วันนี้ (8 พฤศจิกายน) แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี MOU 2544 จำเป็นต้องนำเข้าสภาเพื่อหาข้อยุติ ก่อนจะเดินหน้าแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชาหรือไม่ว่า ตัว MOU 2544 ยอมรับว่ายังไม่เคยเข้าสภา เพียงแต่ยึดหลักการเจรจาภายใต้ MOU 2544 ซึ่งเป็นหลักที่เสรี
ส่วนกรณีที่ตนเคยระบุว่าจะโดนกัมพูชาฟ้องหากใครยกเลิก MOU 2544 นั้น ขอชี้แจงว่าเรื่องฟ้องหรือไม่ฟ้องเกิดขึ้นได้หากมีการยกเลิกฝ่ายเดียว เพราะฉะนั้นการที่เราพูดคุยกันระหว่างประเทศสำคัญมาก คนไทยต้องคิดในเรื่องนี้และไม่ควรจะมายกเลิกฝ่ายเดียว ทั้งนี้ มีโอกาสพูดคุยกับผู้นำกัมพูชา ซึ่งทางผู้นำกัมพูชาถามว่ามีอะไรที่จะให้ทางกัมพูชาสนับสนุนประเทศไทยหรือไม่ ให้แจ้งมา ซึ่งตนบอกว่าเป็นเรื่องที่เราต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจมากกว่าว่าเรายังไม่ได้เสียเปรียบอะไร
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เชื่อว่าหลังจากกลับมาจากการประชุม APEC ในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ฝ่ายไทยก็จะเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตนแจ้งไปทางกัมพูชาแล้วว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ฝ่ายไทยจะเสร็จสิ้นประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ และจะพูดคุยกันผ่านคณะกรรมการชุดนี้ หากการจัดตั้งคณะกรรมการทางเทคนิคเสร็จทุกอย่างจะง่ายขึ้น มีการตรวจสอบได้ การพูดคุยของทั้งสองประเทศก็จะเกิดขึ้น ข้อมูลที่ประชาชนอยากได้ก็จะครบถ้วนมากขึ้น
ด้านภูมิธรรมกล่าวว่า MOU ดังกล่าวสมบูรณ์แล้ว เรื่อง MOU เป็นการพูดคุยกันเพื่อให้ได้ข้อตกลงเรื่องไหล่ทวีป จึงไม่จำเป็นต้องเข้าสภา ซึ่งมีความสมบูรณ์ในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่หากได้ผลการเจรจาและมีอะไรที่เป็นสนธิสัญญาจะต้องเข้าสภา คำว่าสมบูรณ์หมายถึงข้อตกลงร่วมกัน เพราะต่างฝ่ายต่างประกาศเขตแดนซึ่งไม่เหมือนกัน ต่างฝ่ายต่างมีเส้นเป็นของตัวเอง MOU 2544 ให้ทั้งสองประเทศมาพูดคุยกัน ว่าเส้นตรงนี้จะยึดเส้นใด เรื่องอธิปไตยมันยังไม่จบ
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีกล่าวเสริมว่า MOU ไม่ใช่ตัวชี้ว่าพื้นที่นี้เป็นของใคร เพียงแต่เมื่อเส้นของสองฝ่ายไม่ตรงกันจึงต้องพูดคุยกัน และไม่จำเป็นต้องเข้าสภา เป็นข้อตกลงทั้งสองประเทศเรียบร้อยแล้วและเข้าใจตรงกัน
ส่วนกรณีที่ตั้งข้อสังเกตว่ากัมพูชาเป็นประเทศเดียวที่ไม่ได้ร่วมในสนธิสัญญาเจนีวาจะส่งผลกระทบอะไรหรือไม่ ภูมิธรรมกล่าวว่า สนธิสัญญาเจนีวา เขาประกาศกฎหมายทางทะเล ไม่ว่าคุณจะเข้าหรือไม่เข้าก็ต้องยอมรับสนธิสัญญานี้ และการเจรจาทั้งหมดก็ต้องยึดกรอบกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากมีผลครอบคลุมทุกประเทศทั่วโลก ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่ปัญหา และในสนธิสัญญาระบุชัดเจน เป็นสนธิสัญญาที่เป็นข้อตกลงร่วมกันของทั้งสองฝ่ายเพื่อมาเจรจาเรื่องเขตแดนโดยสันติ และหลังจากคุยกันแล้วได้ข้อสรุปอย่างไรค่อยมาพูดคุยกันอีกครั้ง
นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ส่วนการเจรจาแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลสามารถชะลอได้ เพื่อให้ข้อท้วงติงอื่นๆ ได้ข้อยุติ ทั้งนี้ จะให้เจ้าหน้าที่ส่งข้อมูลเกี่ยวกับแผนที่การขีดเส้นให้กับสื่อมวลชน ซึ่งเส้นที่กัมพูชาขีดนั้นอ้อมเกาะกูด ดังนั้นเกาะกูดไทยไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขตรงนี้ และทางกัมพูชาก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องนี้ และเขาก็ไม่ได้อยากมีปัญหากับเรา และเขาก็ถามอยู่เรื่องเดียว คณะกรรมการเทคนิคฝ่ายไทยจะแล้วเสร็จเมื่อใด
เปิดหลักสูตร วปอ. รุ่นที่ 67 เน้นย้ำรับมือการเปลี่ยนแปลงโลก
นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดการศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 67 และกล่าวบรรยายหัวข้อวิชา ‘บทบาทของภาครัฐ เอกชน และการเมือง ในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ’ ที่อาคารอเนกประสงค์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ
นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดหลักสูตรตอนหนึ่งว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่มีโอกาสมาพบทุกท่าน อย่างที่ทุกคนทราบ โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก โลกวันนี้กับ 20 ปีที่แล้วเป็นคนคนละใบ หลังจากนี้การเปลี่ยนแปลงจะยิ่งเร็วขึ้น เราต้องเตรียมพร้อมรับมือความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อมที่จะรุนแรงยิ่งขึ้น ปัญหาทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในทุกระดับ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งเฉย ได้พูดคุยผู้นำหลากหลายประเทศและเห็นปัญหาที่เจอคล้ายกัน ซึ่งทุกประเทศยินดีช่วยเหลือกันเพื่อให้หลุดพ้นจากปัญหานี้
“หลักสูตรนี้จะสามารถให้อะไรหลายๆ อย่าง ทุกครั้งที่มีการจับกลุ่มกันก็อยากจะขอให้ทุกคนช่วยกันเข้างานกลุ่มเพื่อให้เกิดความเข้าใจ วันนี้ขอมาแชร์ในเรื่องที่รัฐบาลทำอยู่ ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอยู่ในรุ่นนี้ ได้มาเจอกลุ่มใหม่ เพื่อนใหม่ๆ ทำให้มีประสบการณ์เยอะขึ้น เปิดโลกให้กว้างขึ้น ขอให้ทุกคนโชคดี หลังจากจบคอร์สกันไปจะได้คบกันต่อไปนานๆ เราจะได้รู้จักกันทุกภาคส่วน ขอให้ทุกคนเตรียมพร้อมพัฒนาประเทศของเรา” นายกรัฐมนตรีกล่าว
นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า นอกจากนี้รัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายเพื่อที่จะรองรับภัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น ประเด็นความขัดแย้งในสหรัฐอเมริกากับจีนที่จะส่งผลกระทบในหลายมิติ ทั้งเรื่องของเศรษฐกิจและเรื่องของการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งหลายท่านอาจคิดว่าจีนจะเอาสินค้าเข้ามาขายทำให้คนไทยไม่มีที่ยืน ไม่มีตลาดสำหรับการขายสินค้า แต่ว่าความจริงจีนเองก็ยังต้องการสินค้าเกษตรจากไทย
ฉะนั้นเรายังมีทางออก รัฐบาลพร้อมอำนวยความสะดวกและพัฒนาให้เกษตรกรแข็งแรงพร้อมที่จะส่งออกให้กับจีน โดยการปรับโครงสร้างหนี้ หารายได้ใหม่ให้กับประเทศ พร้อมสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ จ้างงานและสร้างอาชีพใหม่ๆ เพื่อให้เราหลุดกับดักรายปานกลางไปสู่รายได้สูง เพิ่มสัดส่วนเศรษฐกิจดิจิทัลให้เป็น 30% ของ GDP ในปี 2573