×

การไหลบ่าเข้ามาของสินค้าจีน: สถานการณ์และแนวทางการรับมือ

02.07.2024
  • LOADING...
สินค้าจีน

สิ่งหนึ่งที่อยู่ในความสนใจคือ การไหลบ่าเข้ามาของสินค้าจีนในไทย จนทำให้หลายฝ่ายกังวลผลกระทบที่มีต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ​ และมองข้ามช็อตว่าเป็นสัญญาณร้ายทางเศรษฐกิจของไทย การล่มสลายของอุตสาหกรรมไทยต่างๆ นานา ตัวอย่างที่ยกขึ้นมาคือ อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยที่วันนี้เรายังผลิตรถยนต์เครื่องสันดาปภายใน

 

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ และอยู่ในความสนใจของผู้คนจำนวนมาก เพราะมันเกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชนจำนวนมาก แต่การเร่งสรุปและเชื่อมโยงไปถึงความอยู่รอดของเศรษฐกิจไทยอาจต้องทำด้วยความระมัดระวัง มิเช่นนั้นอาจทำให้เรามองปัญหาคลาดเคลื่อนจากสิ่งที่ควรจะเป็น และทำให้เราแก้ปัญหาไม่ตรงจุดอย่างที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ซ้ำร้ายอาจสร้างความเสียหายโดยใช่เหตุ ดังที่เคยเกิดขึ้นในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่บทวิเคราะห์ของสถาบันการเงินออกมาชี้เป็นชี้ตายอุตสาหกรรมภายใต้วาทกรรมอุตสาหกรรมดาวรุ่งดาวร่วง สถานประกอบการหลายแห่งต้องปิดกิจการเพียงเพราะถูกจัดเป็นอุตสาหกรรมดาวร่วง และสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อทันที หลายสถานประกอบการในอุตสาหกรรมเดียวกันบางแห่งโชคดี และยังคงดำเนินธุรกิจมาต่อเนื่องได้อีกกว่า 30 ปี

 

การวิเคราะห์การไหลบ่าเข้ามาของสินค้าจีนควรมองภาพที่กว้างว่าเป็นสถานการณ์เฉพาะกับไทยหรือไม่ ถ้าไทยโดนคนเดียวปัญหาน่าจะมาจากไทยเป็นหลัก เราคงต้องกลับมาทบทวนถึงต้นตอของความไม่สามารถที่จะแข่งขันกับจีน แต่ถ้าไม่ใช่ แต่เกิดกับหลายๆ ประเทศ ปัญหาน่าจะจากจีน แนวทางการแก้ปัญหาและ/หรือบรรเทาปัญหาใน 2 สถานการณ์แตกต่างกัน

 

เราพบว่าสินค้าจากจีนมีส่วนแบ่งต่อการนำเข้ารวมเพิ่มขึ้นในแทบทุกภูมิภาคของโลก ไม่ว่าจะเป็น เอเชียตะวันออก, อเมริกาเหนือ, สหภาพยุโรป 27 ประเทศ (EU27), อินเดีย, ลาตินอเมริกา และแอฟริกา ที่การนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นทั้งหมด

 

การเพิ่มขึ้นของสินค้าจีนเพิ่งเกิดขึ้นในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 แนวโน้มดังกล่าวน่าจะเป็นสาเหตุหลักจากสถานการณ์ภายในของจีน มากกว่าปัญหาภายในของประเทศนำเข้าประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะ เรื่องดังกล่าวน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน แต่น่าจะไม่ใช่ปัจจัยหลัก (ภาพที่ 1)

 

หากพิจารณาเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน เราก็เห็นภาพในทำนองเดียวกัน (ภาพที่ 2) แม้กระทั่งเวียดนามที่ทุกคนมองว่ากำลังเป็น Economic Superstar ก็เผชิญปัญหาเช่นกัน ดูเผินๆ แล้วเสมือนว่าสถานการณ์อาจหนักกว่าไทยเสียด้วยซ้ำ เมื่อเป็นเช่นนี้ปัญหาการนำเข้าจีนไม่สามารถนำมาใช้เป็นตัวบ่งชี้ปัญหาความสามารถในการแข่งขันของไทย อันนี้ไม่ได้บอกว่าไทยไม่มีปัญหาความสามารถในการแข่งขัน แต่การวิเคราะห์ที่ลึกกว่านั้นเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้เราเข้าใจที่มาของปัญหาได้อย่างเหมาะสมขึ้น

 

การด่วนสรุปเชื่อมโยงการนำเข้าจากจีนเข้ากับสถานการณ์อื่นๆ เช่น การปิดกิจการของโรงงาน การขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่อง และอนุมานภาพความสามารถในการส่งออกของไทยน่าจะไม่เหมาะสม ทำให้ภาพลักษณ์ความสามารถในการแข่งขันของประเทศแย่กว่าที่ควรจะเป็น และทำลายขวัญและความเชื่อมั่นโดยไม่จำเป็น

