ไทยเตรียมปรับแนวทางกำกับดูแลอุตสาหกรรมการเงินครั้งใหญ่ พัฒนาระบบนิเวศและรายละเอียดธุรกิจอย่างชัดเจน หลัง พ.ร.บ. ‘Financial Hub’ ผ่านครม. แล้ว จ่อเข้าสภาพิจารณา วาระ 1 ทันที
วันนี้ (15 กรกฎาคม) ดร. เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. …. หรือ Financial Hub ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเสร็จเป็นที่เรียบร้อย และจะถูกบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระที่ 1 ทันที
โดยร่างที่เรียกว่า พ.ร.บ. Financial Hub นี้ ต้องการผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นสู่ศูนย์กลางการเงินของภูมิภาค โดยการยกเครื่องการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจอย่างครบวงจร เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและดึงดูดการลงทุนมากขึ้น
รายละเอียดสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ คือการกำหนดนโยบายส่งเสริม พัฒนาระบบนิเวศ และความพร้อมด้านรายละเอียดธุรกิจอย่างชัดเจน
โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
บททั่วไป ว่าด้วยการกำหนดวันที่บังคับใช้ และนิยามที่เกี่ยวข้อง
หมวด 1 คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน
- กำหนดองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการให้กำกับดูแลกิจการภายใต้โครงการ Financial Hub อย่างครบวงจร
- กำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจ การให้ใบอนุญาต การตรวจสอบการดำเนินงาน และการเพิกถอนใบอนุญาต
หมวด 2 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน
- ตั้งสำนักงานเพื่อให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One-stop Authority: OSA) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ
- ครอบคลุมการพิจารณาใบอนุญาตและสิทธิประโยชน์ต่างๆ
หมวด 3 ผู้อำนวยการ
- กำหนดคุณสมบัติและวิธีการแต่งตั้งผู้บริหารจัดการสำนักงาน
หมวด 4 การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเป้าหมาย
- กำหนดประเภทและขอบเขตของธุรกิจที่จะได้รับอนุญาต
- กำหนดคุณลักษณะของนิติบุคคลที่ประสงค์จะยื่นคำขอประกอบธุรกิจ
หมวด 5 การส่งเสริมสิทธิประโยชน์
- กำหนดสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะได้รับหากมาจัดตั้งธุรกิจภายใต้ Financial Hub
หมวด 6 การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจภายใต้การส่งเสริม
- กำหนดแนวทางในการกำกับดูแลธุรกิจภายใต้ Financial Hub ให้ครอบคลุมแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจด้านการเงินในปัจจุบัน ทั้งธุรกิจสถาบันการเงิน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจประกันภัย
หมวด 7 พนักงานเจ้าหน้าที่
- กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสามารถตรวจสอบกิจการของผู้ประกอบธุรกิจได้
หมวด 8 และ 9 มาตรการปรับเป็นพินัย และโทษทางอาญา
- กำหนดโทษในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่กำหนด