×

รมว. มาริษ ชี้ ไทย-อาเซียนร่วมใจช่วยเมียนมาจากแผ่นดินไหว ย้ำ กต. มีบทบาทเจรจาภาษีทรัมป์ตั้งแต่ต้น

09.04.2025
  • LOADING...
แผ่นดินไหวเมียนมา

เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.7 ที่มีศูนย์กลางใกล้มัณฑะเลย์ของเมียนมาผ่านไปแล้วเกือบ 2 สัปดาห์ ยอดผู้เสียชีวิตยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดแตะ 3,471 คน บาดเจ็บกว่า 4,671 คน และสูญหายอีกเป็นจำนวนมาก โดยเมืองที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือมัณฑะเลย์ และพื้นที่สะกาย

 

มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมกับ ดาโตะ เซอรี อูตามา ฮาจี โมฮามัด บิน ฮาจี ฮาซัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ได้ไปเยือนกรุงเนปิดอว์เพื่อร่วมประเมินความต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งรัฐมนตรีได้เล่าให้เราฟังว่าเวลานี้เมียนมาต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน

 

รัฐมนตรีเผยว่า การเยือนครั้งนี้เป็นผลมาจากการที่อาเซียนได้ประชุมฉุกเฉินทางออนไลน์เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ซึ่งที่ประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศได้เห็นพ้องต้องกันว่ามาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนควรมีบทบาทในการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่มอาเซียนในการเข้าไปช่วยเมียนมาผ่านการบริหารจัดการด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว

 

ซึ่งทางรัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซียก็ได้เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย เดินทางไปเมียนมาเพื่อให้ความช่วยเหลือด้วย เนื่องจากเห็นว่าไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านและที่ผ่านมามีบทบาทสำคัญต่อเมียนมาในหลายมิติ

 

รัฐมนตรีเล่าว่า ตอนเดินทางถึงเมียนมาเป็นช่วงสับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่พอดีทั้งของฝั่งไทยและมาเลเซีย โดยทีมแรกที่ส่งเช้าไปก่อนนั้นเป็นทีมค้นหาและกู้ภัย (Search and Rescue) ซึ่งได้ปฏิบัติภารกิจเสร็จสมบูรณ์หลังผ่านพ้นช่วง 72 ชั่วโมงแรกหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ การช่วยเหลือจึงเข้าสู่เฟสที่ 2 ซึ่งเน้นไปที่การให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ โดยเฉพาะการรักษาผู้บาดเจ็บที่มีจำนวนมาก ซึ่งไทยได้ส่งทีมแพทย์จากกระทรวงสาธารณสุขและทีมแพทย์จากกองทัพอากาศเข้าไปแล้ว

 

สิ่งที่เมียนมาต้องการที่สุดในเวลานี้คือโรงพยาบาลสนาม (Field Hospital) เพราะโรงพยาบาลที่มีอยู่ไม่สามารถดำเนินการได้เต็มที่ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว นอกจากนี้ก็ยังต้องการเต็นท์พักพิงชั่วคราว เนื่องจากผู้ประสบภัยจำนวนมาก ยังไม่กล้ากลับเข้าไปในบ้าน เนื่องจากกลัวว่าจะพังถล่มลงมาซ้ำ หรือบ้านได้รับความเสียหายอย่างหนักจากแผ่นดินไหวจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้

 

นอกจากเรื่องที่พักพิงแล้ว สหประชาชาติได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับโรคระบาดที่อาจตามมาในพื้นที่ประสบภัย ซึ่งรัฐมนตรีเผยว่า เมียนมามีความต้องการน้ำดื่มสะอาดและเครื่องกรองน้ำด้วย เพราะปัญหาสุขอนามัยอาจทำให้เกิดโรคระบาดตามมา โดยเฉพาะอหิวาตกโรค นอกจากนี้ยังมีโรคระบาดอื่นๆ ที่เกิดจากพาหะในช่วงที่ยุงเยอะ เช่น มาลาเรีย และไข้เลือดออกด้วย ซึ่งทางทีมแพทย์ให้คำแนะนำว่า การใช้วัคซีนอาจช่วยได้แค่ 50% แต่สิ่งสำคัญคือการเฝ้าระวัง การป้องกันไม่ให้คนดื่มน้ำไม่สะอาดหรือถูกยุงกัด

 

รัฐมนตรีเผยว่า รัฐบาลเมียนมาได้แสดงความขอบคุณรัฐบาลมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียน ที่ได้แสดงความเป็นอันหนึ่งเดียวกันของอาเซียนในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือ นอกจากนี้ก็ยังขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือครั้งนี้ด้วย

 

ไทยและมาเลเซียยังมีการตกลงร่วมกันที่จะแบ่งพื้นที่ดูแลและบริหารจัดการในเมียนมาด้วย โดยไทยจะเข้าไปบริหารจัดการความช่วยเหลือที่มัณฑะเลย์เป็นหลัก ส่วนมาเลเซียจะเข้าไปดูพื้นที่สะกายเป็นหลัก ซึ่งหลังจากผ่านเฟสที่ช่วยเหลือคนออกมาได้แล้ว ก็จะเข้าสู่เฟสการฟื้นฟู ทั้งการฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ และการบูรณะฟื้นฟูสิ่งปลูกสร้างขึ้นมาใหม่  

 

ส่วนเรื่องความมั่นคงชายแดนระหว่างไทยกับเมียนมานั้น รัฐมนตรีย้ำว่า ตนในฐานะประธานอนุกรรมการด้านความมั่นคงชายแดนไทย-เมียนมาจะเข้ามาดูเรื่องนี้อย่างแน่นอน แต่ตอนนี้อยากให้โฟกัสไปที่การช่วยเหลือเมียนมาในด้านมนุษยธรรมก่อน 

 

แผ่นดินไหวเมียนมา

 

เรื่องของ Tariff หรือกำแพงภาษีทรัมป์ก็เป็นอีกประเด็นร้อนที่อยู่ในความสนใจของประชาชนในเวลานี้ ซึ่งรัฐมนตรีย้ำว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศมีบทบาทในกระบวนการเจรจาตั้งแต่ต้น ก่อนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะประกาศมาตรการภาษีเสียอีก

 

รัฐมนตรีกล่าวว่า กำแพงภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ซึ่งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก 

 

ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศนั้นมี ใจไทย อุปการนิติเกษตร รักษาการอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ ที่อยู่ในคณะทำงานของรัฐบาลที่มี วุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานในการเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ โดยรัฐมนตรีย้ำว่ามีการเตรียมพร้อมสำหรับมาตรการรับมือต่างๆ รวมถึงคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไว้ก่อนแล้ว

 

นอกจากนี้รัฐมนตรีเผยด้วยว่า ยังมีทีมเจรจาที่อยู่ที่สหรัฐฯ ด้วย ซึ่ง ดร.สุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มีบทบาทสำคัญในการประสานและสนับสนุนการเจรจาของรัฐบาลไทยกับสหรัฐฯ 

 

รัฐมนตรีกล่าวว่า เอกอัครราชทูตไทยมีบทบาทในการดำเนินความสัมพันธ์ในทุกมิติกับสหรัฐฯ ไม่เพียงแต่เรื่องการค้าเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของความมั่นคงและการทหารที่กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญอย่างมากด้วย ซึ่งไทยและสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน และมีการพูดคุย รวมถึงเข้าไปล็อบบี้หน่วยงานต่างๆ ของสหรัฐฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกมิติ ไม่เพียงแต่กระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังมีที่ปรึกษาของประธานาธิบดี กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงกลาโหม หน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติ สำนักข่าวกรองกลาง (CIA) และกระทรวงเกษตร เป็นต้น

 

รัฐมนตรีย้ำว่า บทบาทของกระทรวงการต่างประเทศในการเจรจาเรื่องนี้จึงไม่ใช่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังอยู่ในสหรัฐฯ ด้วย 

 

กับคำถามว่า อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียนได้ต่อสายหารือกับผู้นำ 4 ชาติในอาเซียน เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา ประกอบด้วยสิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ โดยไม่มีไทยอยู่ในวงนี้นั้น รัฐมนตรีชี้แจงว่า นายกฯ มาเลเซียมีการโทรหานายกฯ แพทองธาร ในวันถัดมา โดยผู้นำจะมีการติดต่อหารือกันอยู่ตลอด 

 

ส่วนมาตรการต่างๆ ของไทยที่เตรียมไว้นั้น รัฐมนตรีระบุว่าเป็นท่าทีที่สำคัญของรัฐบาลที่จะใช้ในการต่อรองกับสหรัฐฯ ดังนั้นจึงไม่สามารถเปิดเผยได้ในเวลานี้ แต่รัฐมนตรีพยายามชี้ให้เห็นว่า แต่ละประเทศได้รับผลกระทบแตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ท่าทีและการเจรจาต่อรองจึงแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้โดยจะเจรจาต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของประเทศให้ได้มากที่สุด

 

ล่าสุดมีการตอบรับจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ให้ไทยไปเจรจาแล้ว แต่ยังไม่กำหนดวันที่ชัดเจน ซึ่งเรายังต้องติดตามกันต่อไปว่าการเจรจาจะออกมาเป็นอย่างไร 

 

ภาพ: กระทรวงการต่างประเทศ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising