรตติ้ง’ จริงใครเจ็บ? ต้นทุนการกู้ยืมจ่อเพิ่มขึ้น?
แหล่งข่าวในตลาดเงินตลาดทุนมองว่า หากไทยถูกดาวน์เกรดจริง ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับกลุ่มบริษัทไทยใหญ่ๆ ที่ไปออกหุ้นกู้ (Bond) นอกประเทศ ซึ่งมีไม่เกิน 10 รายเท่านั้น ตัวอย่างเช่น กลุ่มปตท.ทั้งหลาย รัฐวิสาหกิจ และธนาคารขนาดใหญ่ ซึ่งหากไทยถูกดาวน์เกรดเครดิตเรตติ้ง บอนด์บริษัทเหล่านี้ก็จะมีราคาลดลง และมีต้นทุนในการออกสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างอาจไม่ได้สูงขนาดนั้น
ขณะที่ รศ. ดร.อธิภัทร กล่าวว่า ผลกระทบต่อต้นทุนการกู้ยืมเงินของรัฐบาลมีหลายปัจจัย ไม่ได้มีแต่อันดับความน่าเชื่อถืออย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น สภาพคล่อง (Liquidity) และดอกเบี้ยนโยบาย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม รศ. ดร.อธิภัทร เตือนว่า แม้ผลกระทบตอนนี้ (Immidate Effect) อาจจะยังไม่เห็น แต่อาจจะเห็นผลกระทบในระยะยาวมากกว่า