ในที่สุดนาทีประวัติศาสตร์ที่คนทั่วโลกรอคอยก็มาถึง เมื่อเวลา 06.31 น. ของวันที่ 8 ธันวาคม ตามเวลาท้องถิ่นของสหราชอาณาจักร มาร์กาเรต คีแนน คุณยายวัย 90 ปี ได้รับการฉีดวัคซีนที่พัฒนาโดย Pfizer และ BioNTech เป็นโดสแรกจากทั้งหมด 2 โดส โดยคุณยายคีแนนถือเป็นประชาชนกลุ่มเสี่ยงคนแรกที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 อย่างเป็นทางการ สร้างความหวังในการต่อสู้กับโควิด-19 ให้กับคนทั้งโลก
“มันเป็นของขวัญวันเกิดล่วงหน้าที่ดีที่สุดที่ฉันจะปรารถนาได้ เพราะมันหมายความว่าฉันจะสามารถใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อนฝูงในวันขึ้นปีใหม่ หลังจากที่ต้องอยู่คนเดียวมาเกือบตลอดทั้งปีนี้” คุณยายให้สัมภาษณ์หลังได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งหลังจากคุณยายคีแนนยังมีประชาชนอีกหลายคนที่ทยอยรับวัคซีนโควิด-19 หลายประเทศทั่วโลกก็อยู่ระหว่างการอนุมัติให้มีการใช้วัคซีนโควิด-19 ในวงกว้าง และเตรียมทยอยแจกจ่ายในเวลาไล่เลี่ยกัน
ตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทย ในเดือนสุดท้ายของปี 2563 ผู้คนยังคงหวาดกลัวกับโควิด-19 ท่ามกลางสถานการณ์การติดเชื้อของคนไทยในพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงกรณีที่บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อในศูนย์ ASQ คำถามคือเราจะได้เห็นภาพวัคซีนโควิด-19 ฉีดสู่ร่างกายประชาชนคนไทยเมื่อไร และที่สำคัญกว่านั้นคือวัคซีนที่ได้มาจะเพียงพอไหมต่อความต้องการของคนไทยทั้งประเทศในการหยุดยั้งโรคระบาดครั้งใหญ่นี้
คนไทยจะได้ใช้วัคซีนเข็มแรกเมื่อไร
วัคซีนล็อตแรกที่ดูเหมือนจะเป็นความหวังที่ใกล้ที่สุดของคนไทยคงหนีไม่พ้นวัคซีนของบริษัท AstraZeneca ที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งรัฐบาลไทยได้ลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยการจองล่วงหน้าจำนวน 26 ล้านโดส วงเงินกว่า 6 พันล้านบาท
จากการเปิดเผยโดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา ระบุว่าหลังพิธีลงนามจัดหาวัคซีนดังกล่าวจะทำให้คนไทยได้รับวัคซีนโควิด-19 ประมาณกลางปี 2564
แม้จะรอไม่นาน แต่จำนวนที่สั่งจองไว้ 26 ล้านโดสอาจไม่เพียงพอกับการหยุดยั้งโรคระบาดสำหรับคนไทยทั้งประเทศ เพราะวัคซีนจาก AstraZeneca ต้องฉีดคนละ 2 โดสจึงจะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสได้ประมาณ 70% เท่ากับว่าจำนวนวัคซีนที่สั่งจองไว้จะถูกใช้สำหรับคนไทยจำนวน 13 ล้านคนเท่านั้น
ขณะที่ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าหากทุกประเทศทั่วโลกจะควบคุมโควิด-19 และกลับไปใช้ชีวิดใกล้เคียงกับปกติ ประชากรของแต่ละประเทศจะต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 50% ของจำนวนประชากร ขณะที่ไทยมีจำนวนประชากรกว่า 66 ล้านคน นั่นหมายความว่าจะต้องมีคนไทยอย่างน้อย 33 ล้านคนที่ได้รับวัคซีน แต่ในเมื่อไทยได้รับโควตาวัคซีนจาก AstraZeneca จำนวนสำหรับ 13 ล้าน เท่ากับว่าขณะนี้เรายังขาดวัคซีนสำหรับคนไทยอีก 20 ล้านคนที่เหลือ นำมาสู่คำถามข้อต่อมาว่าแล้ววัคซีนที่เหลือจะหามาจากไหน
ทั่วโลกจองวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วเท่าไร
เมื่อวัคซีนโควิด-19 ถือเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่จะทำให้ผู้คนได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้อีกครั้ง ทำให้หลายๆ ประเทศต้องกักตุนโควตา และพยายามจัดหาวัคซีนให้เพียงพอกับความต้องการของคนในประเทศมากที่สุด
จากการสำรวจของ Bloomberg พบว่าประเทศที่ขณะนี้มีโควตาวัคซีนมากที่สุดอันดับหนึ่งคือแคนาดา ที่จองวัคซีนต้านโควิด-19 มากกว่าจำนวนประชากรถึง 4 เท่า คือ 266 ล้านโดสจากจำนวนประชากรประมาณ 38 ล้านคน
รองลงมาคือสหราชอาณาจักร มีวัคซีนที่สั่งจองไว้แล้ว 357 ล้านโดส ขณะที่มีจำนวนประชากรประมาณ 66 ล้านคนใกล้เคียงกับประเทศไทย
หันมาดูประเทศในภูมิภาคเดียวกันอย่างอินโดนีเซีย จะพบว่ามีโควตาวัคซีนแล้วประมาณ 225 ล้านโดส เกือบเท่าจำนวนประชากรที่มีอยู่กว่า 267 ล้านคน ญี่ปุ่นมีโควตาวัคซีน 290 ล้านโดส ครอบคลุมความต้องการของประชากรที่มีอยู่ 126 ล้านคน ส่วนเกาหลีใต้มี 64 ล้านโดส สำหรับประชากรกว่า 51 ล้านคน
สำรวจตะกร้าวัคซีนโควิด-19 สำหรับคนไทย ความหวังอยู่ตรงไหน
ศ.นพ.เกียรติ เปิดเผยว่าขณะนี้นโยบายวัคซีนของประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 ตะกร้าที่เป็นความหวังของคนไทยทั้งประเทศ
ตะกร้าที่ 1 โครงการ COVAX จับมือกับ 200 ประเทศเพื่อต่อรองราคากับบริษัทผลิตวัคซีนต่างๆ และสั่งจองด้วยกัน ซึ่งกรณีนี้อาจทำให้ไทยไม่ได้รับวัคซีนจำนวนที่มากนัก เนื่องจากต้องแบ่งปันกับประเทศอื่นๆ ที่ร่วมกันจับมือ
ตะกร้าที่ 2 จับมือร่วมผลิตกับ AstraZeneca ซึ่งไทยลงนามสั่งจองไปแล้วจำนวน 26 ล้านโดส
ตะกร้าที่ 3 ผลิตเอง ใช้เอง เพื่อความมั่นคงทางสาธารณสุขไทยในระยะยาว (อ่านเพิ่มเติม: สำรวจความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 จาก ‘ทีมไทยแลนด์’ ผลิตเอง ใช้เอง ความหวังของคนไทยทั้งประเทศ)
สำหรับวัคซีนในตะกร้าที่ 3 ขณะนี้ประกอบไปด้วย
- การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ที่มีชื่อว่า Chula-Cov19 โดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียในสหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อนหน้านี้มีการแถลงว่าผลการทดสอบในสัตว์ทดลองอย่างหนูและลิงได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และกำลังจะเริ่มทดสอบในมนุษย์ 3 ระยะ โดยเริ่มตั้งแต่ภายในสิ้นปี 2563 และหากการทดสอบในมนุษย์ทั้งระยะที่ 1 และ 2 ได้ผลน่าพอใจก็จะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่อไปยังบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีน Chula-Cov19 ใช้ได้เองทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้านแถบอาเซียน
- วัคซีนของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด สตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ได้รับการบ่มเพาะจากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งกำลังพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบพืชตระกูลยาสูบ สปีชีส์ ‘N. benthamiana’ ซึ่งความคืบหน้าในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาคือวัคซีนต้นแบบชนิดแรกจากทั้งหมด 6 ชนิดได้รับการทดสอบในสัตว์ทดลอง ได้แก่ หนูขาว และลิง แล้ว สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลองทั้งสองชนิดได้ในปริมาณสูงจากการฉีดวัคซีนเพียง 2 ครั้ง และจะเข้าสู่ขั้นตอนของการตรวจสอบภูมิคุ้มกันของลิงหลังได้รับวัคซีนไปแล้ว 6 เดือน เพื่อดูว่าภูมิคุ้มกันของลิงลดลงหรือไม่ และเมื่อฉีดไวรัสแล้วจะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้หรือไม่ นอกจากนี้ยังจะมีการทดสอบในหนูแฮมสเตอร์ และมีการทดสอบความเป็นพิษในสัตว์ทดลองเพื่อดูว่าวัคซีนมีผลอย่างไรต่ออวัยวะในร่างกาย และตรวจสอบว่าเป็นพิษหรือไม่ จากนั้นจะเป็นการผลิตในระดับอุตสาหกรรมแล้วจึงทดสอบในมนุษย์ ซึ่งต้องใช้เวลาในการหาสถานที่ผลิตที่ได้มาตรฐาน โดยหากมีงบเพียงพอและผลิตวัคซีนสำเร็จก็ดูจะเป็นอีกหนึ่งความหวังที่คนไทยทุกคนจะได้รับวัคซีนได้เร็วขึ้น เพราะสามารถวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของเราเองได้ด้วยคนไทยเองถึง 1 ล้านโดสต่อเดือน
ทั้งนี้ทีมพัฒนาคาดการณ์ไว้ว่าจะเริ่มทดสอบในอาสาสมัครได้ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 และยื่นขออนุญาตใช้ในกรณีฉุกเฉินได้ในเดือนธันวาคม 2564
- วัคซีนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่พัฒนาวัคซีนโดยใช้เทคโนโลยีที่ไม่ต้องใช้เชื้อไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 โดยตรง วัคซีนที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา เช่น วัคซีนในรูปแบบไวรัสเวกเตอร์ ซึ่งใช้ไวรัสที่ไม่มีอันตรายเพื่อนำส่งโปรตีนของไวรัสโควิด-19 ให้ร่างกายทำความรู้จักและกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนดังกล่าว
นอกจากนี้แล้วยังมีทีมวิจัยและพัฒนาวัคซีนจากหน่วยงานอื่นๆ อีก เช่น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, องค์การเภสัชกรรม หรือภาคเอกชนอย่างบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย ฯลฯ ซึ่งวัคซีนชนิด DNA ที่พัฒนาโดยบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย ก็กำลังมีความคืบหน้าในขั้นการเตรียมเข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ในระยะที่ 1 เช่นกัน หน่วยงานเหล่านี้กำลังพัฒนาวัคซีนในหลายรูปแบบ และโดยรวมแล้วประเทศไทยมีวัคซีนกว่า 20 ชนิดที่อยู่ระหว่างการพัฒนา
ในจำนวน 3 ตะกร้านี้ ดูเหมือนว่าสถานการณ์การแย่งชิงวัคซีนของหลายประเทศทั่วโลกจะทำให้สุดท้ายตะกร้าที่ 3 คือการผลิตเองใช้เองของคนไทยจะกลายเป็นความหวังมากที่สุด เพราะถึงแม้ความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนฝีมือคนไทยจะยังอยู่ในการทดลองระยะที่ 2 คือการทดสอบในสัตว์ทดลอง แต่สุดท้ายในระยะยาว วัคซีนจากตะกร้านี้จะทำให้คนไทยมีวัคซีนเพียงพอในการต่อสู้กับโควิด-19 อย่างครอบคลุมในวงกว้าง รวมถึงกรณีที่เลวร้ายกว่านั้นคือเมื่อไวรัสกลายพันธุ์ เทคโนโลยีและฐานการผลิตของวัคซีนไทยก็จะทวีความสำคัญมากขึ้นหากวันนั้นมาถึง
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: