×

เวทีสานพลังขับเคลื่อนการจัดการศึกษาฯ เผย 3 ปัญหาฉุดรั้ง-ปิดกั้นพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

โดย THE STANDARD TEAM
06.10.2020
  • LOADING...

วันนี้ (6 ตุลาคม) โครงการสร้างเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อส่งเสริมสุขภาวะของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเวทีสานพลังขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมสุขภาวะของเด็กที่มีความต้องการพิเศษผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้ปกครอง และสถานศึกษา รวมทั้งเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น เข้ามาร่วมกันดูแลและพัฒนาทักษะชีวิต เตรียมความพร้อมการใช้ชีวิตในวัยผู้ใหญ่ และการใช้ชีวิตในชุมชนและสังคมอย่างมีคุณค่า ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา ซึ่งจากการสังเคราะห์รูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็ก ที่มีความต้องการพิเศษโดยส่วนร่วมของชุมชน พบว่าความต้องการพิเศษหรือความพิการแต่ละประเภท จำเป็นต้องมีวิธีการจัดการศึกษาที่แตกต่างกัน

 

โดย นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า ด้วยจำนวนเด็กที่มีความต้องการพิเศษรวมทั้งประเทศ ที่มีมากกว่า 100,000 คน จึงต้องมีการประเมินปัญหาที่เกิดขึ้น ผ่านเครือข่ายทั้งคนในพื้นที่ และนักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อนำไปสร้างองค์ความรู้ใหม่ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย และที่สำคัญต้องมีการดำเนินการอย่างมุ่งมั่นและต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการขยายตัวของโครงการ อันจะช่วยให้ครอบครัวที่มีเด็กพิเศษ สามารถพลิกฟื้นกลับมามีชีวิตที่ดีอีกครั้ง

 

ทางด้าน ดร.พลรพี ทุมมาพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ได้กล่าวว่า ผลจากการดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2561-2563 นำร่อง 3 พื้นที่ทั่วประเทศ ประกอบด้วย ภาคเหนือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ภาคกลาง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ในกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษในวัยเรียน ที่สามารถเข้าเรียนรวมกับเด็กปกติได้ ประกอบด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่ 

 

  1. เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา 
  2. เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ 
  3. เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมและอารมณ์ 
  4. เด็กออทิสติก เป็นกลุ่มที่พบมากในสถานศึกษาและชุมชนทั่วไป รวมทั้งสิ้น 60 คน พบปัญหาสำคัญ 3 ด้าน ที่เด็กที่มีความต้องการพิเศษต้องเผชิญในชีวิต ได้แก่

 

4.1 ด้านการคัดกรอง ปัจจุบันพบว่าเด็กที่มีความต้องการพิเศษจำนวนมาก ไม่ได้รับการคัดกรอง เนื่องจากมีนักจิตวิทยาไม่เพียงพอ ทำให้พัฒนาการของเด็กที่มีความต้องการพิเศษไม่ก้าวหน้าสวนทางกับอายุที่เพิ่มมากขึ้น นักเรียนจึงถูกผลักให้ออกจากระบบการศึกษา เพราะอายุเกินและหลุดระบบการศึกษาในที่สุด

 

4.2 ด้านความรู้เกี่ยวกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษของครูในสถานศึกษา เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านการฝึกอบรม ประกอบการกำหนดมาตรฐานผลการเรียนของนักเรียนปกติ ทำให้ครูต้องให้ความสำคัญกับเด็กปกติก่อน ไม่มีเวลาในการจัดทำแผนการเรียนเฉพาะรายบุคคล (IEP) รวมถึงขาดทักษะเรื่องการคัดกรองนักเรียน ทำให้นักเรียนไม่ได้รับการจัดการเรียนการสอนที่ถูกต้อง

 

4.3 ด้านการดูแลลูกกลุ่มที่เป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษของผู้ปกครอง ส่วนใหญ่พ่อแม่และผู้ปกครองจะใช้วิธีการเลี้ยงตามวิถีชาวบ้าน โดยมีความเชื่อว่าการมีลูกเป็นเด็กพิเศษคือความโชคร้าย และการลงโทษจากบาปกรรม ความคิดดังกล่าวทำให้พ่อแม่ไม่พยายามฝึกฝนพัฒนาทักษะ

 

“ผลจากการดำเนินโครงการพบความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ คือเกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือ มีการรับฟังเสียงและความต้องการของเด็กที่มีความต้องการพิเศษมากขึ้น ขณะเดียวกันในแง่ของมุมมองและทัศนคติของชุมชน หรือสังคมในพื้นที่ที่มีต่อเด็กก็เป็นไปในเชิงบวก หรือยอมรับในคุณค่าและความสามารถมากขึ้นด้วย ซึ่งในระยะต่อไปสถานศึกษาและชุมชน จะขยายผลการดำเนินงานให้ครอบคลุม ไปยังเด็กในสถานศึกษา หรือพื้นที่เดียวกันโดยไม่แบ่งแยก” ดร.พลรพี กล่าว

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising