วานนี้ (28 พฤศจิกายน) ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ได้จัดให้มีการประชุมสมัชชาใหญ่ตำรวจสากล (INTERPOL) ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกกว่า 195 ประเทศ โดยปีนี้เป็นโอกาสพิเศษครบรอบ 100 ปีของการจัดตั้ง INTERPOL ซึ่งจัดตั้งเป็นครั้งแรกที่ประเทศออสเตรีย
โดยเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบหมาย พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เข้าร่วมประชุม เพื่อแสวงหาความร่วมมือผ่านแดนในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ คอลเซ็นเตอร์ ค้ามนุษย์ และองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ
สำหรับการประชุมในวันแรกเป็นการประกาศรับประเทศสมาชิกเพิ่มคือ ปาเลา เป็นสมาชิกประเทศที่ 196 และได้หารือร่วมกันในการขับเคลื่อนความร่วมมือผ่านแดนในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งทุกประเทศเห็นพ้องต้องกันว่า ปัจจุบันกลุ่มคนร้ายหรืออาชญากรสามารถก่อเหตุได้พร้อมกันในหลายประเทศและใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นกลไกสำคัญ
ดังนั้นการจัดการปัญหาต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วและประสานความร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้น เพื่อไล่ล่ากลุ่มอาชญากรในทุกช่องทาง โดยเฉพาะพื้นที่ที่กลุ่มอาชญากรมักใช้เป็นแหล่งกบดานหลังการก่อเหตุหรือระหว่างการก่อเหตุ ซึ่งจะต้องใช้ทั้งความร่วมมือและเทคโนโลยีเข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศ
ครั้งนี้ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ตำรวจสากลได้เสนอใช้หมายประเภทใหม่คือ หมายสีเงิน (Silver Notice) ซึ่งจะใช้ในการประสานและแจ้งเตือนประเทศสมาชิกในการช่วยติดตามยึดอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางการเงิน ซึ่งจะมีประโยชน์ในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ในฐานะตัวแทนประเทศไทยจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า แนวทางที่ทุกประเทศกำหนดร่วมกันในครั้งนี้ภายใต้แนวคิดศตวรรษแห่งการเรียนรู้ การทำงานร่วมกัน และนวัตกรรม เพื่อโลกที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น ถือเป็นกลไกสำคัญในการร่วมมือปราบปรามอาชญากรข้ามชาติ ซึ่งปัจจุบันไม่เพียงแต่เกิดขึ้นได้พร้อมกันหลายพื้นที่ในเวลาเดียวกัน ยังอาจเกิดจากคนกลุ่มเดียวกันที่ทำงานกันเป็นเครือข่าย โดยอาศัยประชากรหรือพลเรือนของประเทศนั้นๆ เป็นเครื่องมือในการก่ออาชญากรรม
ส่วนการประกาศใช้หมายประเภทใหม่คือหมายสีเงิน ซึ่งจะใช้ในการประสานและแจ้งเตือนประเทศสมาชิกในการช่วยติดตามยึดอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางการเงิน จะมีประโยชน์ในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เป็นแนวทางที่ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่ต้องกำหนดกรอบให้ชัดเจน และเชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในเชิงรุก ทั้งในแง่ของการค้ามนุษย์และการใช้อาวุธที่ผิดประเภท
สำหรับการบังคับใช้หมายแดง (Red Notice) ของประเทศไทยนั้น ตลอด 3 ปีที่ผ่านมามีการดำเนินการอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2564 ดำเนินการควบคุมจับกุมและส่งต่อได้ 31 หมาย ขณะที่ปี 2565 ดำเนินการเพิ่มเติมได้เป็น 68 หมาย กระทั่งปี 2566 สิ้นสุดที่เดือนตุลาคม สามารถดำเนินการได้ถึง 106 หมาย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ และการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก
ขณะที่ เจอร์เกน สต๊อก เลขาธิการตำรวจสากล กล่าวยืนยันว่า การจับกุมคนร้ายในทุกวันนี้ หากจับกุมเฉพาะในประเทศอย่างเดียวก็จะไม่สามารถทำให้ปัญหาหมดไปได้อย่างแท้จริง นั่นเป็นเพราะหัวหน้าขบวนการยังอยู่ต่างประเทศ ดังนั้นจึงต้องแสวงหาความร่วมมือทั้งโลกและจับกุมข้ามพรมแดนร่วมกันอย่างบูรณาการ