 

หากพิจารณาให้ลึกลง หลายผลิตภัณฑ์เผชิญความเสี่ยงดังสะท้อนจากส่วนแบ่งการตลาดสินค้าจากจีนที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 10) ในช่วง 4 เดือนแรกของปี ​2567 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน  ในกรณีของไทยผลิตภัณฑ์จากพืช, น้ำมัน, สารเคมี, พลาสติก, ผลิตภัณฑ์ยาง, ไม้ รวมไปถึงยานยนต์ ล้วนเผชิญแรงกดดันจากจีนทั้งสิ้น ประเทศอื่นในภูมิภาคไม่ว่า เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รายการสินค้าที่เผชิญแรงกดดันจากสินค้าไม่ต่างกันมากนัก

 

ดังนั้น ไม่มีประโยชน์ที่จะไประบุผลิตภัณฑ์เป็นการเฉพาะ ที่อาจถูกนำไปขยายผลในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น การระบุดาวรุ่ง ดาวร่วง สุดท้ายเพิ่มภาระโดยไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการระงับสินเชื่อจากสถาบันการเงิน แต่ต้องกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวและเตรียมรับแรงกดดัน

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาครัฐสามารถเข้าไปช่วยบรรเทาสถานการณ์ได้ในระดับหนึ่งอย่างน้อย 3 ประการ

 

ประการแรกไทยควรร่วมกับประเทศต่างๆ รวมทั้งจีน หารือร่วมกันและหาทางออกที่สร้างสรรค์ บนพื้นฐานความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน การแก้โดยการเก็บภาษีศุลกากรเพื่อสกัดบนตรรกะใดก็ตาม (เช่น การอุดหนุนจากภาครัฐ และ/หรือการทุ่มตลาด) อย่างที่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปมีแผนที่จะดำเนินการ ไม่น่าจะช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น มีแต่ซ้ำเติมสถานการณ์ และเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งรูปแบบอื่นๆ ประสบการณ์ความขัดแย้งระหว่างจีนและออสเตรเลียที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตโควิดน่าจะเป็นอุทาหรณ์เตือนใจที่ดี

 

ประการที่สอง ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการจีนเร่งระบายสินค้า มีความเป็นไปได้ที่ผู้ประกอบการบางรายลดต้นทุน โดยลดคุณภาพสินค้าต่ำกว่ามาตรฐาน และทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตราย เราควรทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันสินค้าด้อยคุณภาพเหล่านี้ เรื่องดังกล่าวต้องฝากความหวังไว้กับผู้ที่เกี่ยวข้องที่ต้องทำงานเชิงรุก หากเป็นไปตามระบบราชการเดิมอาจล่าช้าจนเกินไป

 

ประการที่สาม คงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงยากที่ผู้ประกอบการไทยบางรายตัดสินใจเลิกกิจการจากแรงกดดันเหล่านี้ ผู้ประกอบการเหล่านี้คงพยายามหาอาชีพใหม่ๆ เพื่อหารายได้และดำเนินชีวิตต่อไป ดังที่เราเห็นว่าแม้มีจำนวนโรงงานที่ปิดตัวเพิ่มขึ้น แต่ก็มีโรงงานใหม่เพิ่มตาม สิ่งที่รัฐทำได้คือเตรียมเครื่องมือต่างๆ ทั้งโอกาสทางธุรกิจ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และองค์ความรู้สำคัญๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการเหล่านี้เติบโตได้

 

สิ่งที่ภาครัฐควรตระหนักคือ หากสถานประกอบการประสบปัญหาจากธุรกิจเดิม เช่น การถูกฟ้องล้มละลาย โอกาสที่ผู้ประกอบการเหล่านี้จะกลับมาทำธุรกิจใหม่ได้มากน้อยเพียงใด Bankruptcy Law ของสหรัฐฯ น่าจะเป็นต้นแบบที่น่าสนใจ

 

เรื่องที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ท่ามกลางการทวีความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัล การช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นโอกาสที่ดีที่สุด และเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ในที่สุด

 

ภาพที่ 1

ส่วนแบ่งของสินค้านำเข้าจากจีนต่อการนำเข้ารวมของภูมิภาคต่างๆ ของโลกระหว่างปี 2562-2567

 

 

อ้างอิง: UN Comtrade Database

 

ภาพที่ 2

ส่วนแบ่งของสินค้านำเข้าจากจีนต่อการนำเข้ารวมของประเทศต่างๆ ในอาเซียนระหว่างปี 2562-2567

 

 

อ้างอิง: UN Comtrade Database

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising