×

มุมมองกลับหัวกลับหาง โลกทัศน์ ‘ขวาจัดไทย’ ในวันที่เปลี่ยนแปลง!

15.06.2023
  • LOADING...
โลกทัศน์ ‘ขวาจัดไทย’

“ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นปัจจัยความเสี่ยงคงที่… สหรัฐอเมริกายังคงเป็นรัฐมหาอำนาจที่ใหญ่ที่สุด ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การทหาร และการทูต แต่จีนก็เติบโตไล่ตามมา และอาจจะคุกคามสหรัฐฯ ในทุกด้าน”

Megan Greene and Jordan L. Strauss

10 of the Biggest Geopolitical Risks (2022)

 

ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยและการเมืองโลกที่ก้าวเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 21 นั้น มีประเด็นที่น่าสนใจอย่างมากถึงการปรับเปลี่ยน ‘โลกทัศน์ของขวาไทย’ ที่หากเราตามดูจากการสื่อสารทางการเมืองของปีกขวาจัดที่ปรากฏบนเวทีสาธารณะแล้ว มีความน่าสนใจถึงการประกาศ ‘จุดยืนใหม่’ ในทางการเมือง 

 

เราจะเห็นได้ชัดว่า ผลจากการขับเคลื่อนของ ‘กระแสเสื้อเหลือง’ และตามมาด้วย ‘กระแสนกหวีด’ จนในที่สุดพวกเขาก็ได้สร้างตัวตนของความเป็น ‘ขวาใหม่’ แล้ว อีกทั้งฝ่ายขวาไทยได้ขยับไปสู่การเป็น ‘ขวาจัด’ มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความเป็น ‘จารีตนิยม’ …พวกเขาไม่เพียงแต่ต่อต้านประชาธิปไตย หากแต่ยังกลายเป็นพวกต่อต้านสหรัฐฯ อีกด้วย

 

น่าสนใจว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้ปีกขวาจัดไทยเปลี่ยนไปเช่นนั้น… 

 

โลกทัศน์ขวายุคสงครามเย็น

 

หากย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์ของยุคสงครามเย็นในไทย ปีกขวาจัดไทยยืนอย่างมั่นคงกับฝ่ายตะวันตก และถือเอาระบบพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาเป็น ‘แกนกลาง’ ของความมั่นคงของไทย อีกทั้งยังมีความกังวลอย่างมากในช่วงหลังจากการล้มลงของ ‘โดมิโนอินโดจีน’ ที่เห็นถึงการล่มสลายของรัฐบาลนิยมตะวันตกในเวียดนาม กัมพูชา และลาว ในปี 2518

 

ในช่วงเวลาดังกล่าว สิ่งที่ฝ่ายขวาและบรรดาชนชั้นนำไทยกลัวมากที่สุดคือ การถูก ‘อเมริกันทิ้ง’ เพราะเมื่อสหรัฐฯ ต้องถอนกำลังออกจากอินโดจีนหลังการเปลี่ยนระบอบการปกครองในปีดังกล่าวแล้ว คำถามสำคัญในทางความมั่นคงคือ สหรัฐฯ จะยังคงพันธกรณีที่จะปกป้องไทยจากการรุกรานของกองทัพคอมมิวนิสต์หรือไม่?

 

ความกลัวอเมริกันทิ้งเช่นนี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พวกเขาเป็นปฏิปักษ์อย่างมากกับขบวนการนิสิต-นักศึกษาที่เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการมีฐานทัพสหรัฐฯ ในไทยในช่วงปี 2518-2519 หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งทางทฤษฎีคือ ปัญหาความหวาดกลัวทางการเมือง

 

ปีกขวาและบรรดาชนชั้นนำไทยในขณะนั้นมองด้วยความกังวลว่า การลดบทบาทของสหรัฐฯ ในยุคหลังสงครามเวียดนาม จะทำให้ไทยถูกทิ้งอย่างโดดเดี่ยวให้เผชิญกับการคุกคามของภัยคอมมิวนิสต์ที่เพิ่งได้รับชัยชนะในอินโดจีน ความกลัวเช่นนี้ทำให้พวกเขาตัดสินใจใช้กำลังล้อมปราบอย่างรุนแรงในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519

 

ภาวะความ ‘กลัวและเกลียด’ คอมมิวนิสต์อย่างสุดโต่งเช่นนี้ ทำให้ปีกขวาจัดและชนชั้นนำไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าเป็นพวก ‘โปรโมเตอร์ระบอบทหาร’ อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันบรรดาปีกขวาเหล่านี้ก็แสดงออกอย่างชัดเจนในการต่อต้านคอมมิวนิสต์จีนและรัสเซียอย่างไม่ลดละ พร้อมกับชื่นชมสหรัฐฯ ในฐานะที่เป็น ‘ปราการความมั่นคง’ ให้แก่ไทย 

 

ข้อสรุปพื้นฐานสำหรับฝ่ายขวาไทยในยุคสงครามเย็นคือ ประเทศไทยจะอยู่ไม่ได้โดยปราศจากการคุ้มครองด้านความมั่นคงจากสหรัฐฯ ข้อสรุปเช่นนี้ดำรงอยู่อย่างยาวนานในการเป็นพื้นฐานที่สำคัญของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทยและสหรัฐฯ ในยุคสงครามเย็น 

 

แต่เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง พร้อมกับการยุติของภัยคุกคามคอมมิวนิสต์แล้ว ฝ่ายขวาไทยจะยังดำรง ‘โลกทัศน์ความมั่นคง’ ชุดนี้ต่อไปอีกหรือไม่ เป็นคำถามสำคัญของการกำหนดทิศทางของรัฐไทยในอนาคต

 

โลกทัศน์ขวายุคหลังสงครามเย็น

 

ในยุคหลังสงครามเย็นจนถึงการเดินทางสู่ยุคปัจจุบัน ฝ่ายขวาไทยกลับถูก ‘หล่อหลอมใหม่’ ให้กลายเป็นฝ่ายต่อต้านตะวันตก ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับการเมืองภายในนั้นพวกเขาไม่ได้เปลี่ยนจุดยืนทางการเมือง ที่กลุ่มขวาจัดและกลุ่มชนชั้นนำไทยยังชื่นชมระบอบเผด็จการไม่แตกต่างจากเดิม อาทิ การแสดงออกอย่างชัดเจนในการสนับสนุน ‘ระบอบทหาร’ ดังจะเห็นถึงการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งต่อการรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 

 

แต่ในการเมืองระหว่างประเทศ พวกเขามีท่าทีที่เปลี่ยนไป และเป็น ‘หัวหอก’ ของฝ่าย ‘ต่อต้านตะวันตก’ อย่างน่าฉงน อีกทั้งมีท่าที ‘ต่อต้านอเมริกัน’ อย่างมากด้วย ซึ่งหากพิจารณาถึงการเปลี่ยนโลกทัศน์ทางการเมืองของปีกขวาจัดไทยแล้ว อาจต้องยอมรับว่า การที่ตะวันตกและสหรัฐฯ แสดงท่าทีต่อต้านการรัฐประหารที่กรุงเทพฯ เป็นปัจจัยสำคัญในเรื่องนี้ 

 

การสร้างตัวตนของความเป็นขวาในการเมืองภายในนั้น พวกเขาเป็นผู้รับมรดก ‘ต่อต้านประชาธิปไตย’ มาจากระบอบอำนาจนิยมเดิม และยังคงรักษาจุดยืนในการสนับสนุนรัฐประหารไว้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในยุคสงครามเย็น แม้พวกเขาจะไม่ชอบประชาธิปไตย แต่ก็มิได้มีนัยถึงการต่อต้านอเมริกัน เพราะยังต้องการการสนับสนุนด้านความมั่นคงจากสหรัฐฯ เนื่องจากการสนับสนุนจากสหรัฐฯ เป็นปัจจัยสำคัญในทางการเมืองและความมั่นคงเสมอ มิฉะนั้นแล้วอาจนำไปสู่การล่มสลายของรัฐจากภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์ได้

 

แต่วันนี้เมื่อจีนเติบโตผงาดขึ้นในฐานะ ‘รัฐมหาอำนาจใหม่’ มีกองทัพและเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และยังมาพร้อมกับท่าทีที่ไม่ตอบรับกับ ‘กระแสประชาธิปไตย’ เช่นเดียวกับที่รัสเซียเริ่มฟื้นตัวกลับมาเป็น ‘รัฐมหาอำนาจใหญ่’ อีกครั้ง และไม่ต่างกัน รัฐมหาอำนาจใหญ่ทั้งสองไม่สนับสนุนต่อการขยายตัวของกระแสประชาธิปไตย ดังจะเห็นถึงท่าทีเช่นนี้ในสองประเทศดังกล่าว และทั้งยังแสดงออกถึงการไม่ตอบรับกับความเป็น ‘เสรีนิยม’ ในทางการเมืองด้วย เนื่องจากค่านิยมเช่นนี้ขัดแย้งกับสถานะของระบอบการปกครองของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นระบอบปูตินในมอสโก หรือระบอบคอมมิวนิสต์ในปักกิ่ง ที่มีความเป็น ‘อำนาจนิยม’ มากกว่าจะเป็น ‘เสรีนิยม’

 

ดังนั้นจีนและรัสเซียในบริบทของการเมืองโลก จึงเป็นดั่ง ‘ฐานที่มั่นหลัก’ ของระบอบอำนาจนิยม ดังจะเห็นได้ว่าปักกิ่งและมอสโกในปัจจุบันไม่เคยแสดงท่าทีในการคัดค้านรัฐประหาร ทั้งยังทอดไมตรีให้กับรัฐบาลทหารในประเทศเหล่านั้น แม้กระทั่งการสนับสนุนด้วยการขายอาวุธ ซึ่งแตกต่างจากยุคสงครามเย็นที่ประเทศทั้งสองเคยเป็นที่ ‘หลบภัย’ ให้กับฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร 

 

แต่วันนี้สองมหาอำนาจกลับแสดงบทบาทที่แตกต่างจากในยุคสงครามเย็น และกลายเป็นผู้สนับสนุนรัฐประหาร… ความเป็นรัฐบาลฝ่ายซ้ายที่ปักกิ่งและมอสโกเคยดำรงไว้เช่นในอดีตนั้นสิ้นสุดไปแล้วกับยุคสงครามเย็น

 

โลกทัศน์ขวายุคสงครามยูเครน

 

หากสำรวจทิศทางทางการเมืองของปีกขวาไทยจะพบว่า พวกเขาได้ย้ายตัวเองไปเป็นฝ่าย ‘นิยมจีน-นิยมรัสเซีย’ และ ‘ต่อต้านประชาธิปไตย-ต่อต้านอเมริกัน’ พร้อมกันไป ดังจะเห็นว่าพวกเขาได้แสดงท่าทีชื่นชมผู้นำและระบอบการปกครองแบบของจีนและรัสเซียอย่างไม่ปกปิด… โลกของปีกขวาจัด ‘กลับหัวกลับหาง’ ไปหมดจากยุคสงครามเย็น

 

ดังนั้นในสถานการณ์ปัจจุบัน พวกเขาจึงแสดงออกถึงการสนับสนุนประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ในการบุกยูเครนอย่างไม่น่าเชื่อ โดยไม่ตระหนักว่าสงครามยูเครนมีสภาวะของการที่รัฐใหญ่รุกรานรัฐเล็ก และมีนัยถึงการใช้กำลังเพื่อการเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดนของรัฐ ซึ่งเท่ากับเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศโดยตรง 

 

การยอมรับสภาวะเช่นนี้เกิดเพียงเพราะพวกเขาต่อต้านประชาธิปไตย-ไม่ชอบอเมริกัน โดยไม่คำนึงถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ ตลอดจนการไม่รับรู้ถึงผลกระทบกับอีกหลายชีวิต อันนำไปสู่การหลั่งไหลของผู้อพยพหนีภัยสงครามจากยูเครนไปสู่ประเทศต่างๆ ในยุโรป 

 

ในอีกมุมหนึ่งของสังคมไทย การต่อต้านประชาธิปไตยของปีกขวาจัดไม่มีนัยเพียงการสนับสนุนรัฐประหารเท่านั้น หากแต่ยังขยายไปสู่ความต้องการที่จะสร้างพื้นที่ใหม่ทางการเมืองของสังคมให้อยู่ใน ‘กระแสต่อต้านตะวันตก’ อีกด้วย ซึ่งต้องถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในการเมืองไทย เพราะแต่เดิมเรื่องนี้เป็น ‘กระแสซ้าย’ ส่วนความชื่นชมตะวันตกนั้นเป็น ‘กระแสขวา’ 

 

โลกของการเมืองไทยเปลี่ยนไปจริงๆ อย่างที่คาดไม่ถึง จนเป็นเสมือนโลกที่กลับหัวกลับหางในบริบทด้านต่างประเทศ แต่พวกเขายังยืนจุดเดิมในการเมืองไทย ดังที่สะท้อนให้เห็นได้อีกมุมหนึ่งจากทัศนะของปีกขวาจัดต่อผลการเลือกตั้ง 2566 ที่เชื่อเป็นอย่างมากว่า ผลของชัยชนะดังกล่าวกำลังเปิดทางไปสู่การแทรกแซงของฝ่ายตะวันตก เป็นต้น

 

ทิศทางอนาคต

 

โลกทัศน์ใหม่ของกลุ่มขวาจัดไทยในวันนี้จึงสรุปได้ 3 ประการหลัก ได้แก่

 

  1. ต่อต้านประชาธิปไตย
  2. ไม่เอาอเมริกา
  3. ยกย่องจีน-ชื่นชมรัสเซีย 

 

ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่พวกเขานอกจากจะไม่เพียงสนับสนุนสงครามของรัสเซียในยูเครนอย่างไม่ต้องคิด แต่ยังแสดงออกด้วยการต่อต้านตะวันตกอย่างแข็งขันอีกด้วย จนน่ากังวลว่า ในท่ามกลางการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่บนเวทีโลกที่ส่งผลอย่างมากกับการเมืองในเอเชียนั้น ฝ่ายขวาไทยจะยืนอย่างไรในปัญหาความขัดแย้ง ‘จีน-ไต้หวัน’ รวมถึงจะพาประเทศเดินไปอย่างไรในอนาคต เพราะวันนี้ ‘ต้นอ้อที่เคยลู่ลม’ ที่กรุงเทพฯ ดูจะลู่ไปทางตะวันออกมากกว่าเสียแล้ว!

 

ภาพ: (1) FabrikaSimf / Shutterstock 

         (2) THE STANDARD

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising